สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มในปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 14:06 —กระทรวงการคลัง

ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไป

Cabinet Office ได้เปิดเผยว่า GDP ประจำไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากติดลบมาตลอดในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการ 1) ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน 2) ผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 3) การปรับการผลิตเพิ่มเพื่อชดเชย Stock 4) สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น และ 5) ความกังวลในระบบการเงินของโลกผ่อนคลายลง

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่า GDP ตลอดปีงบประมาณ 52 จะติดลบร้อยละ - 3.9 และคาดว่า GDP จะเป็นบวกร้อยละ 1.2 ในปี 53

1. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญล่าสุด

1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output)

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือน ส.ค. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 84.1 (ปี 2005=100) ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว กระทรวง METI ระบุว่ามีแนวโน้มว่าการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายเงินช่วยเหลือผู้บริโภคเพื่อซื้อ Eco car ส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก

1.2 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) กระทรวงมหาดไทยและการ

สื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน มิ.ย.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

1.3 การลงทุนของภาคเอกชน (Capital Spending) Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ในเดือน มิ.ย. 52 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนและการเพิ่มมากกว่าการคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8 โดยคำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็ก ในขณะที่คำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์นอกอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.3

1.4 อัตราการว่างงาน (Jobless)

อัตราการว่างงานเดือน ส.ค.52 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 เทียบกับร้อยละ 5.7 ในเดือน ก.ค.52 ลดลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน

1.5. ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ส.ค.52 ลดลงร้อยละ 2.4 อยู่ที่ 100.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าบริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น

1.6. อุปสงค์ภาครัฐ (Government Demand) ประกอบด้วย การลงทุนภาครัฐ (Public Investment) และการบริโภคภาครัฐ (Government Consumption) ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

1.7. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 4 เดือนนับ ตั้งแต่เดือน ก.พ.51 เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงทำให้ยอดการนำเข้าลดลงมากที่สุดประวัติการณ์ ส่งผลให้การเกินดุลการค้าปรับตัวดีขึ้น โดยทั้งการเกินดุลการค้าและบริการเพิ่มขึ้น ยอดการส่งออกลดลงร้อยละ37.0 และยอดการนำเข้าลดลงร้อยละ 43.8

ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล จากการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่า ในขณะการลงทุนโดยตรงลดลงเล็กน้อย

1.8 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 52 มีจำนวน 1,019.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

1.9 ราคาที่ดิน กรมสรรพากรญี่ปุ่น (National Tax Agency) ได้เปิดเผยผลการประเมินราคาที่ดินทั่วญี่ปุ่นใน 47 จังหวัด เมื่อเดือน ก.ค.52 ว่า ได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

1.10 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ผลการสำรวจของ Tankan โดย BOJ ณ ก.ย.52

พบว่าดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาวะธุรกิจโดยทั่วไป (Business Sentiment Diffusion Index: DI) ของกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมการรายใหญ่เพิ่มขึ้น 15 จุด ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้สึกว่าพ้นออกจากสถานการณ์เลวร้ายทางธุรกิจแล้ว แต่ยังห่วงว่าค่าเงินเยนที่แข็งตัวขึ้นมากจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกมีผลกำไรลดลง

2 . สถานการณ์ภาคการเงิน

2.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย ช่วงที่ผ่านมา BOJ ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.10 หลังจากที่ได้ลดลงครั้งล่าสุดในเดือน ธ.ค.51

2.2 อัตราแลกเปลี่ยน วิกฤตการเงินโลกทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นซื้อเงินเยนเพิ่ม เพื่อนำเงินกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น สถานการณ์ Yen Carry Trade ได้ลดลง ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ส่งผลอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งตัวขึ้นมาก โดย ณ 5 ต.ค.52 โดย 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 89 เยน

2.3 สถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังทำให้ Real Sector ประสบปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และ SMEs ที่เป็น Supply Chain เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจส่งออกล้มละลายมากขึ้น ราคาหลักทรัพย์ยังคงปรับตัวลดลง บริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำ ขาดทุนอย่างหนักนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆของญี่ปุ่นมีผลประกอบการขาดทุน โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 (31 มี.ค.52) ที่สำคัญ อาทิ 1) Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ขาดทุน 260 พันล้านเยน ขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.48 2) Mizuho Financial Group Inc. ขนาดใหญ่อันดับ 2 ขาดทุน 588.8 พันล้านเยน เนื่องจาก Mizuho ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ Merrill Lynch ของสหรัฐฯ เร็วเกินไปทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น และได้ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 800 พันล้านเยนในปีนี้ 3) Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ขาดทุน 370.5 พันล้านเยน อย่างไรก็ตาม ณ สิ้น มิ.ย.52 เริ่มมีผลกำไรแล้ว 4) Nomura Holdings บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดขาดทุน 700 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดทุนมากที่สุดในประวัติการณ์ และมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดาสถาบันการเงินญี่ปุ่น 5) Norinchukin Bank ธนาคารกลางสหกรณ์ที่เกิดจากการร่วมทุนของสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตร สหกรณ์เพื่อการประมง สหกรณ์ป่าไม้ ซึ่งรับฝากเงินจากสหกรณ์ดังกล่าวทั่วประเทศและนำไปบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่สมาชิก ได้ขาดทุน 620 พันล้านเยน ขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 นอกจากนี้ มีธนาคารขนาดเล็กอีกหลายรายมีผลประกอบการขาดทุนจนต้องขอใช้เงินเพิ่มทุนรัฐบาล

ผลจากวิกฤตการเงินได้เปลี่ยน Financial Landscape ในญี่ปุ่น สถาบันการเงินขนาดเล็กควบรวมกิจการกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่ธนาคารขนาดใหญ่ ถึงแม้ขาดทุนแต่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่งพอที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างประเทศ อาทิ 1) Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. และ Diawa Securities Group บริษัทในเครือ เข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ Nikko Cordial ในเครือ Citibank สหรัฐฯ 2) Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.เข้าซื้อหุ้นสามัญของธนาคารสหรัฐฯ Morgan Stanley จำนวนมูลค่า 705 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากได้ซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ในเดือน ต.ค. 51 ที่ผ่านมามูลค่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 3) ธนาคาร Shinsei และธนาคาร Aozora ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 7 และ 8 ตามลำดับ ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันทำให้กลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของญี่ปุ่น หลังจากทั้ง 2 ธนาคารขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จนต้องขอใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มทุนฟื้นฟูกิจการ (Shinsei เดิมชื่อ Long-Term Credit Bank of Japan และ Aozora เดิมชื่อ Nippon Credit Bank ทั้ง 2 ธนาคารได้ปิดกิจการลงในช่วงวิกฤตการเงินปี 2541) 4) บริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities ในเครือ Mizuho Financial Group Inc. ได้ประกาศรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์ Shinkou Securities และ 5) AIG โตเกียว ขายอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ย่านธุรกิจการเงินใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อใช้หนี้ของสำนักงานใหญ่ ภายหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้กู้เงินจำนวน 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูกิจการในเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทประกันภัยญี่ปุ่น Nippon Insurance ได้เข้าซื้อ

2.4 สัดส่วน NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ Financial Services Agency: FSA

หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 11 แห่ง ณ มี.ค. 52 อยู่ที่ระดับร้อยละ1.66 (เพิ่มจาก 1.52 ณ ก.ย.51) สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) อยู่ที่ร้อยละ 12.42 (สูงกว่าร้อยละ 11.73 ณ ก.ย.51) และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ร้อยละ 8

2.5 สถานการณ์ตลาดทุน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ได้ทำให้ดัชนีมูลค่าหลักทรัพย์เฉลี่ยที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange: TSE) เมื่อวันที่ 10 มี.ค 52 ลดลงเหลือ 7,054.98 ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี เปรียบเทียบกับ เมื่อเดือน มี.ค. 43 ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 20,081 เยน โดย ณ 6 ต.ค.52 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 9 -10,000 เยน

ผลของราคาหลักทรัพย์ลดลงได้ทำให้เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลงและระมัดระวังการปล่อยกู้แก่เอกชนและมีบริษัทล้มละลายมากขึ้น ทั้งนี้ TSE ได้เปิดเผยว่าครึ่งปีแรกของปีนี้ มีบริษัทญี่ปุ่น 38 บริษัทถอนชื่อออกจากการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ เป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2499 เป็นผลมาจากการล้มละลายของบริษัทต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งมีการควบรวมกิจการ (M&As) กันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange Group Inc.) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นจำนวนทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้เลื่อนแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจากเดิมกำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ เป็นภายหลังปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) มีขนาดเล็ก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เอกชนนิยมระดมเงินจากธนาคารพาณิชย์แทน ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จากการที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะที่อยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่มีอยู่ในตลาดและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น เพราะต้องระดมเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่หุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ปัจจุบันมีน้อยมาก เนื่องจากฐานะการเงินของภาคเอกชนอ่อนแอ การขยายการลงทุนลดลง การออกหุ้นกู้ใหม่จึงมีน้อย

3. นโยบายการคลัง

3.1 ภาระหนี้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 170 ของ GDP นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่มีคนแก่มากขึ้น (Aging Economy) ปัจจุบันประชากรร้อยละ 21 อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่วัยทำงานมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่คนมีอายุยืนขึ้น ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและประกันสังคมมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงฐานะการคลัง โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงและมีเป้าหมายจัดทำงบประมาณเกินดุลใน ปี 2554 จากที่ขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมาหลายปี รวมทั้งได้กำหนดเพดานการออกพันธบัตรรัฐบาล สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีละไม่เกิน 30 ล้านล้านเยน แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ในขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าเพดานที่กำหนดไว้เดิม และเลื่อนเป้าหมายการใช้วินัยการคลังต่างๆ ดังกล่าวออกไป

3.2 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ซึ่งได้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.52 วันเริ่มต้นงบประมาณประจำปีของญี่ปุ่น รายละเอียดตามแผนภูมิ ที่ 1

3.3 สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำ ซึ่งคาดว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น ภาวะหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมาชดเชยรายได้ที่เก็บจากภาษีที่ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยรายได้จากการเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2551 น้อยที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนร่างงบประมาณประจำปี 2553 ที่รัฐบาลพรรค LDP เดิมจัดทำไว้ รวมทั้งรื้องบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมเพื่อจัดทำใหม่ โดยตั้งเป้าว่าจะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และมุ่งอุดหนุนรายได้แก่ภาคครัวเรือนแทน

4. นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

รัฐบาลได้ประกาศชะลอการแปรรูปธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan (DBJ) และธนาคารเพื่อ SMEs (Shoko Chukin Bank) โดยจะขยายเวลาออกไป 3 ปีครึ่ง และได้ตัดสินใจอีกครั้งว่าจำเป็นที่จะแปรรูปสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเป็นบริษัทเอกชนหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ภายใต้แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2551 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Koizumi ภายใต้นโยบาย Small Government ให้เอกชนดำเนินการแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล นับตั้งแต่แปรรูป Japan Post และได้มีการจัดตั้ง Japan Post Holding Company ที่มีรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด มีบริษัทย่อยๆ 4 บริษัทได้แก่ 1) Postal Network Co. 2) Japan Post Service Co. 3) Japan Post Bank Co. และ 4) Japan Post Insurance Co. เพื่อทยอยขายหุ้นของบริษัทย่อยดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553 และเป็นเอกชนทั้งหมดภายในปี 2560 ซึ่งปัจจุบันการแปรรูปบริษัทย่อย 4 บริษัทดังกล่าวได้เลื่อนออกไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงการยุบ การควบรวม การแปรรูป เพื่อลดการสนับสนุนจากภาครัฐและปรับปรุงฐานะการคลังให้ดีขึ้น กล่าวคือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งได้แก่ 1) JBIC (ส่วนงาน EXIM Bank) 2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม (National Life Finance Corporation) 3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises) 4) และบรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation) ได้ควบรวมกันและเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งใหม่ชื่อ Japan Finance Corporation (JFC) โดยเริ่มดำเนินการแล้ว นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 51 ที่ผ่านมา และบรรษัทเงินทุนเพื่อพัฒนาเกาะ Okinawa (Okinawa Development Finance Corporation) จะต้องควบรวมกับ 4 สถาบันการเงินที่กล่าวข้างต้นภายในปีงบประมาณ 2555 และให้แปรรูป DBJ และ Shoko Chukin Bank เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.51 จนเป็นเอกชนสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันแผนการดังกล่าวได้เลื่อนออกไปเช่นกัน

5. มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

รัฐบาลภายใต้การนำนายกรัฐมนตรี นาย Yukio Hatoyama หัวหน้าพรรค Democratic Party of Japan: DPJ ฝ่ายค้านเดิม ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

5.1 จะใช้นโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น โดยเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ เน้นการเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน โดยให้การช่วยเหลือโดยตรง เช่นให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนในการเลี้ยงบุตร ปรับปรุงระบบประกันสังคมให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญคนละ 70,000 เยนต่อเดือนเป็นอย่าง

5.2 ในด้านการกำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ จะลดความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและจะเพิ่มบทบาทของนักการเมืองในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น โดยจะตั้งกระทรวงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งรัฐมนตรีดูแลโดยเฉพาะ

5.3 จะเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการเกษตร พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อากาศยาน (Aerospace Development) ให้เป็นอุตสาหกรรมระดับโลก

5.4 รักษาระดับการเก็บภาษีบริโภค (Consumption Tax) ที่ปัจจุบันเก็บที่อัตราร้อยละ 5 เป็นเวลา 4 ปีนับแต่จากนี้ (ถึงปี 2556) โดยจะเน้นลดการใช้จ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์แทน ในการปรับปรุงฐานะการคลัง

5.5 จะจัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงระบบภาษีทั้งระบบ แทนGovernment Tax Commission เดิม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน และผู้เกี่ยวข้องทางด้านภาษีจากกระทรวงต่างๆ จำนวน 20 คนมาร่วมเป็นคณะกรรมการ และจะยกเลิก Tax System Research Commission) ปัจจุบัน โดยคำขอปรับปรุงภาษีของแต่ละกระทรวงจะถูกส่งไปรวบรวมที่เลขานุการรัฐสภาที่รับผิดชอบด้านภาษี ก่อนส่งไปให้คณะกรรมการปรับปรุงภาษีที่จัดตั้งใหม่พิจารณา

5.6 เน้นความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในเอเซีย โดยเฉพาะจีน แทนสหรัฐฯในอดีต

5.7 ห้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยอาจจะนำระบบ Cap and Trade เหมือนในสหภาพยุโรปมาบังคับเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นใหม่ว่า ภายในปี 2563 ญี่ปุ่นจะลดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2533 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงมาก

6. สรุปและแนวโน้ม

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายที่สุดแล้ว แต่รัฐบาลใหม่กำลังเผชิญปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ดังนี้

1) ปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบางเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปยังอ่อนแอมาก ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นมาก ในขณะที่รัฐบาลไม่มีนโยบายเข้าแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอนสูง ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเครื่องมือทางการเงินการคลัง-อัตราดอกเบี้ยต่ำมากที่ร้อยละ 0.1 ในขณะที่หนี้สาธารณะสูงมาก เกือบ 2 เท่าของ GDP

2) ประชากรเป็น Aging Society ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสวัดิการมากขึ้น และกำลังเป็นปัญหาว่าจะนำเงินจากไหนมาเป็นค่าใช้จ่าย

3) ปัญหาเงินฝืดที่เกิดจากดัชนีผู้บริโภคลดลงติดต่อกันมาหลายเดือน โดยลดลงร้อยละ -2.4 ในเดือน ส.ค.52

4) ปัญหาอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นที่ร้อยละ 5.5 ในเดือน ส.ค.52 ถึงแม้จะลดลงจากร้อยละ 5.7 ในเดือน ก.ค.52

5) ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลใหม่ ได้แก่

5.1 การจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกมาตรการให้บริษัทเอกชนจ้างพนักงานนอกเวลา ซึ่งขัดแย้งกับสถานะการจ้างงานในปัจจุบันที่มีการว่างงานสูงอยู่แล้ว

5.2 การยกเลิกค่าทางด่วน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการอุดหนุนและเพิ่มการสนับสนุนภาคครัวเรือนต่างๆ ที่ประกาศมา ทำให้เกิดความสงสัยว่ารัฐบาลจะนำเงินรายได้จากแหล่งใดมาเป็นค่าใช้จ่าย ภายใต้สถานการณ์ที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วมาก

5.3 การประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นที่สูงมากถึงร้อยละ 25 กำลังได้รับการต่อต้านจากภาคเอกชนโดยเฉพาะสมาพันธ์อุตสาหกรรมญี่ปุ่น เพราะกำลังเป็นภาระต้นทุนของเอกชนและภาคครัวเรือน ในระยะต่อไปรัฐบาลอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากเอกชน

5.4 เช่นเดียวกับการประกาศสนับสนุนให้นักการเมืองมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนระบบราชการ ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันและไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ

5.5 เรื่องอื่นๆ เช่น เปลี่ยนนโยบายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ การสั่งรื้องบประมาณประจำปี 2553 ที่ LDP ได้เตรียมไว้ ล้วนเป็นประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายใหม่ที่เน้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในเอเซีย น่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทย รวมทั้งภูมิภาคเอเซีย

โดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังประจำ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ