ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 20, 2010 11:55 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัว 53.7 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.4 หลังจากขยายตัว 59.4 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 ในเดือนเมษายน โดยระดับรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรายได้ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้น 22.8 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 ที่อัตราเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมในเดือนพฤษภาคมปรับเพิ่มขึ้น 49.0 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.4 หลังจากเพิ่มขึ้น 63.7 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.6 ในเดือนเมษายน 2553

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริง ขยายตัวร้อยละ 0.5 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ในเดือนก่อนหน้า

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures - Real PCE) ขยายตัวร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.1 หลังจากชะลอตัวร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ขยายตัวร้อยละ 0.2 หลังจากขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการขยายตัวร้อยละ 0.3 กระเตื้องขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 0.1

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยับตัวลดลงด้วยอัตราต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤษภาคม 2553 หลังจากขยับตัวสูงขึ้นด้วยอัตราต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันในเดือนพฤษภาคมและเมษายน 2553 ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 และ 0.1 ตามลำดับ

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ในเดือนพฤษภาคม 2553

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

                              Average Growth       April         May
                              last 12 months        2010        2010
          Personal Income           0.4%            0.5%         0.4%
          Real DPI                  0.3%            0.6%         0.5%
          Real PCE                  0.4%            0.0%         0.3%
          PCE Price                 0.1%            0.0%         0.0%
          Personal Saving Rate      3.3%            3.8%         4.0%
          ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)


          รายได้ส่วนบุคคลซึ่งยังขยายตัวที่ระดับต่ำต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาให้ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ในเดือนพฤษภาคม 2553 หลังจากที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนเมษายน ซึ่งนับว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยในระหว่างช่วงสิ้นปี 2552 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว และช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ทั้งนี้นักวิเคราะห์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของรายได้ส่วนบุคคลในช่วงก่อนที่อาจกระเตื้องขึ้นเพียงชั่วคราวจากการจ้างงานสำหรับโครงการสำรวจสำมะโนประชากรของภาครัฐซึ่งจะสิ้นสุดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลอดจนการจ้างงานของภาคเอกชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการเป็นหลักซึ่งนับเป็นปัจจัยที่จะกดดันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากโครงการดังกล่าวสิ้นสุดลง อนึ่ง ความกังวลของผู้บริโภคต่อความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปได้ส่งผลให้ประชากรสหรัฐฯ หันมาเก็บออมเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ที่ร้อยละ 4.0 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ