ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2010 11:23 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2552 ปรับเพิ่มขึ้น 44.5 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.4 หลังจากปรับเพิ่มขึ้น 61.1 พันล้านเหรียญสรอ. SINV ร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยระดับรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรายได้ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และร้อยละ 0.4 ในเดือนธันวาคมและพฤศจิกายน 2552 ตามลำดับ

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมนั้นปรับเพิ่มขึ้น 45.9 พันล้านเหรียยสรอ.หรือร้อยละ 0.4 ในเดือนธันวาคม หลังจากปรับเพิ่มขึ้น 60.7 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income \ Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.3 ที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures \ Real PCE) ขยายตัวร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 0.2 หลังจากขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ในเดือนพฤศจิกายน มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ชะลอตัวร้อยละ 0.8 หลังจากขยายตัวร้อยละ 1.0 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการขยายตัวร้อยละ 0.4 หลังจากที่ชะลอตัวเพียงเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน 2552

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยับสูงขึ้นร้อยละ 0.1 และร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคมและเดือนพฤศจิกายน 2552 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 หลังจากเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในเดือนก่อนหน้า

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในเดือนธันวาคม 2552

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

                              Average Growth      November    December
                              last 12 months        2009        2009
          Personal Income           0.0%            0.5%        0.4%
          Real DPI                  0.1%            0.3%        0.3%
          Real PCE                  0.1%            0.4%        0.1%
          PCE Price                 0.2%            0.3%        0.1%
          Personal Saving Rate      4.6%            4.5%        4.8%

ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

รายได้ส่วนบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ด้วยอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทีร้อยละ 0.3 ประกอบกับปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นั้น นับเป็นปัจจัยบวกที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินประกันสังคมของภาครัฐ นับเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการขยายตัวของระดับ รายได้ส่วนบุคคลในเดือนธันวาคม ในขณะที่รายได้และเงินเดือนภาคเอกชน ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 จะเห็นได้ว่าปัญหาการว่างงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนต่อไป

ถึงแม้ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายที่ร้อยละ 0.2 นั้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.3 เล็กน้อย ทั้งนี้อัตราการขยายตัวที่ระดับต่ำประกอบกับระดับการออมที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังของผู้บริโภคในการใช้จ่ายภายใต้ภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวและอัตราการว่างงานที่ระดับสูง ซึ่งกระทบต่อความมั่งคั่งของครัวเรือน (Household Wealth) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อนึ่ง ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2552 ชะลอตัวร้อยละ 0.4 จากปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นอัตราการชะลอตัวที่สูงที่สุดในรอบ 71 ปี ประสิทธิภาพของมาตรการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและมาตรการรับมือกับปัญหาว่างงานจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ