รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 2 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2009 10:45 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,984.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 152.8 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 122.6 และ 38.0 พันล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ในปี 53-55 ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 58.1 ของ GDP ณ สิ้นปี 55 และคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 ภายในปี 61

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี เป็นการหดตัวเท่ากับเมื่อเดือนที่ผ่านมา และนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 สาเหตุจากฐานในการคำนวณที่สูงในปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ราคาผักและผลไม้ขยายตัวร้อยละ 8.2 เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตกชุกทำให้ผักบางชนิดได้รับความเสียหาย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสารทจีนทำให้มีความต้องการมากขึ้น 2) ราคาข้าวขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปียังไม่ออกสู่ตลาด ผลผลิตข้าวในตลาดจึงลดลง อย่างไรก็ดี ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ 2.9 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ย. 52 หดร้อยละ -0.1 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -12.4 ต่อปีส่งผลให้ไตรมาส 3 ของปี 52 หดตัวร้อยละ -11.9 ต่อปี ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน (ธ.ค.51 — ก.ย.52) โดยสาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดลงร้อยละ -27.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในหมวดของเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กฉาก และเหล็กตัวซี สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตหดตัวลงร้อยละ -9.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในส่วนของพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีต และเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

ยอดจำ หน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศเดือนส.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 11.9 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับผู้ประกอบการเริ่มมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ปริมาณยอดจำ หน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะดังกล่าว

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค.52 เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลการค้าที่เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามมูลค่านำเข้าที่ลดลงมากกว่ามูลค่าส่งออก ขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาคขาดดุลที่ -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุจากมีการส่งคืนผลประโยชน์จากการลงทุนของชาวต่างชาติ และการท่องเที่ยวที่มีรายรับสุทธิลดลง ทั้งนี้ 8 เดือนแรกปี 52 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุล 14.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐและดุลบริการเกินดุลเล็กน้อยที่ 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือนส.ค. 52 ขยายตัวลดลง สถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน) ให้สินเชื่อภาคเอกชนในเดือน ส.ค. 52 ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี เป็นการชะลอลงในสินเชื่อภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,495.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 8,477.1 พันล้านบาท ในด้านเงินฝากขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเตรียมรองรับการขยายสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อจูงใจผู้ฝากเงิน โดยในเดือนส.ค. 52 มีเงินฝากจำนวน 9,413.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9,278.5 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคในสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินยูโรและปอนด์สเตอลิงค์ที่อ่อนค่าลง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าตามความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนในสกุลเงินและตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดยในสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในตลาดได้แก่ (1) การปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ในปี 52 จากเดิมที่คากว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปีมาเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี ในขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปี 53 จากที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปีมาเป็นร้อยละ 3.1 ต่อปี พร้อมทั้งปรับลดประมาณการหนี้เสีย (Asset Write down) ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินลงจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์และสินค้าโภคภัณฑ์ตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและ (3) การคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่งจึงลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

ด้านค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 1.1 จากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ตัวเลขอัตราว่างงานของยุโรป (EZ Unemployment rate) ในเดือนสิงหาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.6 ของกำลังแรงงานรวมประกอบกับมีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) วิตกและเตรียมตัวที่จะหารือถึงการแข็งค่าของค่าเงินยูโรในช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากที่ดัชนีภาคการผลิต (CIPS/Markit Mfg PMI) ในเดือนกันยายนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาทีระดับ 49.7 มาอยู่ที่ระดับ 49.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงและสวนกับที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 50.3

ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะค่าเงินวอนและค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันซึ่งสอดคล้องกับแรง ไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีและไต้หวันตามลำ ดับ ในขณะที่ค่าเงินเปโซแข็งค่าขึ้นหลังจากที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 4 ต่อปีในการประชุมในวันที่ 2 ต.ค. นี้

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.21 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนขณะที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับต้นเดือน ก.ย. และยังคงแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคอื่น ๆ ยกเว้นรูเปียห์อินโดนิเซียและวอนเกาหลีนับจากต้นปี

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 14 เดือน โดยแตะระดับ 33.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบกับต้นเดือนกันยายนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ยกเว้นค่าเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการเกินดุลการค้าจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และแรงเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีมูลค่ารวมสุทธิถึง 5,400 ล้านบาทในสัปดาห์นี้

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 2 ต.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.39 แต่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.09

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.3) หยวน(ร้อยละ 3.6) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 3.6) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 3.6) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.6) เยน (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.9) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -8.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -4.9) วอนเกาหลี (ร้อยละ -3.7) และยูโร (ร้อยละ -0.2)ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 25 ก.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 146.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนักอย่างไรก็ตาม เมื่อวัดจากการเพิ่มขึ้นของ Gross และ Forward Obligation เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า จะพบว่า เพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้ามาก บ่งชี้ว่าธปท. เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในระดับที่น้อยลง นอกจากนี้ ปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เห็นได้จากการเกินดุลในบัญชีเดินสะพัดที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. และเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องแต่ในระดับที่น้อยลงที่ 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากการที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินที่น้อยลงประกอบกับยังคงมีการไหลข้าวของเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผลทำให้ค่าเงินบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25ก.ย.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.5 (ตัวเลขปรับปรุง)หลังจากปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวลดลงเล็กน้อยของดัชนีการจ้างงานและดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจบ้าง หลังจากที่ตัวเลขอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 26 ปีในเดือนส.ค.ที่ร้อยละ 9.7 ของกำลังแรงงานรวม

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM Mfg PMI) เดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 52.6 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 โดยดัชนียอดคำสั่งสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิตมีการขยายตัว ในขณะที่การจ้างงาน สินค้าคงคลัง และความเร็วของการส่งมอบสินค้ามีการหดตัวลง อนึ่งตัวเลขดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้อีกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน (Economic Sentiment) เดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 82.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 80.8 จากการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นภาคบริการและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.0 3.0 และ 4.0 จุดตามลำดับ สะท้อนว่าทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนเพิ่มขึ้น

ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซน (Mfg PMI) เดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 49.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.2 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ที่แบ่งแยกการหดตัวและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมออกจากกัน แม้ว่าดัชนีผลผลิตและดัชนีคำสั่งซื้อจะปรับตัวดีขึ้น แต่มีการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมในบางประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญในกลุ่มประเทศยูโรโซน

ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (Mfg PMI) เดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 54.5 (ตัวเลขปรับฤดูกาล) สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และสูงกว่าระดับที่ 50 บ่งชี้การขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อีกทั้งดัชนีคำสั่งซื้อภาคส่งออก ที่ปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนก.ย 52 ที่รวบรวมโดยทางการจีนอยู่ที่ระดับ 54.3 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.0 ในขณะที่ดัชนีที่รวบรวมโดยบริษัท HSBC อยู่ที่ระดับ 55.0 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าโดยดัชนีที่มากกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Tankan: Big Manufacturers) ไตรมาส 3 ปี 52 อยู่ที่ระดับ -33 หดตัวลดน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ -48 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำ สุดในไตรมาสแรกของปี 52 ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังคงปรับลดแผนการลงทุนเนื่องจากยังไม่แน่ใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ เดือนก.ย. 52 ปรับตัวดีขึ้นเหนือความคาดหมายโดยหดตัวเหลือเพียงร้อยละ -6.6 ต่อปี จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -20.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปประเทศจีน และสหรัฐฯ ที่อุปสงค์เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -25.1 ต่อปีจากร้อยละ -32.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลถึง 5.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซีย เดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี ด้านคู่ค้า การส่งออกสินค้าหักเชื้อเพลิงไปยังจีนและยุโรปขยายตัวร้อยละ 19.7 และ 3.0 ต่อปีขณะที่ตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ -14.7 และ -18.6 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -24.6 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -32.5 ต่อปี ทำให้เกินดุลการค้า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขยอดค้าปลีกของออสเตรเลีย เดือนส.ค. 52 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี และเมื่อพิจารณาเทียบแบบรายเดือนจะขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า จากที่เคยหดตัวร้อยละ -0.9 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคการบริโภคเอกชน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่สุดของ GDP

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ