รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2010 10:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มี.ค. 2553

Summary:

1. ส.อ.ท.เผยเดือน ก.พ.ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ขยายตัวขึ้น

2. ราคาข้าวนาปรังปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุผลผลิตนาปรังลดลงและปํญหาภัยแล้ง

3. กรีซเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ

Highlight:
1. ส.อ.ท.เผยเดือน ก.พ.ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ขยายตัวขึ้น
  • ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ 114.5 ลดลงจาก 115.4 ในเดือน ม.ค. 53 จากยอดขายและผลประกอบที่การลดลงตามคำสั่งซื้อในประเทศ จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เดือน ก.พ. 53 ขยายตัว 66.03% และเพิ่มขึ้น 26.55% จากเดือน ม.ค. 53 โดยมูลค่าส่งออกในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 34,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69.56%
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในเดือน ก.พ. 53 จำแนกตามขนาดกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับตัวลดลง ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่อุตสาหกรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคภายในประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากสถานการทางการเมือง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่คำสั่งซื้อและยอดขายของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่วนภาคการส่งออกรถยนต์ของไทย ในเดือน ม.ค - กพ. 53 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ยุโรป อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย
2. ราคาข้าวนาปรังปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุผลผลิตนาปรังลดลงและปํญหาภัยแล้ง
  • รัฐบาลชี้แจงว่า ราคาข้าวนาปรังในช่วง 1-2 เดือนนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากที่ผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 จะเข้าสู่ตลาดในช่วงปลายเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. กอปรกับปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ในขณะที่ไทยได้รับยอดคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าข้าวนาปรังในเดือน ก.พ. ลดลงที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ -0.2 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากผลของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลดถึงร้อยละ -11.6 จากผลกระทบของปัญหาโรคระบาดเพลี้ยน้ำตาลกระโดดในข้าว นอกจากนี้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวลงที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 ต่อปี จากผลของราคาข้าวนาปรังที่ลดลงจึงส่งผลให้ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาข้าวนาปรังเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดังนั้นการที่ผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ของไทยเตรียมที่จะออกสู่ตลาดอีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย.— พ.ค.นี้ ย่อมจะเป็นโอกาสที่เกษตรกรไทยจะขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น และทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
3. กรีซเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ารัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสและเยอรมันต่างเห็นพ้องว่ากรีซควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทั้งนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบางจนทำให้ค่าของเงินยูโรอ่อนลงคิดเป็นร้อยละ 0.7 หรือปรับมาอยู่ที่ระดับ 1.3407 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์ และ 1.4233 ยูโรต่อฟรังค์สวิส ถือเป็นสัญญาณว่าสหภาพยุโรปนั้นขาดความพร้อมในการช่วยเหลือวิกฤติหนี้ของประเทศกรีซ ซึ่งมียอดขาดดุลงบประมาณในระดับสูงที่ร้อยละ 12.7 ต่อจีดีพีและยอดหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 113 ต่อจีดีพี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซซึ่งอยู่ในกลุ่ม PIGS ได้แก่ โปรตุเกสอิตาลี กรีซ และสเปน เป็นผลจากรัฐบาลประเทศดังกล่าวใช้นโยบายการคลังขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปลายปี 2551 ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับสูงของกลุ่ม PIGS นั้นขัดต่อข้อบัญญัติภายใต้สนธิสัญญามาสทริชต์ของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ขาดดุลไม่เกินร้อยละ 3 ต่อจีดีพี ระดับหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ทั้งนี้ ได้คาดว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมันและฝรั่งเศส จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปัจจุบันยังมีความเปรอะบางโดยเฉพาะอุปสงค์ภายในที่ยังไม่ฟื้นตัวจากยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. 53 ที่ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.9 จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ