5 แนวโน้มสำคัญของ FDI โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 16, 2010 12:18 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

แนวโน้มสำคัญ 5 ประการของ FDI (Foreign Direct Investment: FDI) กำลังมีบทบาทสำคัญต่อประเทศต่างๆ และทิศทางการกำหนดนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

1. การชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงและเพิ่มขึ้นของ Divestment ในปี 2009 FDI inflow ของโลกชะลอตัวลง โดยลดลงกว่าร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับกับปี 2008 ขณะที่ Divestment (การไหลย้อนกลับของการลงทุนโดยการดึงเงินลงทุนกลับสู่บริษัทแม่ในรูปแบบต่าง ๆ) เพิ่มขึ้น และระดับการลงทุนโดยตรงของโลกจะต้องใช้เวลาอีก 4- 5 ปีกว่าจะมีระดับเท่ากับปี 2007 ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

2. การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันการลงทุนในบางธุรกิจ พบว่ามีการใช้นโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อ FDI ในหลายธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ และธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจนถึงมีการกีดกันคือ การลงทุนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds : SWFs) และรัฐวิสาหกิจต่างชาติ

3. การเพิ่มขึ้นของความตกลงระหว่างประเทศ พบว่าจำนวนความตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในระดับทวิภาคี(Bilateral investment treaties : BITs) และอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double taxation treaties : DTTs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

4. การลดลงของความซับซ้อนของระบบภาษีและอัตราภาษี แนวโน้มในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังได้พยายามลดความซับซ้อนในการจัดเก็บภาษีโดยมีการเก็บภาษีอัตราเดียว (Flat tax systems) แทนมากขึ้นอีกด้วย

5. การเพิ่มขึ้นของความท้าทายต่อนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ ไฟฟ้าและคมนาคมก่อให้เกิดความท้าทายต่อการกำหนดนโยบายของรัฐเพื่อรองรับเงินทุนเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับข้อเสนอแนะนโยบายสำหรับประเทศไทย เพื่อรองรับแนวโน้ม FDI ประกอบด้วย

1) การใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเชิงรุก

2) การจัดทำนโยบายที่ชัดเจนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ

3) การส่งเสริมการทำข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ

4) การลดความซับซ้อนของระบบภาษี และอัตราภาษีอยู่ในระดับที่เหมาะสม

5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

แนวโน้มสำคัญ 5 ประการของ FDI (Foreign Direct Investment: FDI) ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และทิศทางการกำหนดนโยบายของประเทศผู้รับทุนอย่างมีนัยสำคัญ กำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านการลงทุนและส่งผลต่อเนื่องในอนาคต ได้แก่

1. การชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงและเพิ่มขึ้นของ Divestment

จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2008- 2009 ส่งผลทำให้ FDI ของโลกชะลอตัวลง โดยปี 2008 FDI inflow ลดลงกว่าร้อยละ 14 และปี 2009 ลดลงกว่าร้อยละ 39 ผลกระทบดังกล่าวจะเห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การซื้อขายควบรวมกิจการ (Cross-border M&A) มีมูลค่าลดลง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2008 Cross-border M&A มูลค่าลดลงถึงร้อยละ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2007 ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ของ Cross-border M&As ที่มีการลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2008 มีจำนวนความตกลงลดลงร้อยละ 21 ด้วยมูลค่าที่ลดลงถึงร้อยละ 31 เช่นเดียวกับกองทุนรวมขนาดใหญ่ (Private equity funds)ในปี 2008 มีการลงทุนลดลงร้อยละ 38 มาอยู่ที่ 291 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมในปี 2007 มีมูลค่าการลงทุนถึง 470 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากข้อมูลล่าสุดของ UNCTAD พบว่าในปี 2009 การลงทุนในรูปของ Cross-border M&As ลดลงจากปี 2008 ถึงร้อยละ 66 หรือลดลงจาก 707 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการลดลงของ Cross-border M&As นี้ ส่งผลต่อการลดลงของ FDI flow อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก Crossborder M&As และ FDI inflow นั้นมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่า FDI inflow จะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2010 และปี 2011 ที่ร้อยละ 10 และ 15 ตามลำดับ และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับเดียวกับปี 2007 ภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้

นอกจากนั้น การลดลงของ Cross-border M&As ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของ Divestment (การไหลย้อนกลับของการลงทุนในรูปของการส่งกำไรกลับคืน กำไรที่นำกลับมาลงทุนใหม่ การส่งกลับเงินกู้เพื่อชำระหนี้ของบริษัทลูกแก่บริษัทแม่ และการปรับโครงสร้าง เป็นต้น) โดยนับตั้งแต่กลางปี 2008 พบว่ามีมูลค่า Divestment รวมกันแล้วสูงกว่ามูลค่า FDI ที่ไหลเข้าสู่ประเทศผู้รับทุน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจาก FDI Flow ติดลบในดุลการชำระเงินของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยปกติแล้ว Divestment เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยปกตินัก เนื่องจากเป็นภาวะที่บริษัทข้ามชาติมีความต้องการสูงในการพยายามตัดต้นทุนการบริหารจัดการ เนื่องจากในตลาดโลกที่มีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการลดลง โดยเฉพาะในประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือประสบวิกฤต จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกิจกรรมและธุรกรรมที่ไม่ใช่หัวใจหลักของธุรกิจ และในบางกรณีเป็นการปรับโครงสร้าง อาจกล่าวได้ว่า Divestment เป็นผลมาจาก Interplay ระหว่างปัจจัยภายในและภายนอกที่มีต่อบริษัทข้ามชาติในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยบริษัทแม่มีแนวโน้มที่ จะดึงเงินจากเงินทุนต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ หรือบริษัทแม่กู้เงินจากบริษัทในเครือ หรือบริษัทในเครือชำระหนี้คืนแก่บริษัทแม่ยกตัวอย่างเช่น ในไตรมาสแรกของปี 2009 ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วน Divestment ใน FDI Outflows ทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 64 หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2008 ร้อยละ 39 ซึ่งมีทิศทางเดียวกันกับประเทศบราซิลที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 116 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 40 และประเทศฝรั่งเศสมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ19 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16 ดังนั้น แนวโน้มในระยะสั้นระหว่างช่วงวิกฤตและช่วงฟื้นตัว Divestment จะยังคงบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางของ FDI

2. การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันการลงทุนในบางธุรกิจ

จากภาวะการแข่งขันการให้สิทธิประโยชน์ของประเทศต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อว่า แต่ละประเทศจะมุ่งแต่ให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทข้ามชาติเพียงอย่างเดียวนั้น ในอีกด้านหนึ่งจากการสำรวจของ UNCTAD พบว่า นโยบายป้องกัน FDI กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายในด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทข้ามชาติได้

ในปี 2007 จำนวนกฎระเบียบของประเทศต่าง ๆ ที่มีผลต่อ FDI มีการเปลี่ยนแปลงเพียง 98 นโยบายโดยมี 24 นโยบายเป็นนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อ FDI ซึ่งเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอุตสาหกรรมสกัด (extractive industries) เช่น อุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่ ในส่วนที่มีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ(national security) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ขณะที่อีก 74 นโยบายยังคงให้การส่งเสริม FDI

การเปลี่ยนแปลงนโยบาย FDI ที่สำคัญในปัจจุบันเริ่มจากการปกป้องอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ หรือจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดในปี 2006 อุตสาหกรรมสกัดถูกจำกัดการลงทุน และมีแนวโน้มยกเลิกการลงทุนโดยเสรีในหลายประเทศมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ และการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป จึงทำให้ต้องมีการจำกัดการเป็นเจ้าของและการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ในประเทศโบลีเวีย รัฐวิสาหกิจน้ำมัน YPFB ได้เรียกคืนโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ 2 แห่งจากบริษัท Petrobras ของประเทศบราซิลยิ่งกว่านั้น รัฐบาลโบลิเวียได้ประกาศจะเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบริษัทขุดเจาะเหมืองแร่อีกด้วย

ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อ FDI มีหลายรูปแบบ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐเริ่มตระหนักและเริ่มใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ความเป็นเจ้าของของธุรกิจต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะการลงทุนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds : SWFs) และรัฐวิสาหกิจต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเปลี่ยนนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ

3. การเพิ่มขึ้นของความตกลงระหว่างประเทศ

การพัฒนานโยบายส่งเสริม FDI ในระดับระหว่างประเทศสามารถดำเนินการผ่านการทำความตกลงต่าง ๆ ทั้งในรูปทวิภาคีและพหุภาคี ในปี 2007 ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ความตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในระดับทวิภาคี (Bilateral investment treaties : BITs) และอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double taxation treaties : DTTs) รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ

ปี 2007 BITs เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 44 ความตกลง ส่งผลให้ความตกลงต่าง ๆ ที่ได้ลงนามไปทั้งสิ้นเป็น 2,608 ความตกลง และจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการทำความตกลงต่าง ๆ รวมแล้วมีทั้งหมด 179 ประเทศ โดยประเทศในเอเชียทำความตกลงมากที่สุด คือ 29 ความตกลง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่ามีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจมากขึ้น การคุ้มครองการลงทุนและการลงทุนโดยเสรีมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของความตกลงดังกล่าวมี 10 ความตกลงเป็นการทบทวนและแก้ไขความตกลงเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องที่เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สิทธิในการออกกฎหมายของประเทศผู้รับทุน และสิทธิของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น ส่วน DTTs มีความตกลงใหม่เพิ่มขึ้น 69 ความตกลง ทำให้มีความตกลงรวมทั้งสิ้น 2,730 ความตกลง โดยมี 52 ความตกลงมีประเทศพัฒนาแล้วเป็นคู่สัญญา และอีก 17 ความตกลงเป็นอนุสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเอง จะเห็นได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บภาษีซ้อน อันจะเป็นอุปสรรคในการลงทุนระหว่างประเทศ จึงพยายามเร่งทำความตกลงเพื่อลดอุปสรรคดังกล่าวลง

เนื่องจากการขาดกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ประเทศต่าง ๆ จึงได้บรรจุข้อตกลงด้านการลงทุนลงในสนธิสัญญาและความตกลงที่ทำร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและพหุพาคี เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์ในการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนในอนาคตให้มีความแน่นอน ถูกต้อง และครอบคลุมทั่วถึง เป็นหลักสากลที่ยอมรับทั่วโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีความตกลงด้านการลงทุนที่ใช้ยึดเป็นหลักสากลทั่วโลก จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ยังคงแข่งขึ้นการให้สิทธิประโยชน์รวมทั้ง การให้เงินอุดหนุนและช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แต่บริษัทข้ามชาติอยู่เสมอ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในที่สุด

4. การลดลงของความซับซ้อนของระบบภาษีและอัตราภาษี

ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุน นอกจากนั้น ได้พยายามลดความซับซ้อนในการจัดเก็บภาษีอีกด้วย จะเห็นได้จากจำนวนประเทศที่มีการเก็บภาษีอัตราเดียว (Flat tax systems) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไอซ์แลนด์มีการเก็บภาษี เงินได้นิติบุคคลลดลงตั้งแต่ปี 1980 จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 18 ในปัจจุบัน และในปี 2007 มีการเก็บภาษีอัตราเดียวร้อยละ 10 สำหรับรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าเช่า จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีการเก็บภาษีอัตราเดียว จะมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำด้วย ซึ่งนอกจากเป็นการลดความซับซ้อนของอัตราภาษีแล้ว ยังเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย

5. การเพิ่มขึ้นของความท้าทายต่อนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทข้ามชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในระหว่างปี 1990-2006 มูลค่า FDI ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 31 เท่า อยู่ที่ระดับ 786 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 199 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 29 เท่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ได้รับความสนใจในการลงทุนมากที่สุดทั่วโลก คือ ไฟฟ้าและโทรคมนาคม เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในโครงสร้างพื้นฐานกับการลงทุนโดยตรงทั้งหมดทั่วโลกพบว่า การลงทุนโดยตรงในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 10 ของการลงทุนโดยตรงทั้งหมดเมื่อเปรียบเทียบกับในปี 1990 สัดส่วนอยู่ที่ระดับเพียงร้อยละ 2

จากข้อมูลดังกล่าว การเติบโตของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยอาศัยการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมขนาดใหญ่ SWFs และบริษัทข้ามชาติ ประเทศผู้รับทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงการวางนโยบายเพื่อให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และต้องหาแนวทางในการทำให้โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงเป็นไปอย่างที่ต้องการ โดยมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งนับเป็นความท้าท้ายใหม่สำหรับประเทศผู้รับทุนที่จะต้องเตรียมมือรองรับการลงทุนในลักษณะดังกล่าว

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย
1. การใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเชิงรุก

1.1 พิจารณาส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง Super Investment Agency หรือศูนย์กลางการลงทุนในการติดต่อประสานงานกับนักลงทุนต่างชาติโดยตรง เพื่อเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลด้านการลงทุน และกฎระเบียบ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในด้านต่างๆ อย่างครบวงจร ทั้งนี้อาจทำการขยายอำนาจและบทบาทของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและการจัดตั้ง One Start Service โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ จัดตั้ง เช่น One Start Service ของกระทรวงการคลัง เป็นต้นนอกจากนี้ ควรพิจารณาขยายผลนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนในการลงทุน และเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทต่างชาติ

1.2 เร่งสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters : ROH) ให้มากขึ้นโดยให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ แก่บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้ง ROH ในประเทศ เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการ

1.3 ควรมีมาตรการช่วยเหลือบริษัทข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบริษัทในเครือที่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศ เนื่องจากในภาวะวิกฤต บริษัทแม่ในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะลดเงินลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียกคืนเงินกู้จากบริษัทลูก และการลดการลงทุน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวม FDI ของไทยลดลง ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทข้ามชาติในประเทศ เช่น การปรับโครงสร้างให้บริษัทอยู่รอด การให้กู้ยืมเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ความยืดหยุ่นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการให้สิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

2. การจัดทำนโยบายที่ชัดเจนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ

แม้ว่าประเทศไทยจะสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เหมืองแร่ ป่าไม้ และการร่วมลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ควรมีมาตรการดูแลให้ชัดเจนมากขึ้น โดยทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ควรระบุให้ชัดเจนว่าธุรกิจใดนักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจได้และไม่ได้ รวมทั้งสัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละประเภทอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความโปร่งใสและป้องกันผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง การจัดสรรทรัพยากรในประเทศ ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มนโยบาย FDI ของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ได้เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแลและจำกัดความเป็นเจ้าของของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยควรพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับกับการลงทุนประเภทดังกล่าวอย่างทันท่วงที

3. การส่งเสริมการทำข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ

ควรส่งเสริมการทำความตกลงและความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีที่ไทยไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนควรเร่งจัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อน เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำภาษีดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ และควรยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลจากการลงทุน รวมทั้งการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรส่งกลับประเทศ นอกจากนั้น ความคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในการลงทุนบางประเภทและเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศล้วนมีความจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนมากขึ้น และควรส่งเสริมความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ (ทวิภาคีและพหุภาคี) เพื่อกำหนดมาตรฐานกฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้ง การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทให้เป็นมาตรฐานสากล

4. การลดความซับซ้อนของระบบภาษี และอัตราภาษีอยู่ในระดับที่เหมาะสม

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินไดนิ้ติบุคคลของประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น ควรพิจารณาอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เนื่องจากการสำรวจพบว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาตินั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกทำเลที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติ เช่น ในกลุ่มสหภาพยุโรป North American Free Trade Area และ Association of Southeast Asian Nations เป็นตน้ รวมทั้ง สหรัฐอเมริกาที่ Tax incentives มีบทบาทอย่างมากในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการเลือกทำเลที่ตั้งจากทำเลที่มีลักษณะอื่น ๆ ใกล้เคียงกัน และการใช้ Tax incentives จะช่วยหลักเลี่ยง “First Move Risk” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ใหม่ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการลงทุนเป็นรายแรก นอกจากนั้นในปัจจุบันทิศทางการเก็บภาษีของโลกมีแนวโน้มเก็บภาษีในอัตราเดียวและอัตราภาษีอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ระบบการเก็บภาษีของไทยควรพิจารณาเก็บในอัตราเดียว เพื่อลดความซับซ้อนและความยุ่งยากของระบบภาษีไทย ทำให้นักลงทุนเข้าใจได้ง่าย และเป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีควรเป็นอัตราที่เหมาะสม กล่าวคือไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศจนเกินไป จนทำให้ประเทศสูญเสียประโยชน์ที่จะได้รับ

5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุน เนื่องจากการศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุน พบว่า การใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นักลงทุนข้ามชาติใช้ตัดสินใจในการที่จะลงทุนหรือไม่ในประเทศต่าง ๆ แต่ปัจจัยสำคัญสิ่งกว่านั้นที่นักลงทุนให้ความสำคัญนั่นคือ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความมั่นคงทางการเมือง และต้นทุนแรงงานดังนั้น รัฐควรเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน นอกจากนั้นควรเตรียมการรองรับการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทข้ามชาติ โดยทบทวนกฎระเบียบ และแก้ไขให้มีความโปร่งใส ทันสมัยและชัดเจน ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐในการดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งการใช้ technology-based investments สินค้าที่ผลิตได้จะมีลักษณะโดดเด่นและแตกต่างจากประเทศที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันต้องมีการวิจัยและพัฒนาอยู่เสมอจึงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวเนื่องจากในปัจจุบันความได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกของไทยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม ที่มีค่าแรงที่ถูกกว่าและมีแรงงานจำนวนมาก ทำให้ความโดดเด่นของแรงงานไทยถูกลดบทบาทลง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะและความชำนาญเฉพาะทางแก่แรงงานไทยเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


แท็ก Investment   NFL  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ