สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้
1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัว 36.0 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.3 หลังจากขยายตัว 7.1 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยระดับรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรายได้ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้น 11.8 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ 6.8 พันล้านเหรียญสรอ.หรือร้อยละ 0.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553
2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมในเดือนมีนาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.3 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.3 หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 4.3 พันล้านเหรียญสรอ. หรือต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า
3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริง ขยายตัวร้อยละ 0.2 หลังจากที่ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ในเดือนกุมภาพันธ์
4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures Z Real PCE) กระเตื้องขึ้นร้อยละ 0.5 ที่อัตราเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ขยายตัวร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553
5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 หลังจากที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับราคาในเดือนก่อน ส่วนดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันในเดือนมีนาคม ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 เช่นกัน
6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงปรับลดลงจากร้อยละ 3.0 ในเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในเดือนมีนาคม 2553
รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
Average Growth January February last 12 months 2010 2010 Personal Income 0.2% 0.1% 0.3% Real DPI 0.1% 0.0% 0.2% Real PCE 0.2% 0.5% 0.5% PCE Price 0.2% 0.0% 0.1% Personal Saving Rate 4.0% 3.0% 2.7% ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov) ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ประกอบกับกิจกรรมด้านธุรกิจก่อสร้างที่กระเตื้องขึ้น นับเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการปรับลดระดับการออมเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการขยายตัวของระดับรายได้ส่วนบุคคลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะปรับลดระดับการใช้จ่ายลงในเดือนต่อๆ ไป หากปริมาณการจ้างงานและรายได้ส่วนบุคคลยังไม่ปรับตัวดีขึ้น นักวิเคราะห์ต่างแสดงความกังวลถึงรายได้ส่วนบุคคลที่ขยายตัวในระดับต่ำ ประกอบกับอัตราการว่างงานที่ระดับสูง (ร้อยละ 9.7) ต่อเนื่องกว่า 4 เดือนที่อาจกดดันปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนต่อๆ ไป ตลอดจนผลกระทบต่อเสถียรภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยังไม่สูงพอที่จะกระตุ้นการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th