สรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการบริหารจัดการโครงการข่ายการคุ้มครอองทางสังคมสำหรับคนด้อยโอกาสและคนยากจน ปี 2546

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 27, 2003 16:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1. ความเป็นมา 1) แผนพัฒนาฉบับที่ 9 ได้กำหนดแนวทางการปรับระบบการคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เนื่องจากการนำแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและต้องเป็นไปโดยความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเพื่อให้มีทิศทางของการปรับระบบการคุ้มครองทางสังคมในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้จัดทำแนวทางการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนขึ้นและได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ตามแนวทางนั้นได้มีข้อเสนอโครงการให้มีการนำร่องบริหารจัดการบริการทางสังคมแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนโดยชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้การช่วยเหลือสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนในชุมชนเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึง นำไปสู่คุณภาพชีวิตและลดปัญหาความยากจนในที่สุด 2) ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ สศช.เพื่อจัดทำกรอบนโยบายความยากจนและเสริมสร้างสมรรถนะเจ้าหน้าที่ สศช.ภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศด้านความยากจน (CDP-PAM) โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการยกร่างและดำเนินโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีปัญหาการไม่สามารถบริหารจัดการกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในภาครัฐ เอกชนและชุมชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ทันการและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน (Social Safety Net) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ สศช. ซึ่งคาดว่าการบริหารจัดการโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนแบบเบ็ดเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนและสร้างคุณภาพชีวิตแก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถสร้างระบบการเตือนภัย ป้องกัน เตรียมความพร้อมและพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว2. กรอบแนวคิดเบื้องต้น บนพื้นฐานความคิดที่ว่าชุมชนเข้มแข็งจะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง อาทิ ปัญหาเอดส์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิสตรี ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ถ้าชุมชนสามารถวางฐานรากการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนให้มั่นคง ชุมชนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองชุมชนจะมีความเข้มแข็ง ชุมชนใดมีความเข้มแข็งถือว่ามีทุนทางสังคมที่เอาชนะปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง มีความอยู่ดีมีสุขอย่างอย่างพอเพียง จึงเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การทดลองศึกษารูปแบบการบริหารจัดการโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว3. วัตถุประสงค์ของโครงการ 1) เพื่อศึกษาและทดลองจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมในท้องถิ่นที่นำไปสู่รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นรูปธรรม 2) เพื่อให้ทราบปัญหา อุปสรรค และได้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง/กำหนดนโยบายให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป 3) เพื่อนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการที่ได้ ไปขยายผลและสร้างเครือข่ายการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง4. ขอบเขตการดำเนินงาน 1) ทดลองดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด ๆ ละ 2 พื้นที่ที่มีความแตกต่างกันเช่น พื้นที่เขตเมืองกับเขตชนบท หรือ พื้นที่ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง กับ พื้นที่ที่ชุมชนยังไม่เข้มแข็ง 2) วิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม รวมทั้งการประสานเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ 3) เปิดเวทีการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ในชุมชน เพื่อพูดคุยปัญหาของชุมชน หาสาเหตุ หาทางเลือก และวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน เน้นการสร้างและพัฒนาสวัสดิการสังคมในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน 4) สร้างเครือข่าย ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อขยายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างระบบสวัสดิการสังคมในชุมชนโดยชุมชน 5) การประเมินผลการดำเนินงานในเชิงกระบวนการบริหารจัดการ 6) การสรุปบทเรียนและปัจจัยแห่งความสำเร็จจากการดำเนินโครงการนำร่องการบริหารจัดการโครงการข่ายการคุ้มครองทางสังคม สำหรับคนยากจนและคนด้อยโอกาส5. สรุปความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการโครงข่ายการคุ้มครองทาง สังคม สำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน 5.1 การแต่งตั้งผู้ประสานงานระดับจังหวัดและการคัดเลือกพื้นที่ ใน 5 จังหวัด ๆ ดังนี้ 1) จังหวัดพะเยา มีผู้ประสานงานในพื้นที่ คือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา (สสจ.) และพัฒนาสังคมจังหวัด ส่วนกลางคือนางสาวนัยนา คงสาหร่าย และนายลือศักดิ์ ปรัชญาธนกุล เป็นผู้ประสานงานจาก สศช. ได้ร่วมกันกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีความแตกต่างกันใน 2 พื้นที่ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1. เขตชนบท ได้แก่ ม. 8 ต.แม่สุก อ.แม่ใจ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมีศักยภาพ/ทักษะในด้านการจัดทำข้อมูลและการประสานงาน มีทัศนคติค่อนข้างดีในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และพื้นที่อยู่ใกล้จังหวัดสามารถจัดเก็บและติดตามข้อมูลสะดวก 2. เขตเมือง ได้แก่ ชุมชนวัดเมืองชุม เทศบาลเมืองพะเยา เพราะมีศูนย์เยาวชนที่มีเครือข่ายการดำเนินงานค่อนข้างเข้มแข็ง มีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม 2) จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ประสานงานในพื้นที่ คือ ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนร้อยเอ็ด และส่วนกลาง คือ นางสุจิตราภรณ์ นาคะลักษณ์ นางสาวดวงกมล วิมลกิจ และนายอิสระ โพธิจันทร์ เป็นผู้ประสานงานจาก สศช. ได้ร่วมกันกับภาคีการพัฒนาในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1. ชุมชนบ้านเมืองบัว ต.บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย เป็นชุมชนชนบท ที่มีการรวมกลุ่มค่อนข้างเข้มแข็ง เป็นสมาชิกเครือข่ายขององค์กรการเงินชุมชนร้อยเอ็ด และอยู่ในพื้นที่ของโครงการลงทุนเพื่อสังคม 2. ชุมชนบ้านดอนกลาง ต.บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย เป็นชุมชนชนบท มีการรวมกลุ่มแต่ยังไม่มีความเข้มแข็ง มีจำนวนผู้ด้อยโอกาสมาก มีประชากรวัยแรงงานน้อยเนื่องจากไปทำงานนอกพื้นที่ ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ 3) จังหวัดอุทัยธานี ผู้ประสานงานในพื้นที่ คือ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านไร่และส่วนกลาง คือ นางสาวนัยนา คงสาหร่าย นายลือศักดิ์ ปรัชญาธนากุล และเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1. หมู่ 2 บ้านสะนำ ต.บ้านไร่ เป็นชุมขนชนบทที่มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งในการดำเนินงานของชุมชนที่เกิดโดยคนในชุมชนเองและเกิดโดยหน่วยงานให้การสนับสนุน มีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน(1 ล้านบาท)ที่เข้มแข็ง มีการดำเนินงานและการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในการจัดทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน 2. หมู่ 5 บ้านพุบอน ต.บ้านไร่ เป็นชุมชนชนบทที่มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่อ่อนแอ ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการและมีความเชื่อผิดๆในการบริโภค รวมทั้งไม่มีการดูแลสุขภาพและดูแลการรักษาและจัดเก็บบ้านเรือนที่ถูกสุขลักษณะ 4) จังหวัดปทุมธานี มีผู้ประสานงานในพื้นที่ คือ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) ต.คูคต อ.เมือง จ.ปทุมธานี และนางอรทิพย์ อาชวิบูลโยบล นางสาววาสิณี แนวพนิช และนายประสพสุขธูสรานนท์เป็นผู้ประสานงานจาก สศช ได้ร่วมกันกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีความแตกต่างกันใน 2 พื้นที่ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1. ชุมชนริมคลอง เป็นพื้นที่เขตเมืองที่ประชากรมีอาชีพ รายได้ไม่แน่นอน มีประชากรแฝงเข้ามาทำงานรับจ้างทั่วไปมาก และมีปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด และแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงานมาก 2. ชุมชนพูนพล เป็นพื้นที่เขตเมืองมีลักษณะเป็นบ้านจัดสรร ต่างคนต่างอยู่ ประชากรมีรายได้สูงกว่าในพื้นที่ริมคลอง และมีประชากรแฝงเข้ามาทำงานในพื้นที่ 5) จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประสานงานในพื้นที่คือ นายอุทิศ ศิริอาภาพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการพันธะกิจภาคใต้ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และนายเอกชัย สุวรรณโกศัย ส่วนกลางคือนางสาวสุลัดดา ศิริฤกษ์พิพัฒน์ นางสาวดวงกมล วิมลกิจ และนายวงศกร ภู่ทอง เป็นผู้ประสานงานจาก สศช.ได้ร่วมกันกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่เพื่อคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีความแตกต่างกันใน 2 พื้นที่ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1. ชุมชนตำบลท่าขนาน อำเภอเชียรใหญ่ เป็นชุมชนที่ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือตนเอง 2. ชุมชนตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เป็นชุมชนที่ผู้นำมีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อผู้นำ 5.2 การวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน และการประชุมกลุ่มย่อย (focus group ) 1) จังหวัดพะเยา จากประเด็นในการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนที่ครอบคลุมความเข้มแข็งของกลุ่มต่างๆ ในชุมชน การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ผ่านมา การค้นหาศักยภาพครอบครัวและเครือข่ายทางสังคมของผู้ด้อยโอกาส บทบาทขององค์กรต่างๆในการพัฒนาชุมชน สรุปศักยภาพของชุมชนเป้าหมายได้ดังนี้ การรวมตัวในชุมชนและการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ผ่านมา - ในเขตชนบท (ชุมชนหมู่ 8 ต. แม่สุก) มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มกองทุนต่างๆ หลากหลาย เช่น กองทุนหมู่บ้านเงินล้าน ธนาคารข้าว กองทุนปุ๋ย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน กองทุนหมู กลุ่มสหกรณ์ลิ้นจี่ ศูนย์สงเคราะห์ราษฎร กลุ่มสุราเสรี ในเขตเทศบาล (วัดเมืองชุม) มีการรวมกลุ่มต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่ระดมเงินออมจากสมาชิก ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ กู้ฉุกเฉิน กู้เพื่อการศึกษา สามารถกู้ได้ 5 เท่าของเงินออม ขณะนี้มีเงินทุนหมุนเวียน ประมาณ 300,000 บาท กองทุนชุมชน/กองทุนเงินล้านของ รัฐบาล มี 13 กองทุน ให้กู้ยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เพราะคนขอกู้มีจำนวนมากกว่าเงินที่ให้กู้ กลุ่ม อสม. เป็นองค์กรที่เข้มแข็งมีบทบาทในการจัดเก็บ ข้อมูลสุขภาพและดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน กลุ่มผู้สูงอายุ รวมกลุ่มเพื่อถือ ศีล เข้าวัด พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กลุ่มแม่บ้าน รวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชน เช่น ช่วยงานศพ งานแต่งงาน งานพิธีการต่างๆ กลุ่มพ่อบ้าน และกลุ่มเยาวชน รวมกลุ่มกันเพื่อการกีฬา ออกกำลังกาย และสันทนาการ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนในเขตเทศบาลแม้จะมีกลุ่มชัดเจนแต่รวมตัวกันค่อนข้างยาก - การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ผ่านมา มีประเพณีเก่าแก่ในอดีตของคนในชุมชนนี้คือการตานต้อด ซึ่งถือว่าเป็นหลักการของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (social safety net ) ดั้งเดิมซึ่งเป็นวิธีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในชุมชน (access transfer ) กล่าวคือผู้ที่มั่งมีเงินทองหรือใจบุญจะนำของที่เหลือใช้หรือของใช้ที่จำเป็นมาวางไว้หน้าบ้านตน เมื่อคนยากจนเดินผ่านก็จะเก็บข้าวของไป ต่อมาวิธีการได้เปลี่ยนไปเป็น คหบดีหรือผู้มีอันจะกินในหมู่บ้านนั้นเป็นผู้นำในการตานต๊อด โดยรวบรวมปัจจัย เช่น เงิน มุ้ง ที่นอน ข้าวสารและอาหารแห้ง แต่ปัจจุบันการตานต๊อดถูกละเลย เนื่องจากผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนใหญ่จะมีผู้เลี้ยงดู และเป็นเหตุให้ลูกหลานถูกต่อว่าว่าไม่เลี้ยงดูญาติผู้ใหญ่ ประกอบกับประชาสงเคราะห์จังหวัดจ่ายเบี้ยยังชีพ จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีการตานต๊อดแล้ว มีข้อสังเกตว่า การช่วยเหลือของภาครัฐจากส่วนกลางที่ขาดการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอาจทำให้ประเพณีเก่าแก่ที่ชุมชนมีความเอื้ออาทรต่อกันหายไปจากชุมชน - การสร้างความเข้าใจร่วมกันและการเตรียมการระหว่างผู้ประสานงาน สศช. ผู้ประสานงานในพื้นที่ และแกนนำในพื้นที่ชนบทและเขตเมือง ได้ประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งความเป็นมา วัตถุประสงค์ กิจกรรม ระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ และบทบาท ภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการฯ โดย สสจ.จะเป็นทีมให้การสนับสนุนด้านวิชาการ จนท.สอ/อสม. และอบต.เป็นแกนในการปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท ส่วนในเขตเทศบาลเมือง มีเทศบาล และ รพ.พะเยา เป็นแกนหลัก โดยทั้ง 2 พื้นที่ ได้จัดตั้งทีมทำงานเพื่อดำเนินงานตามโครงการและได้หารือทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นของวิธีการดำเนินงาน ขั้นตอนการทำงาน กลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ทีมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ดำเนินการก้าวหน้า ดังนี้ เขตชนบท : จัดเก็บข้อมูลทั่วไป ข้อมูลศักยภาพของชุมชน และจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ด้อยโอกาส/ครอบครัวผู้ด้อยโอกาส นำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วน/สมบูรณ์ เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงครั้งเพื่อยืนยันความถูกต้องและความเห็นพ้องเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีครอบครัวผู้ด้อยโอกาสจำนวน 18 ครอบครัวที่อยู่ในข่ายต้องให้ความช่วยเหลือ ทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันไปพูดคุยกับครอบครัวผู้ด้อยโอกาสแต่ละครอบครัวเพื่อรับทราบปัญหา ความเดือดร้อน เครือข่ายทางสังคมและความต้องการรับความช่วยเหลือ แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จัดลำดับความรุนแรงของปัญหาครอบครัวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นองค์รวม เขตเทศบาล : ร่วมกันในการจัดเก็บข้อมูลทั่วไป ข้อมูลผู้ด้อยโอกาส และคนยากจน ตลอดจนข้อมูลศักยภาพชุมชน โดยการเปิดเวทีร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในเบื้องต้นได้ระดมความเห็นเกี่ยวกับนิยาม/ความหมายว่าใครคือผู้ด้อยโอกาส ใครควรมาช่วยเหลือชุมชนและช่วยอย่างไร ซึ่งในชุมชนนี้ได้ให้ความหมายผู้ด้อยโอกาสออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) เด็กกำพร้า 2)ผู้สูงอายุ(ที่อยู่คนเดียว อยู่กับลูกหลาน ลูกหลานมีรายได้น้อย อยู่กับครอบครัวอื่น หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว) 3) คนวิกลจริต และ 4) คนยากจน ทีมผู้ปฏิบัติงานได้จัดเก็บข้อมูลเชิงลึกและนำข้อมูลต่างๆที่ได้มาวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน ศักยภาพของผู้ด้อยโอกาสแต่ละคนและครอบครัว รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมของครอบครัวผู้ด้อยโอกาส การประชุมกลุ่มย่อย(Focus Group) เพื่อนำผลจากการวิเคราะห์ ศักยภาพชุมชนมาจัดทำแผนการดำเนินงานในการแก้ปัญหาของชุมชน โดยมีกระบวนการ ดังนี้ เขตชนบท : หลังจากที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละครอบครัวผู้ด้อยโอกาส แล้วได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาครอบครัวของแต่ละครัวเรือนผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป โดยแนวทางของแผนพัฒนาครอบครัวผู้ด้อยโอกาสมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครอบครัวผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งพาตนเองต่อไปได้อย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้องค์ประกอบของแผนพัฒนาครอบครัวประกอบไปด้วย แนวทางการสงเคราะห์ การดูแลด้านสุขภาพ การประกอบอาชีพ และการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไปสู่การพึ่งตนเองต่อไป ซึ่งขณะนี้สามารถทำแผนพัฒนาครอบครัวผู้ด้อยโอกาสเสร็จแล้ว 9 ครอบครัว และได้เริ่มดำเนินการตามแผนพัฒนาครอบครัวไปบางส่วนโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือ/การดูแลด้านสุขภาพ สำหรับเขตเทศบาล ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการจัดทำแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและครอบครัวต่อไป โดยมีแนวคิดว่ากระบวนการวางแผนให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จะต้องตอบคำถาม 3 ประการคือ จะวางแผนเพื่อสร้างโอกาสในการพึ่งตนเอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร และภาครัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรโดยเฉพาะบทบาทของเทศบาลเมืองพะเยา 2) จังหวัดร้อยเอ็ด สรุปความก้าวหน้าของการวิเคราะห์ศักยภาพและการประชุมกลุ่มย่อยได้ดังนี้ การวิเคราะห์ศักยภาพ ใน 2 พื้นที่ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยทำความเข้าใจกับชุมชน และเปิดเวทีในการค้นหาศักยภาพของชุมชน ทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน สรุปได้ดังนี้ - บ้านเมืองบัว หมู่ 5 เป็นชุมชนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ผู้นำมีความรู้และประสบการณ์สามารถประสานงานกับหน่วยงานภายนอกและทำความเข้าใจกับสมาชิกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีการบริหารจัดการองค์กร ชุมชนที่โปร่งใสเป็นที่เชื่อถือของสมาชิกในชุมชน มีการรวมตัวในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะของชุมชน เช่น กองทุนปลาเป็นค่าใช้จ่ายงานสาธารณประโยชน์ กองทุนธนาคารข้าว กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ฯลฯ ชุมชนมีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความสามัคคีและร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังขาดทิศทางการจัดการสวัสดิการ และขาดความเข้าใจและแนวคิดพึ่งตนเองแม้จะมีทรัพยากรในชุมชนจำนวนมาก เห็นว่าเรื่อง สวัสดิการเป็นภารกิจของภาครัฐ อบต.ขาดแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาสวัสดิการชุมชน ขณะที่คนในชุมชนมีภาระหนี้สินสูง ขาดช่องทางการจำหน่ายสินค้าของชุมชน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในบางเรื่อง เช่น การเล่นการพนัน ทะเลาะวิวาทของเยาวชน ฯลฯ ขาดคนรุ่นใหม่ในการร่วมทำ กิจกรรมของชุมชน เพราะไปศึกษาต่อหรือไปทำงานที่อื่น ชุมชนประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกข้าวติดต่อกัน 3 ปี การเกิดโรคระบาดของปลาและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่สาธารณะเนื่องจากรัฐให้สัมปทานเอกชนปลูกต้นยูคาลิปตัส - บ้านดอนกลาง ม.8 ชุมชนมีความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผู้นำและคณะกรรมการมีความเข้มแข็ง มีความเข้าใจในเรื่องการพึ่งตนเอง สมาชิกให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม ผู้นำ/คณะกรรมการเป็นที่ยอมรับและมีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆได้ดี มีการนำดอกผลจากกลุ่มต่างๆใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ชุมชนนี้เป็นหมู่บ้านยากจน มีการหย่าร้างสูง มีครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุและเด็กจำนวนมากทำให้ขาดคนหนุ่มสาวที่จะเข้ามาทำงาน/กิจกรรมเพื่อชุมชน ขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและจัดสวัสดิการสังคมในชุมชน ผลผลิตการเกษตรตกต่ำและเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมและดินเค็ม มีปัญหาเรื่องหนี้สิน และขาดอาชีพเสริมอย่างต่อเนื่องครบวงจร การประชุมกลุ่มย่อย หลังจากชาวบ้านได้มีพิจารณาข้อมูลและร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพของตนเองแต่ละหมู่บ้านได้กำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้ - บ้านเมืองบัว ม.5 มีการจัดตั้งคณะทำงาน 15 คน ประกอบด้วย ผู้นำ ชุมชนทั้งที่เป็นผู้นำธรรมชาติและผู้นำที่มาจากการแต่งตั้ง แม่บ้าน และเยาวชนฯลฯ เพื่อทำหน้าที่ระดมทุนและจัด สวัสดิการสำหรับคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสจัดทำแผนงาน/โครงการชุมชนระยะ 1 ปีและ3 ปี ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ (1) แผนพึ่งตนเอง เช่น โครงการจัดทำทะเบียนผู้ด้อยโอกาส โครงการระดมทุนเพื่อจัดสวัสดิการชุมชน โดยการจัดพาแลง การจัดผ้าป่าสมทบทุนและการระดมทุนจากดอกผลกองทุนอื่นๆ ในชุมชน โครงการกำจัดขยะมูลฝอยในชุมชน จากการวิเคราะห์ศักยภาพชาวบ้านเห็นความจำเป็นต้องกำจัดขยะมูลฝอยจึงได้ประสานกับสถานีอนามัยเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่อบรมให้ความรู้กับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง (2) แผนความร่วมมือ ได้แก่ โครงการทุนหมุนเวียนในการพัฒนาอาชีพ รายได้ให้กับคนจนและคนด้อยโอกาส เป็นโครงการขอสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรการเงิน เพื่อให้คนจนและผู้ด้อยโอกาสกู้ยืมสำหรับประกอบอาชีพ โครงการจัดหาปัจจัยการผลิตจาก อบต.เพื่อจัดหาปุ๋ยราคาถูกให้แก่สมาชิก (3) แผนขอสนับสนุนจากภายนอก ได้แก่ แผนระดมทุนจัดสวัสดิการจากเครือข่ายฯ โดยจะประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน - บ้านดอนกลาง ม.8 มีการจัดตั้งคณะทำงาน 11 คน ประกอบด้วย ผู้นำชาย 7 คน หญิง 4 คน ได้มีการจัดทำแผนงาน/โครงการระยะ 1 ปี และ 3 ปี ประกอบด้วยแผนงาน 3 ประเภท ได้แก่ (1) แผนพึ่งตนเอง มี 2 แผนงาน คือ แผนพัฒนาระบบการจัดการชุมชน โดยยกร่างข้อบังคับ ระเบียบ วิธีการดำเนินงานและระบบเอกสารต่างๆ และแผนระดมทุนลงหุ้นจากกลุ่มต่างๆ เพื่อตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยการระดมทุนจากดอกผลของกองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน (2) แผนความร่วมมือ มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทุนหมุนเวียนในการพัฒนาอาชีพให้คนจนและผู้ด้อยโอกาส เป็นโครงการขอสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรการเงินเพื่อให้คนจนและผู้ด้อยโอกาสกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และโครงการจัดหาปัจจัยการผลิตจาก อบต. เพื่อจัดหาปุ๋ยราคาถูกให้แก่สมาชิก (3) แผนขอสนับสนุนจากภายนอก ได้แก่ แผนระดมทุนจัดสวัสดิการจากเครือข่ายฯ โดยจะประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน(ยังมีต่อ).../3. จังหวัดอุทัย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ