รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 30, 2010 09:23 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ4.5 ต่อปี มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาคเอกชนภายในประเทศ”

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมีนาคม 2553 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2553 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วง คาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการ ณ เดือนธันวาคม 2552 ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีแรงส่งจากการ ฟื้นตัวที่ดีมากกว่าที่คาดการณ์เดิมของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะคู่ค้าใหม่ในเอเชีย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 จะ กลับมาขยายตัวในอัตราสูง นอกจากนั้น การใช้จ่ายภายในประเทศในปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวดีมากขึ้น จากฐานที่ต่ำในปีก่อน เพราะฉะนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างสมดุลมากขึ้น เพราะฟื้นตัวทั้งอุปสงค์ภายนอกประเทศและอุปสงค์ ภายในประเทศพร้อมๆ กัน”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า “ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2553 โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดี ขึ้นจากการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกร ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก และการจ้างงานที่ดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวจากฐานต่ำในปีก่อนมาอยู่ ที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาด การณ์ที่ร้อยละ 3.5 - 4.5 ต่อปี) ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อีกทั้งคาดว่าจะ มีการยกเลิกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในไตรมาส 3 ของปี 2553 จะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะยังคงเกินดุลอยู่แต่จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 — 2.9 ของ GDP) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะกลับมาขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและฐานที่ต่ำในปีก่อน”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวได้คำนึงถึงผลกระทบของปัญหา การระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุดและปัญหาการเมืองไว้แล้ว โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาทั้ง 2 ส่วนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัด เบิกจ่ายโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรอบวงเงินอนุมัติมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในกรณีสูงของช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี”

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2553

                                                                 2552       2553 f       2553 f (ณ มี.ค. 53)
                                                                          (ณ ธ.ค. 52)           เฉลี่ย                ช่วง
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  -1.2          3                 3.7             3.2 — 4.2
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)                          61.4         80                 80             75.0 — 85.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                        0.3          7                 8.6             8.0 — 9.0
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       -2.5         6.8                 8              7.5 — 8.5
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)                               34.3         33                32.5            31.5 — 33.5
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       1.25         1.5                1.5            1.25 — 1.75
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.47        2.55               2.59            2.55 — 2.63
ผลการประมาณการ
1)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                           -2.3         3.5                4.5             4.0 — 5.0
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                        -0.1         3.4                4.3             3.8 — 4.8
    - การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                   -1.1         3.3                4.3             3.8 — 4.8
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        5.8         3.9                4.2             3.7 — 4.7
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                          -9          7.8                7.8             6.8 — 8.8
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    -12.8         8                 8.2             7.7 — 8.7
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                         2.7         7.4                6.8             6.3 — 7.3
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                -12.7         8                 9.7            9.2 — 10.2
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                -21.8       17.4               18.9            18.4 — 19.4
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                                    19.4         7.8                4.8             3.8 — 5.8
     - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       -13.9       15.5                18             17.0 — 19.0
     - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       -24.9       27.7               31.9            30.9 — 32.9
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                               20.3         9.6                7.2             6.2 — 8.2
     - ร้อยละของ GDP                                               7.7         3.3                2.4             1.9 — 2.9
 8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                    -0.9         3.4                 4              3.5 — 4.5
     อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                   0.3         1.5                1.5             1.0 — 2.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          1.5         1.3                1.3             1.0 — 1.5

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการเดิม ณ เดือนธันวาคมที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่ดีมากของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 — 10.2 ต่อปี) ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศเร่งตัวขึ้น โดย เฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.8 ต่อปี) โดยได้รับปัจจัย สนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รายได้ภาคครัวเรือนที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และ อัตราการว่างงานที่ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่มีผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจาก ฐานที่ต่ำ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกำลังการผลิตในประเทศที่เร่งตัวขึ้นตามยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะเอื้อให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 จะมาขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 8.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.7 — 8.7 ต่อปี) นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นมา อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.3 — 7.3 ต่อปี) ขณะที่การบริโภคภาครัฐในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 — 4.7 ต่อปี) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 18.9 ต่อปี (ช่วงคาด การณ์ที่ร้อยละ 18.4 — 19.4 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาด การณ์ที่ร้อยละ 3.5 — 4.5 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วน อัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงาน (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 — 1.5 ของกำลังแรงงาน) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 2.4 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 — 2.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.8 — 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่า สินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 31.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 30.9 — 32.9 ต่อปี) ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายใน ประเทศและราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 17.0 — 19.0 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างสมดุลมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัวดีมากตามการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจไทยมาจากปัญหาการระงับการลงทุนบริเวณมาบตาพุดและปัญหาความเสี่ยงการเมืองที่อาจส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่า ที่คาด ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณและแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในช่วงที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัว ไม่เต็มที่

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 32/2553 29 มีนาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ