ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง ปี 2560 และแนวโน้มปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 21, 2017 15:35 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 21 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560

(%YoY)                                  2559                     2560
                                    Q4        ทั้งปี        Q1       Q2       ทั้งปี (f)
GDP (CVM)                          3.0        3.2       3.3      3.7    3.5-4.0
การลงทุนรวม                         1.8        2.8       1.7      0.4        3.4
ภาคเอกชน                          -0.4        0.4      -1.1      3.2        2.2
ภาครัฐ                              8.6        9.9       9.7     -7.0        8.0
การบริโภคภาคเอกชน                   2.5        3.1       3.2      3.0        3.2
การอุปโภคภาครัฐบาล                   1.8        1.7       0.3      2.7        3.2
มูลค่าการส่งออกสินค้า 1                 4.0        0.1       6.8      8.0        5.7
ปริมาณ 1                            1.8        0.5       2.9      5.1        3.2
มูลค่าการนำเข้าสินค้า 1                 6.1       -5.1      15.9     13.8       10.7
ปริมาณ 1                            2.7       -2.5       7.2      8.9        6.2
ดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP (%)            9.7       11.5      14.1      7.7        9.7
เงินเฟ้อ                             0.7        0.2       1.3      0.1    0.4-0.9
หมายเหตุ: 1 ฐานข้อมูลดุลการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2560 ร้อยละ 1.3 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ และการใช้จ่ายภาครัฐบาล รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมชะลอตัว
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 โดยในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัว เร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในครึ่งปีหลัง (3) การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตสำคัญๆ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า จะขยายตัวร้อยละ 5.7 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 0.9 และ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.7 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ (2) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบสำคัญๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย (3) การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจ ฐานราก โดยการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาล การดำเนินการตามโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและการปกป้อง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับธุรกิจและ การผลิตขนาดใหญ่ และการหาตลาดและขยายตลาดโดยเฉพาะตลาด CLMV (4) การดูแลรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต และการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย และ (5) การดำเนินการให้การผลิตนอกภาคเกษตรมี การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดย (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวเร่งขึ้นและกระจายตัวเป็นวงกว้าง การติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ (2) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของ การลงทุนภาคเอกชน โดยการดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง การกระตุ้นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้าให้เริ่มดำเนินการลงทุน และการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และ (3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การแก้ไขปัญหาความแออัดและการอำนวยความสะดวกของด่านตรวจคนเข้าเมือง การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และนักท่องเที่ยวระยะไกล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับ การกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ และการใช้จ่ายภาครัฐบาล รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเล็กน้อย ในขณะที่สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาปรับตัวลดลง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2560 ร้อยละ 1.3 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2560

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ร้อยละ 13.9 ร้อยละ 8.2 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.3 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.5

2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยการลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.2 และการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว ร้อยละ 3.1 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 7.0 โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลงร้อยละ 18.2 สอดคล้องกับการลดลงของ การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนร้อยละ 17.7 และอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 14.3 เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 22.0 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังอยู่ในระยะแรกของ การดำเนินการ ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 20.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 17.0 ในไตรมาสแรก

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.1 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.0

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 56,145 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 8.0 ในไตรมาสนี้ ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสแรก และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และมันสำปะหลัง เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ลดลง เมื่อหัก การส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 112,366 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 3,899 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0

4) สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 15.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปรัง ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (เช่น ทุเรียน สับปะรด ลำไย มังคุด และลิ้นจี่ เป็นต้น) เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยราคาพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ร้อยละ 14.6

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 10.3 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 15.0

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 0.1 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน การส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ และการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ยานยนต์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.0 เทียบกับร้อยละ 58.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.8

6) สาขาการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 6.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรก โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 12.8 (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 23.2 ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 และร้อยละ 12.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างอาคารโรงงานลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลง ร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เป็นสำคัญ

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ในช่วงเดียวกันของ ปีก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.4 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ

7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 7.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสแรก โดยในไตรมาสนี้ มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 625.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 395.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว และจีน เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 230.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 67.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.4 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 876.7 พันล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 70.4

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560

สศช. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มประมาณการจากร้อยละ 3.3 - 3.8 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (3) การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 0.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.7 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2560 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชนึ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทน และรายจ่ายภาคบริการ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือน โดยในไตรมาสที่สองของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ร้อยละ 13.9 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 6.5 และการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 6.8 การขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร รวมทั้ง การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.3 เทียบกับระดับ 64.2 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชนึ ขยายตัวทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณ การจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 และร้อยละ 2.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 และการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 229.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 26.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ยอดการอนุมัติและการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนปรับตัวลดลง โดยยอดการอนุมัติและการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 101.7 และ 80.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 45.5 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.9 เทียบกับระดับ 50.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การส่งออกึ การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาส ที่สองของปี 2560 มีมูลค่า 56,145 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 8.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป ในขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น และ (2) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.9) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.1) ราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.2) ราคายางพาราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.0 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.5) และราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.7) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,925 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 112,366 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 3,899 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 19.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 20.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส) โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกข้าว ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกยางพารา และน้ำตาลเป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าวยังคงปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศเบนิน จีน สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน ส่วนราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.7 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 9.5 สอดคล้องกับการชะลอการสั่งซื้อจากประเทศจีน ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04 ยางพารา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 เนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.0 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.2 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.0 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 71.6) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 32.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 9.7) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 4.3) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 11.5) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 11.1) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 36.7) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 16.1) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 14.4) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่ง และเครื่องปรับอากาศลดลงร้อยละ 9.8 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.4 เนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลงร้อยละ 44.3 เป็นผลมาจากการลดลงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 45.4 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 996 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม)

ตลาดส่งออกึ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป (15) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 7.0 ร้อยละ 26.0 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัว ร้อยละ 20.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 15.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.04 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของทั้งการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 11.8 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ และการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง (15) ลดลงร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันและมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังในช่วงก่อนหน้า

การนำเข้า มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 13.8 ตามการเพิ่มขึ้นของ ทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การนำเข้ามีมูลค่า 49,523 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสแรก ตามการชะลอตัวลงของราคานำเข้า ในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเร่งขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้ง ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกและการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่า การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,699 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 96,929 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 3,363 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออก สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน แท่นขุดเจาะน้ำมัน และอากาศยาน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง และอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 1,975 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.9

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 112.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 110.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2560

รวมครึ่งแรกของปี 2560 อัตราการค้าอยู่ที่ระดับ 110.6 เทียบกับระดับ 113.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (226.8 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (309.1 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (298.9 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 15.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (535.9 พันล้านบาท) เทียบกับ การเกินดุล 20.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (716.7 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรมึ ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตพืชสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตในช่วงที่ผลกระทบจากภัยแล้งสิ้นสุดลง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 16.8 ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 โดย (1) ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 125.2 สอดคล้องกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ อยู่ในเกณฑ์ดีและ มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก (2) ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และ (3) ผลผลิต มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (เช่น ทุเรียน สับปะรด ลำไย มังคุด และลิ้นจี่ เป็นต้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 ร้อยละ 11.9 ร้อยละ 19.8 และร้อยละ 13.8 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ในปี 2560 ทั้งฤดูฝนที่เริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติและมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี 2559 ส่งผลให้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงเพียงพอและเอื้อต่อการเพาะปลูก เช่นเดียวกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และร้อยละ 13.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.9 ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยราคาหมวดพืชผลลดลงร้อยละ 0.8 สอดคล้องกับ (1) ราคาข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 11.0 และร้อยละ 22.7 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น (2) ราคาข้าวโพดปรับตัวลดลงร้อยละ 20.5 และ (3) ราคามันสำปะหลังลดลงร้อยละ 30.5 เนื่องจากราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประกอบกับฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ หัวมันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์แป้งค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงที่ลดลงร้อยละ 6.1 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 และร้อยละ 41.0 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ร้อยละ 14.6

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 10.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และ ร้อยละ 4.9 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 15.0

สาขาอุตสาหกรรมึ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง ร้อยละ 0.1 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตในอุตสาหกรรมบางรายการ เช่น การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวดที่ลดลงร้อยละ 10.0 และร้อยละ 11.0 ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการหดตัวในอัตราที่ลดลงของการผลิตรถยนต์ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ (1) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสาร ในตลาดส่งออกสำคัญๆ โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น (2) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแผ่นที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่า การส่งออกของผลิตภัณฑ์ยางแผ่นขยายตัวร้อยละ 40.1 โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ และ (3) ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เนื่องจากผลของฐานในปีก่อนหน้าจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันของผู้ประกอบการรายใหญ่ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.0 เทียบกับร้อยละ 58.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuit: IC) (ร้อยละ 10.1) ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (ร้อยละ 5.7) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ร้อยละ 7.5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ (ร้อยละ 3.0) และการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (ร้อยละ 4.2) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ร้อยละ -10.0) ยานยนต์ (ร้อยละ -3.2) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด (ร้อยละ -11.0) เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ (ร้อยละ -10.0) และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ (ร้อยละ -3.4) เป็นต้น

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.8

สาขาไฟฟ์า ก๊าซ และการประปา ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการผลิตไฟฟ์า ก๊าซ และน้ำประปา ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบลดลงร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการลดลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและความร่วมมือในการลดการใช้ไฟฟ้า ในขณะที่การใช้ไฟฟ้า ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น การผลิตอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ และการผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ยางและพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำประปาลดลงร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อนและการให้ความร่วมมือของประชาชนในการประหยัดการใช้น้ำประปา

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 5.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สาขาก่อสร้างึ ปรับตัวลดลงตามการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 6.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 12.8 (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 23.2 ในขณะที่รัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 20.5) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 โดยเฉพาะอาคารชุด สอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 และร้อยละ 52.7 ตามลำดับ ส่วนการก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างอาคารโรงงานลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ ด้านดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.0 ประกอบด้วย (1) ดัชนีหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจากมีปริมาณปูนซีเมนต์ในตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง (2) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีปริมาณเหล็กส่วนเกินในตลาดสูง รวมทั้งผู้ค้าเหล็กเร่งระบายสินค้าคงคลัง และ (3) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.8

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.4 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ

สาขาการค้าส่งค้าปลีกึ ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สองของปี 2560 สาขาค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ใกล้เคียงกับ การขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของทั้งจำนวนและรายได้จากหมวดการท่องเที่ยว โดยดัชนีการค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายปลีกสินค้าหมวดสินค้าไม่คงทน (ร้อยละ 4.2) ยอดขายหมวดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป (ร้อยละ 2.3) ยอดขายหมวดรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 6.7) และยอดขายหมวดอื่นๆ (ร้อยละ 15.1) ส่วนยอดขายปลีกสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.8 ในขณะที่ ดัชนีค้าส่งปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกหมวดสินค้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยดัชนีการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 4.9 ส่วนดัชนีการค้าส่งลดลงร้อยละ 3.7

สาขาโรงแรมและภัตตาคารึ ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของรายรับจากการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 625.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 395.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว และจีน เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 230.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.4 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 876.7 พันล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 70.4

สาขาขนส่งและคมนาคมึ ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตรและการส่งออก ซึ่งส่งผลให้บริการขนส่งขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เร่งขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 8.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกขยายตัวร้อยละ 7.0 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 15.6 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 3.1 ส่วนบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านระบบโครงข่ายใยแก้ว

รวมครึ่งแรกของปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.0 โดยบริการขนส่งขยายตัว ร้อยละ 6.8 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 8.3

การจ้างงานึ การจ้างงานรวมกลับมาขยายตัว ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สองของปี 2560 การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานในการผลิตและการเก็บเกี่ยว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว อ้อย และยางพารา เป็นสำคัญ ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.1 ตามการลดลงของการจ้างงานสาขาก่อสร้าง สาขาอุตสาหกรรม และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งลดลงร้อยละ 11.8 ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ สำหรับ ผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2560 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.1 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 (เมษายน - มิถุนายน 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 692,079.5 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 25,177.2 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.5 เป็นผลจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนรัฐบาลมีการนำส่งรายได้พิเศษจากการนำเงินรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) รวมทั้งการชำระภาษีการพนันในส่วนของสลากพิเศษของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภคและฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพสามิต

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 แต่ยังสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 0.4

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 736,602.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 190,000 ล้านบาท) มีการเบิกจ่าย 625,179.3 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.4 ของวงเงิน งบประมาณ) โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำอยู่ที่ 541,609.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 23.2 ของวงเงินงบประมาณ) ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 83,569.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.7 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 14.3 ของวงเงินงบประมาณต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก (i) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วง 2 ไตรมาสแรก (ii) การเบิกจ่ายของบางหน่วยงานยังประสบปัญหาความล่าช้า และ (iii) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังอยู่ในระยะแรก ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายยังอยู่ในระดับต่ำ แม้กระนั้นก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณรวมกับการลงนามในสัญญา (PO) ไตรมาสที่สามของปีงบประมาณอยู่ที่ 114,809.8 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีการเบิกจ่ายรวม PO อยู่ที่ 28,310.8 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.6 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 มีการเบิกจ่ายรวม 50,803.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10,790.9 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยการเบิกจ่ายภายใต้โครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4,216.8 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ 1,586.8 ล้านบาท กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000.0 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15,000 ล้านบาท และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 26,996.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.8 เนื่องจากวงเงินงบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.3 (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 84,539.0 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2,640.2 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.9 (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,528.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48.5 เนื่องจากแผนการใช้เงินกู้ส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย โครงการเพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน 2,386.4 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 142.3 ล้านบาท

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ทั้งสิ้น 2,077,995.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.3 (อัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 71.1 ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 73.9 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 47.0) ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 179,908.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.1 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 256,297 ล้านบาท และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 7,089.6 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,185,431.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.7 ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,875,670.8 ล้านบาท (ร้อยละ 38.7 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 309,760.6 ล้านบาท (ร้อยละ 2.0 ของ GDP) โดยแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,759,892.2 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 967,318.9 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 441,735.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.0 ร้อยละ 15.6 และ ร้อยละ 7.1 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น ตามลำดับ

ฐานะการคลังึ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 48,215.9 ล้านบาท เทียบกับการเกินดุล 70,785.8 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 38,620.9 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 134,090.0 ล้านบาท (ในช่วง 9 เดือนแรกรัฐบาล กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 429,681.9 จากกรอบวงเงินขาดดุล 552,921.7 ล้านบาท) ทำให้รัฐบาล เกินดุลเงินสดสุทธิ 143,685.0 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 285,296.0 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.2

ภาวะการเงิน

ในไตรมาสที่สองของปี 2560 อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำและยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจาก ด้านต่างประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.00 - 1.25 ต่อปี พร้อมทั้งส่งสัญญาณการเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมทั้งมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ส่วนธนาคารกลางสหภาพยุโรป อังกฤษ และแคนาดา เริ่มส่งสัญญาณ การปรับทิศทางนโยบายการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายทางการเงินทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ยและขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ในระดับเดิมตลอดทั้งไตรมาส ในขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพเชิงมหภาค ผ่านการจำกัดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่ชดเชยสภาพคล่องเพื่อรักษาแนวนโยบายการเงิน ที่เป็นกลาง (Neutral Monetary Policy) ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียต่างยังคงรักษาแนวทางผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ล่าสุดเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควรและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน ส่วนธนาคารกลางของหลายประเทศยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงินไว้เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า มีเพียงธนาคารกลางแคนาดาที่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี (ปรับครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน 2553) โดยปรับขึ้นร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพ แม้กระนั้นก็ตาม ธนาคารกลางสหภาพยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ ลดระดับการส่งสัญญาณการปรับทิศทางนโยบายการเงินลงเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง และในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 6.00 ต่อปี เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สองของปี 2560 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs โดยเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MRR รวมทั้ง MLR ในเดือนพฤษภาคม ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์ ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจนเข้าสู่ระดับติดลบในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เนื่องจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอาหาร โดยเฉพาะราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในช่วง ภัยแล้งของปีก่อนและการลดลงของดัชนีราคาหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีก

ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2560 ธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและ อัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับลดลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของสถาบันรับฝากเงิน ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 4.1 ในไตรมาสนี้ ตามการขยายตัวของสินเชื่อในสาขาการผลิต สาขาการค้าส่งค้าปลีก และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงเล็กน้อยตามการชะลอลงของสินเชื่อภาคครัวเรือนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.59 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.42 ในไตรมาสก่อนซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือน สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวร้อยละ 2.40 ชะลอลงจากร้อยละ 3.82 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้น สำหรับคุณภาพของสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงจากร้อยละ 1.38 เป็นร้อยละ 1.36 ในไตรมาสนี้

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สองของปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นผลจากความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง และในไตรมาสนี้ มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้มากขึ้นโดยคิดเป็นมูลค่ารวม 73.4 พันล้านบาท ประกอบกับประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงคิดเป็นมูลค่า 284.7 พันล้านบาทตลอดทั้ง ไตรมาส ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)1 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย ในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.1 ตามการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินเยน เป็นสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7

ในเดือนกรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ภายหลังอัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ประกอบกับวุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติคัดค้านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจประสบปัญหาจากทั้งงบประมาณที่จะได้มาจากร่างกฎหมายประกันสุขภาพเดิม ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมาก ประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 33.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 จากสิ้นเดือนก่อนหน้า

หมายเหตุ: 1 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปิดที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยในครึ่งแรกของ ไตรมาส ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์ความ ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ก่อนที่ดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสตามการเข้าซื้อของนักลงทุนสถาบันเพื่อปรับมูลค่าสุทธิทางบัญชี (Window Dressing) ท่ามกลางแรงกดดันจากการทยอยขายของนักลงทุนต่างชาติเพื่อรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนมิถุนายน 2560 โดยดัชนีปิด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1,574.7 จุด ใกล้เคียงกับระดับ 1,575.1 จุด ณ สิ้นไตรมาสแรก

ในเดือนกรกฎาคม 2560 SET Index เคลื่อนไหวผันผวนไปตามการคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่สองของปี 2560 ที่ทยอยประกาศออกมา โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,576.1 จุด ตามแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิที่ 6.6 พันล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ในไตรมาสสองของปี 2560 ลดลงในทุกช่วงอายุ ส่วนหนึ่งเป็นการลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับยังมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติในไตรมาสที่สอง มูลค่า 66.2 พันล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.56 ต่อปี ลดลง 19 bps จากไตรมาสก่อน

ในเดือนกรกฎาคม 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในทุกช่วงอายุยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 1 ปี ที่มีการปรับลดมากกว่าพันธบัตรในช่วงอายุอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามอุปทานพันธบัตรระยะสั้นในตลาดที่มีน้อยลง ขณะที่ยังมีความต้องการพันธบัตรระยะสั้นทั้งจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ โดยในเดือนกรกฎาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ลดลง 15 bps 18 bps และ 8 bps ตามลำดับ

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เงินทุนไหลออกสุทธิ 6.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ใกล้เคียงกับการไหลออกสุทธิ 6.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจาก (1) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของกองทุน FIF (Foreign Investment Fund) (2) การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และ (3) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนโดยตรงและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างประเทศ

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลในเกณฑ์สูง 8.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (284.7 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (301.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

รวมครึ่งแรกของปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 23.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (818.9 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 26.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (934.3 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 185.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 31.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.2 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สองของปี 2560)

อัตราเงินเฟ์อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2560 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักและผลไม้ ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศชะลอลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคา ในหมวดพลังงานชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.5 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในไตรมาสแรกของปี 2560 1

รวมครึ่งแรกของปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรกของปี 2560 โดยราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เนื่องจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติชะลอตัวลง ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เนื่องจากการชะลอลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 4.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ในไตรมาสแรกของปี 2560 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์2

รวมครึ่งแรกของปี 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

หมายเหตุ: 2 ในเดือนกรกฎาคม 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.2 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 รวม 7 เดือนแรกของปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

3 ในเดือนกรกฎาคม 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.3 รวม 7 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสสองของปี 2560

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 49.65 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 44.72 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สองของปี 2560 ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2560 ร้อยละ 6.7

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่สองของปี 2560 ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 19.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 14.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ (2) การทยอยปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2560 เป็นเดือนมีนาคม 2561

รวมครึ่งแรกของปี 2560 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ เวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 51.4 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 38.6 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สองของปี 2560

ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เศรษฐกิจโลกขยายตัวเร่งขึ้น โดยเศรษฐกิจสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายการเงินที่ยังอยู่ในระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวได้สูงกว่าการคาดการณ์ การปรับตัวดีขึ้นของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเร่งขึ้นในขณะที่ราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ และกลุ่มประเทศอาเซียนฟื้นตัวเป็นวงกว้างและขยายตัวเร่งขึ้นในหลายประเทศ

การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประเทศสำคัญๆ เริ่มส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับจากปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มติดต่อกันเป็นครั้งที่สามควบคู่ไปกับการเตรียมการปรับลดขนาดงบดุล ในขณะที่ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพยุโรป เริ่มส่งสัญญาณการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้นแม้ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยและปริมาณการซื้อสินทรัพย์ไว้ในระดับเดิมเพื่อสร้าง ความมั่นใจในความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งไตรมาส เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่ยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำให้ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีความแตกต่างจากนโยบายการเงินประเทศต่างๆ มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ยังคงแข็งค่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับเปลี่ยน การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.1 (Advance Estimate) เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 4.4 นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อน ต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่ยังคงปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 สู่ช่วงร้อยละ 1.00 - 1.25 เมื่อวันที่ 13 - 14 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมา และเริ่มพิจารณาแผนเกี่ยวกับการปรับลดงบดุลของธนาคารกลางเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ต่ำสุดในรอบ 8 ปี อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อได้อย่างชัดเจนส่งผลให้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมและคงระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน จนกระทั่งสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2560

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาส ก่อนหน้า นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบสองปีนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจาก อุปสงค์ภายในประเทศตามการขยายตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคครัวเรือน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค นอกจากนี้ การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวดี สำหรับตลาดแรงงานยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิมเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐาน

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.9 ทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สำหรับเสถียรภาพภาคเศรษฐกิจต่างประเทศยังปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,056.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ที่ 3,009.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้าและส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนภายในประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์ที่เร่งขึ้นตามการผลิตภาคบริการ ขณะที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงที่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้และไต้หวันชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารและราคาเครื่องนุ่งห่มก็ตาม โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 3.8 เทียบกับร้อยละ 2.9 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นตาม การส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชน โดยเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 6.2 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 5.2 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 6.4 ในไตรมาสแรก ตามลำดับ

4. เศรษฐกิจโลกในปี 2560

เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ แคนาดา และ กลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญอื่นๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีการฟื้นตัวและกระจายตัวเป็นวงกว้าง อย่างชัดเจนมากขึ้นตามการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการค้าโลกและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าส่งออก

การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ เริ่มกลับสู่ศักยภาพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น ในขณะที่การว่างงานปรับตัวลดลงและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมทั้งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินในบางประเทศ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องและเริ่มเตรียมแผนการปรับลดขนาดงบดุล เช่นเดียวกับธนาคารกลางแคนาดาที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรปและสหราชอาณาจักรส่งสัญญาณของการพิจารณาปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่สาม แม้กระนั้นก็ตาม ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวทางของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลก ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนและ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลสำคัญๆ ในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามปัจจัยสำคัญๆ ประกอบด้วยเงื่อนไข (1) ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายทางการคลังของสหรัฐฯ การปรับเพิ่มเพดาน หนี้สาธารณะ รวมทั้งทิศทางผลการเจรจา NAFTA และผลการพิจารณาและการดำเนินมาตรการทางการค้ากับประเทศที่สหรัฐฯ เห็นว่าดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม (2) ความคืบหน้าของผลการเจรจา BREXIT อาจทำให้บรรยากาศความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในยุโรปและสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น และ (3) เงื่อนไขทางการเมืองและการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งของอิตาลีในช่วงต้นปี 2561

ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกทั้งปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4.0 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.6 ในปี 2559 ตามลำดับ โดยมีรายละเอียดแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละประเทศดังนี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน การเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์และที่อยู่อาศัย และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นและบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตาม ความล่าช้าในการขับเคลื่อนกฎหมายทางการคลังและการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่า จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายน 2560 และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม 2560 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศที่เคยประสบปัญหาวิกฤติและในประเทศสำคัญๆ ที่ทำให้ภาคการคลังสามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและการค้าในกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งในฝรั่งเศส การปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการซื้อสินทรัพย์หากความเสี่ยงจากผลการเจรจา BREXIT ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินยูโรและการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อลดลง อย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งส่งผลให้การลงทุนและภาคการผลิตขยายตัวเร่งขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างล่าช้าและยังไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินได้ในระยะอันใกล้ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มคงระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายและขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม อย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในปี 2559 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ปรับตัวลดลงและสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิตได้มากขึ้น รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของภาครัฐที่มุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากหนี้สะสมในภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงและความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในภาคการเงิน เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตและอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่า เศรษฐกิจฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.5 ในปี 2559 ตามลำดับ ในขณะที่การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคก่อสร้างจะยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 ในปี 2559 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 6.9 และร้อยละ 6.2 ในปี 2559

แผนการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ

การปรับลดขนาดงบดุล หรือ Balance sheet normalization เป็นหนึ่งในวิธีการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่ธนาคารกลางสรัฐฯ (Fed) ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน อย่างขนานใหญ่ในช่วงก่อนหน้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทยอยลดขนาดมาตรการ QE จนสิ้นสุดลงในปี 2557 และทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงปัจจุบันรวม 4 ครั้ง (ธันวาคม 2558 ธันวาคม 2559 มีนาคมและมิถุนายน 2560) และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ณ เดือนมีนาคม 2560 เริ่มส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2560 แผนการปรับลดงบดุล ประกอบด้วย การหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (Re-invest) เดือนละ 6,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และลดการถือครองตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ ค้ำประกัน (MBS) เดือนละ 4,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. รวม 10,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และจะทยอยเพิ่มปริมาณทุกๆ 3 เดือน จนกระทั่งลดขนาดงบดุลได้ 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน โดยแบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 30,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) 20,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับลดงบดุลจาก 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 2.5 - 3.0 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง แม้ว่าการปรับลดงบดุลดังกล่าวจะมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการเพื่อปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและควรเตรียมแผนรองรับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการระดมทุน

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นจากครึ่งปีแรกโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการผลิตสำคัญๆ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งจะทำให้ฐานรายได้ของ ภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ในขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบสำคัญๆ และความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ

แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศสำคัญๆ ที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลกมีความผันผวนและล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะทำให้แรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทยังอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสนับสนุน

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกจากเดิมร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป จีน ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียน (5) ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดการส่งออกของไทยรวมกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 46.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนในการส่งออกประมาณร้อยละ 11.4 ของการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับการประมาณการครั้งก่อนหน้า ปัจจัยดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐและเอกชน แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่สองจะปรับตัวลดลงเนื่องจาก (1) การลดลงของการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีอันเนื่องมาจากการเร่งรัดเบิกจ่ายของหน่วยงานสำคัญๆ ในช่วงก่อนหน้ารวมถึงความล่าช้าที่เกิดจากปัญหาอุปสรรคใน การเบิกจ่ายของบางหน่วยงาน (2) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 ยังอยู่ในระยะแรกของการเบิกจ่าย และ (3) การขอเบิกจ่ายของคู่สัญญาในโครงการสำคัญๆ ยังล่าช้ากว่าความคืบหน้าของงาน แต่การลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานที่การเบิกจ่ายยังมีความล่าช้า รวมทั้งการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่จะเร่งตัวขึ้น และการขอรับการเบิกจ่ายเงินงวดของคู่สัญญาในโครงการลงทุนสำคัญๆ ในขณะที่ การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและเร่งขึ้นอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งในส่วนของการลงทุนในหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์และการก่อสร้าง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสแรกเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่สอง รวมทั้งการเริ่มกลับมาขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานใน เขตเทศบาลในไตรมาสที่สองร้อยละ 16.7 และร้อยละ 111.0 หลังจากการปรับตัวลดลงในไตรมาสก่อนหน้า

3) แนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญๆ ประกอบด้วย (1) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงของนักท่องเที่ยวจากอาเซียน ยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 27.2 ลดลงร้อยละ 3.8 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากจีนเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนและรายรับจากการท่องเที่ยวขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.7 และร้อยละ 3.9 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 7.6 และร้อยละ 8.8 ในไตรมาสที่สอง และมีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังและมีแนวโน้มทำให้จำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีสูงกว่าที่ประมาณการไว้ (2) แนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมตามการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 9.9 ในไตรมาสที่สอง แม้ว่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกสินค้าคงคลังซึ่งทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวล่าช้าก็ตาม แต่การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของสินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมสำคัญๆ คาดว่าจะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.3 ในไตรมาสที่สอง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (3) สาขาการก่อสร้างที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่สอง

4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนที่เริ่มมีความชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลังให้อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง จากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะ (1) ฐานรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี การเพิ่มขึ้นของผลผลิตหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ และสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้นแม้ว่าปัจจัยสนับสนุนด้านราคาจะลดลงตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในประเทศและในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ และการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญจะเริ่มชะลอตัวลง ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ก็ตาม (2) ฐานรายได้ของครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและบริการเกี่ยวเนื่องซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามแนวโน้มการขยายตัวของ การส่งออกและการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และ (3) ฐานรายได้ของครัวเรือนในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นตามจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) สถานการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2560 โดยในกรณีฐานคาดว่าการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ตามฐานการขยายตัวที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ในขณะที่แรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการผลิตนอกภาคเกษตรจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้การผลิตภาคเกษตรชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาการผลิตสำคัญอื่นๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะต้องติดตาม เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

2) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าในตลาดโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน

เงินตราสกุลสำคัญๆและค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญๆ ประกอบด้วย (1) ทิศทางและความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะความล่าช้าในการผลักดันร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2560 และการขยายเพดานหนี้สาธารณะ รวมทั้งการดำเนินนโยบายและมาตรการการค้า โดยเฉพาะการเจรจา NAFTA ผลการตรวจสอบและการดำเนินมาตรการทางการค้ากับประเทศที่สหรัฐฯ มีความเห็นว่าดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม (2) ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ ที่อาจส่งผลให้สภาพคล่องปรับตัวเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มของการเริ่มปรับลดขนาดงบดุลและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่เริ่มส่งสัญญาณของการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น (3) การเจรจา BREXIT ที่เริ่มมีสัญญาณของความล่าช้าซึ่งจะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (4) การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งอิตาลีในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งผลการสำรวจคะแนนนิยม (ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2560) พบว่า พรรค Democratic party (PD) มีคะแนนนิยมนำพรรค Five Star Movement (M5S) เพียงเล็กน้อย (27.3 ต่อ 27.0) ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดจากแนวโน้มความล่าช้าของการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ เมื่อรวมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยที่มีความแข็งแกร่งคาดว่าจะทำให้เงินบาทยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

การขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ

การกำหนดเพดานหนี้สาธารณะนั้นมีไว้เพื่อควบคุมการใช้จ่ายและรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดการก่อหนี้สะสม มากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการและส่งผลผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพดานหนี้สาธารณะในสหรัฐฯ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2460 โดยกำหนดเพดานไว้ที่ 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในระยะแรกเป็นการจำกัดขนาดการออกตราสารหนี้เพียงไม่กี่ประเภทก่อนที่จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกประเภทเงินกู้ยืมทุกประเภทในปี 2482 อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2554 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผชิญปัญหา หนี้สาธารณะสูงกว่าเพดานหนี้ที่กำหนดไว้และมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ทำให้ส่งผลกระทบตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2556 ซึ่งรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการจัดสรรงบประมาณปี 2557 เนื่องจากพรรครีพับรีกันนำเรื่องดังกล่าวมาใช้ต่อรองการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพ (Obama Care) ส่งผลให้นำไปสู่การปิดสถานที่ทำการของรัฐบาลบางแห่งเป็นการชั่วคราวและพนักงานภาครัฐต้องหยุดงานชั่วคราวและไม่ได้รับเงินเดือนประมาณ 8 แสนคน รวมทั้งนำไปสู่กระบวนการปรับลดงบประมาณรายจ่ายอัตโนมัติ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภายหลังการสิ้นสุดลงของกฎหมายระงับใช้เพดานหนี้สาธารณะชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ 19.9 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องดำเนินการแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะอีกครั้งซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า หากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถผ่านกฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้ได้ทันภายในวันที่ 29 กันยายน 2560 สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับปี 2556 - 2557 อีกครั้ง ทั้งในด้านความเสี่ยงจากการปิดสถานที่ทำการภาครัฐ การผิดนัดชำระหนี้ และการบังคับใช้กระบวนปรับลดรายจ่ายอัตโนมัติ เนื่องจากในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2560 รัฐบาลถึงกำหนดที่จะต้องจ่ายเงินสำหรับประกันสังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกษียณอายุราชการทหาร ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอและผิดนัดชำระหนี้ และจำเป็นที่จะต้องปรับลดการใช้จ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุด นาย สตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้สภาครองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมของรัฐสภาในเดือนสิงหาคม 2560 ขณะที่ นายมิก มัลเวนีย์ ผู้อำนวยการสำนักการจัดการงบประมาณ ให้ความเห็นปัญหาดังกล่าวว่ามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การปรับลดการขาดดุลงบประมาณ ในขณะที่ประธานธิบดีโดนัลด์ ทรัมป็ กล่าวว่า การหยุดดำเนินการของหน่วยงานชั่วคราว (Good Shutdown) อาจเป็นสิ่ง ที่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2560

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ

ปรับเพิ่มจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มประมาณการของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ และในช่วงที่เหลือของปี 2560 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ แคนาดา กลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญอื่นๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีการฟื้นตัวและกระจายตัวเป็นวงกว้างอย่างชัดเจนมากขึ้น ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการค้าโลกและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าส่งออก

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 อยู่ในช่วง 34.0 - 35.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ย 35.29 บาท

ต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 และเป็นการปรับจากสมมติฐาน 35.0 - 36.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสที่สอง เฉลี่ยอยู่ที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และแข็งค่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความคืบหน้าของการผลักดันนโยบายด้านการคลังและทิศทาง การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (2) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลัก และ (3) เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งทั้งในด้านการเงิน การคลัง และภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ เมื่อรวมกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่องและ การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามายังประเทศไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2560 ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าแรงกดดัน ด้านการแข็งค่าของเงินบาทจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2560 ในช่วง 47.0 - 57.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 41.4 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 และเป็นการคงสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 50.7 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ผลของการบรรลุข้อตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศในกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 โดยล่าสุดในการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 7-8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คาซัคสถาน และมาเลเซีย ว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง (2) นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือนกันยายนลงอีกประมาณ 520,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนจะปรับลดการส่งออกลงร้อยละ 10.0 ของการส่งออกทั้งหมด (3) ปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะอเมริกาเหนือที่เริ่มปรับตัวลดลง และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยระดับสต็อกน้ำมันดิบ ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2560 อยู่ที่ 1,154.3 ล้านบาร์เรล เทียบกับระดับสูงสุดที่ 1,227.7 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 หรือลดลงร้อยละ 6.0 และ (4) ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลก

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 - 3.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 - 2.5 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของราคาสินค้าส่งออกในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 - 5.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 - 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคานำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ ตามการขยายตัวสูงต่อเนื่องของราคานำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จาก 1.76 ล้านล้านบาท ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.93 ล้านล้านบาทในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่สองขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 14.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ (1) แนวโน้มการขยายตัวสูงของนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (long-stay tourists) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรป รัสเซีย และสหรัฐฯ (2) การขยายท่าอากาศยานที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา ทำให้รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น (3) การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ (4) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความสงบ (5) ผลจากการหยุดจำหน่ายโปรแกรมทัวร์จากจีนไปเกาหลีใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนเปลี่ยนมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น และ (6) การดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (ไม่รวมงบรายจ่ายเพิ่มเติม) ร้อยละ 94.4 ของวงเงินงบประมาณ ปรับลดจากสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 94.8 ในการประมาณการครั้งก่อนตามการปรับลดอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเป็นร้อยละ 76.0 เทียบกับอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 80 ในการประมาณการครั้งก่อน และอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำร้อยละ 98.5 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนหน้า (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 50.0 ลดลงจากสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 61.2 ในการประมาณการครั้งก่อนตามการเบิกจ่ายจริงในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 78.0 เท่ากับสมมติฐานการเบิกจ่ายในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยอัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 18.5 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ (4) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 74.5 ลดลงจากสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 78.0 ในการประมาณการครั้งก่อน (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการน้ำและถนน และอื่นๆ ประมาณ 9,615.1 ล้านบาท เทียบกับ 49,503.5 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559 และ (6) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2560) ร้อยละ 32.0 ของวงเงินงบประมาณ

สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 32.6 ล้านคน และรายรับจากภาคบริการการท่องเที่ยว 1.76 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.3 ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 รายรับจากภาคบริการการท่องเที่ยวลดลงหรือขยายตัวเพียงร้อยละ 5.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 17.7 ในช่วง 3 ไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายไตรมาสที่สองของปี 2560 เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและเร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวสูงกว่าครึ่งปีแรกและทั้งปี 2560 ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ การปรับตัวดีขึ้นที่เร็วกว่าการคาดการณ์ดังกล่าว นอกเหนือจากจะมีปัจจัยสนับสนุนทางด้านจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทยและมาตรการด้านต่างๆ ของภาครัฐแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการหยุดจำหน่ายโปรแกรมการท่องเที่ยวจากจีนไปเกาหลีใต้และ ทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนเปลี่ยนจุดหมาย การท่องเที่ยวมายังประเทศไทยมากขึ้น

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2560

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 โดยมีค่ากลางการประมาณการที่ร้อยละ 3.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ์อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 9.7 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 21 สิงหาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.0 เป็นการปรับเพิ่มประมาณการจากร้อยละ 3.3 - 3.8 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ การขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสที่สองและการปรับเปลี่ยนสมมติฐาน การประมาณการที่สำคัญๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 3.7 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อรวมกับการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่สาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว การก่อสร้าง การผลิตภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ในขณะที่ภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะเริ่มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เงื่อนไขดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.5 ลดลง

2) การปรับสมมติฐานการประมาณการด้านต่างประเทศและการเบิกจ่ายภาครัฐ ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโครงสร้างองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจแตกต่างจากการประมาณการในครั้งก่อน โดยการปรับสมมติฐานด้านต่างประเทศ ประกอบด้วย (1) การปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ (2) การปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกและราคานำเข้า และ (3) การปรับเพิ่มสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 1.93 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นและเป็นปัจจัยหลักในการทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน ในด้านสมมติฐานการเบิกจ่ายภาครัฐ ประกอบด้วย (1) การปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 และ (2) การปรับลดอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 จากร้อยละ 61.2 เป็นร้อยละ 50.0 ซึ่งจะทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการลงทุนภาครัฐลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามฐานรายได้ครัวเรือนในสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคเกษตร ฐานรายได้จากการส่งออก และฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2559 และคงไว้เท่ากับประมาณการครั้งก่อน ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำที่เป็นไปตามที่คาดไว้

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 4.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการการลงทุนภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.9 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 12.6 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนทั้งงบประมาณประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเร่งรัดเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนของเม็ดเงินคงเหลือภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบรายจ่ายเพิ่มเติม ในขณะที่การเบิกจ่ายจากกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการลงทุนสำคัญๆ และการขอรับเงินเบิกจ่ายค่างวดงาน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่สองเริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ แม้ว่ากำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูงของภาคการผลิตจะยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนทั้งปียังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ก็ตาม

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจาก การปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4.0 และการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของราคาสินค้าส่งออกจากเดิมร้อยละ 1.5 - 2.5 เป็นร้อยละ 2.0 - 3.0 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้สูงขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวสูงกว่าประมาณการของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สอง เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มสมมติฐานรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.7 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 5.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เนื่องจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาสินค้านำเข้าจากเดิมร้อยละ 3.5 - 4.5 เป็นร้อยละ 4.0 - 5.0 รวมทั้งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการนำเข้าสินค้าตามการปรับเพิ่มประมาณการการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการปรับเพิ่มการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนซึ่งส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการ คาดว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อน

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 28.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 35.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 และเป็นการปรับลดลงจากการเกินดุล 31.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะเกินดุล 42.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ ร้อยละ 9.7 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 ต่อ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุจากการปรับเพิ่มประมาณการดุลบริการเป็นสำคัญ

6) อัตราเงินเฟ์อเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 0.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากช่วงร้อยละ 0.8 - 1.3 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ รวมทั้งการปรับสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าขึ้นจากเดิม 35.0 - 36.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. มาเป็นอยู่ในช่วง 34.0 - 35.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทยในในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการผลิตภาคเกษตร รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ฐานรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แม้กระนั้นก็ตาม การผลิตภาคเกษตรเพิ่งเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงและความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลกตลอดช่วงสองปีก่อนหน้า ในขณะที่การขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมและการก่อสร้างภาคเอกชน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและฐานรายได้ของประชาชนยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในระดับเศรษฐกิจฐานรากและ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร ในขณะที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศสำคัญๆ ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าตลาดโลกให้มีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งทำให้เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและ อยู่ภายใต้แรงกดดันด้านการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรให้ความสำคัญกับ

1) การป์องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุทกภัยที่อาจส่ง ผลกระทบต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่สำคัญๆ ทั้งในด้านการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงภัยพิบัติ และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

2) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบสำคัญๆ ประกอบด้วย (1) งบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 76 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเบิกจ่ายของหน่วยงานที่มีอัตราการเบิกจ่ายรวม 9 เดือนแรกต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 (2) งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 74.5 (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 78 และ (5) งบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ในไตรมาสแรกไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 19.5

3) การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาลเพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุน การเบิกจ่ายเม็ดเงิน 75,057.2 ล้านบาท โครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและการปกป้องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำบัญชีเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น การปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่ การหาตลาดและขยายตลาดโดยเฉพาะ ตลาด CLMV การส่งเสริมค่านิยมการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและแรงงานต่างชาติ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการการศึกษาทวิภาคีและการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างชาติ

4) การดูแลรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างอำนาจต่อรอง ทางการตลาด การปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต และการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย

5) การดำเนินการให้การผลิตนอกภาคเกษตรมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่และสามารถขับเคลื่อน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเพียงพอในช่วงที่แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิต ภาคเกษตรชะลอตัวลง ประกอบด้วย (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวเป็นวงกว้างและเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง การติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ (2) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง การกระตุ้นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้าให้มีการลงทุนจริงในปี 2560 การดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ และ (3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว อาทิ การดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การแก้ไขปัญหา ความแออัดและการอำนวยความสะดวกของด่านตรวจคนเข้าเมือง การส่งเสริมการขายในตลาด กลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และนักท่องเที่ยวระยะไกล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560 1

                                                      ข้อมูลจริง                   ประมาณการ ปี 2560
                                                 ปี 2558      ปี 2559        ณ 15 พ.ค. 60     ณ 21 ส.ค. 60
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)                   13,672.9    14,366.6            15,156.7         15,185.5
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                        203,356.3   212,980.2           224,034.3        224,459.0
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)              399.2       407.1               426.9            440.2
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)                 5,937.0     6,035.1             6,310.8          6,506.1
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                      2.9          3.2           3.3 - 3.8        3.5 - 4.0
การลงทุนรวม (CVM, %)                                 4.4         2.8                 4.4              3.4
ภาคเอกชน (CVM, %)                                  -2.2         0.4                 2.0              2.2
ภาครัฐ (CVM, %)                                     29.3         9.9                12.6              8.0
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                           2.2         3.1                 3.0              3.2
การอุปโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                           3.0         1.7                 3.2              3.2
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                0.7         2.1                 2.9              4.9
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               214.1       214.1               221.8            226.3
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)  2/                        -5.6         0.1                 3.6              5.7
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                        -1.5         0.5                 1.6              3.2
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                0.0        -1.4                 3.5              5.6
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               187.2       178.4               190.8            197.4
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)  2/                       -10.6        -5.1                 7.0             10.7
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                         0.3        -2.5                 3.0              6.2
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                         26.8        35.8                31.0             28.9
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                    32.1        46.8                38.8             42.5
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                              8.1        11.5                 8.9              9.7
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                      -0.9         0.2           0.8 - 1.3        0.4 - 0.9
GDP Deflator                                        0.6         1.8           1.5 - 2.5        1.5 - 2.5

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 21 สิงหาคม 2560
หมายเหตุ: 1/เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
         2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ