รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 16, 2010 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ก.พ. 2553

Summary:

1. เอสเอ็มอีญี่ปุ่นลุยไทยกระหน่ำยื่นขอบีโอไอ

2. AREA เผยผลสำรวจอสังหาริมทรัพย์เดือน ม.ค. 53 รวมมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

3. โกลด์แมนแซคส์คาดปักกิ่งปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5

Highlight:
1. เอสเอ็มอีญี่ปุ่นลุยไทยกระหน่ำยื่นขอบีโอไอ
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผย จำนวนการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เดือน ม.ค. 53 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติยื่นการขอลงทุนเข้ามาทั้งหมด 61 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอยู่ 46 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 4.83 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 381 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจลงทุนในไทยมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น 31 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท โดยกิจการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่นักลงทุนต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 52 ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 4 ปี 52 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี โดยการที่นักลงทุนต่างชาติมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก อุตสาหกรรม และการบริการของไทย ให้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และยังทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 53 สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 ถึง 9.0 ต่อปี) ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 52
2. AREA เผยผลสำรวจอสังหาริมทรัพย์เดือน ม.ค. 53 รวมมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
  • ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เปิดเผยว่าจากการสำรวจตลาดอสังหาฯ เดือนม.ค. 53 พบว่า มีโครงการเกิดใหม่ จำนวน 24 โครงการ โดยมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 12,687 ล้านบาท และคิดเป็นจำนวน 6,604 หน่วย แบ่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ มีจำนวนมากถึง 2,589 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 39.2) รองลงมาคือ อาคารชุดมีจำนวน 2,522 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 38.2) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยวมีจำนวน 1,335 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 20.2) ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.53 ที่อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 21 เดือน ภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ เดือนม.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่า ปี 53 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ ธ.ค. 52)
3. โกลด์แมนแซคส์คาดปักกิ่งปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5
  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนแซคส์ให้สัมภาษณ์ว่า มีแนวโน้มว่าจีนอาจเตรียมปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5 เพื่อชะลอเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าการปรับค่าครั้งนี้จะเป็นการปรับแบบรวดเดียว ก่อนจะวางกรอบการซื้อขายหยวนให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น หรืออิงกับตะกร้าเงินหลายส่วนหลายสกุลมากกว่าเดิม ทั้งนี้ โกลด์แมนแซคส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 12-14 ต่อปี ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นน่าจะมีเป้าหมายเพื่อชะลอการส่งออกสุทธิของจีน ซึ่งที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 ต่อปี ในเดือน ม.ค.53 โดยการชะลอตัวของการส่งออก ย่อมส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 40 ของ GDP จีน แต่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่แท้จริงคือการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น การป้องกันเศรษฐกิจฟองสบู่จึงควรมุ่งเน้นไปยังการชะลอการบริโภค อย่างไรก็ตาม ในช่วงผ่านมาสินเชื่อส่วนบุคคลของจีนขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนม.ค.53 ธนาคารพาณิชย์จีนได้ปล่อยสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 19 ของเป้าหมายทั้งปี ตลอดจนราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน จึงมีแนวโน้มว่า ทางการจีนอาจควบคุมการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ อนึ่ง สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี (หรือช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.7-9.7 ต่อปี) คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ