ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง ปี 2561 และแนวโน้มปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 13:35 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 20 สิงหาคม 2561 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.8
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาการขายส่งและ การขายปลีกฯ ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัวตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่สาขาการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 โดยมีแรงสนับสนุน ที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและ ภาคการผลิตสำคัญๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการติดตามและดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของ ภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และ (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย และนักลงทุนในประเทศที่ประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า (2) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย (i) การฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตร (ii) การดำเนินการตามมาตรการสวัสดิการ แห่งรัฐ มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้และการลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน (3) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่างๆ ให้มีเพียงพอต่อการสร้างแรงขับเคลื่อน ทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในขณะที่การส่งออกบริการชะลอตัว ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัวตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่สาขาการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.8

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของ ฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 25.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนียอดขายบริการคมนาคมขนส่ง ขยายตัวร้อยละ 7.7 ร้อยละ 12.0 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.5 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอย และหมวดค่าตอบแทน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.8 (สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 22.0)

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.6

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ ร้อยละ 6.6 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.4 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 12.3 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 14.5) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 4.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 31.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 22.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 28.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 12.4) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 23.9) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.8) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 7.7) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และออสเตรเลีย เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 124,803 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 3,961 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6

4) ภาคเกษตร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ จากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา เป็นต้น ในขณะที่ ผลผลิตมันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 18.1) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 108.7) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 39.3) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ยางพารา (ร้อยละ -27.8) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ -13.1) อ้อย (ร้อยละ -20.7) สุกร (ร้อยละ -9.9) และปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ -18.8) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 9.2 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 จากการขยายตัวร้อยละ 4.0 และร้อยละ 7.5 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สองตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60)ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสที่สองที่สูงสุดนับจากปี 2557 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 11.5) น้ำตาล (ร้อยละ 40.5) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 16.3) พลาสติกและยาง (ร้อยละ 7.2) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.9) ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 3.9) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 2.8) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 2.6) และการแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ 1.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การทอผ้า (ร้อยละ -15.1) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -5.0) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ -2.9) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -2.6) เป็นต้น

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.5

6) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 9.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 442.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 11.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1,015.9 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 73.5

7) สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำขยายตัวร้อยละ 4.2 ร้อยละ 10.5 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ ในขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 11.6 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.2 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 10.9

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้การส่งออก และภาคการผลิตสำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2561 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวเร่งขึ้น ตามการเร่งขึ้นของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน และรายจ่าย ในหมวดอื่น ๆ ที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 25.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนียอดขายบริการคมนาคมขนส่ง ขยายตัวร้อยละ 7.7 ร้อยละ 12.0 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากการลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.5 เทียบกับระดับ 66.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนภาคเอกชน:ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ ของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในประเทศ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ร้อยละ 6.6 ร้อยละ 7.6 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ ในขณะที่ การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ในประเทศที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ มูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 118.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 และมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 148.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.4 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 51.3 เทียบกับระดับ 52.4 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การส่งออก: การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2561 มีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 8 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์จากต่างประเทศ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น และ (2) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.6) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4.1) และราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.4) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 2,013 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 124,803 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 3,961 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ เช่น ราคายางพาราและราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว และมันสำปะหลัง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และโกดิวัวร์ โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.8 เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการซื้อข้าวหลังจากที่มีการนำเข้าข้าวเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหน้า มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ในขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักยังคงมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 28.7 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.6 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 23.0 เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดโลก ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 13.9 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 30.0 เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังเกาหลีใต้และอินโดนีเซียเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 14.1 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8) สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 31.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 22.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 28.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.4) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 23.9) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 12.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.8) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 7.7) เป็นต้น มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 9.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 12.9 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์สินค้าส่งออกอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 37.3

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และออสเตรเลีย ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 6.6 ร้อยละ 11.1 และร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.0 ร้อยละ 10.5 และร้อยละ 24.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวร้อยละ 15.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สำหรับการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 19.6 และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 7.6 เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 10.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 14.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 57,210 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 17.9 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ในรูปของเงินบาทการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,826 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 112,363 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 3,566 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3

ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และเครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 14.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สินค้าที่มีมูลค่า การนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์ขยายตัวร้อยละ 10.3 ส่วนการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 9.4 หลังจากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ไตรมาสก่อนหน้า

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 110.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2561

รวมครึ่งแรกของปี 2561 อัตราการค้าอยู่ที่ระดับ 108.3 เทียบกับระดับ 110.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (186.8 พันล้านบาท) น้อยกว่าการเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (208.7 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (243.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 12.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (395.6 พันล้านบาท) เทียบกับ การเกินดุล 16.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (575.0 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

ภาคเกษตร:ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก ในรอบ 4 ไตรมาส ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ร้อยละ 12.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศรวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝน ที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) อ้อย เพิ่มขึ้นร้อยละ 520.4 ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก และการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนที่เหมาะสม รวมทั้งการรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไตรมาสแรกเพื่อ ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลในไตรมาสที่สองของปี 2561 ซึ่งทำให้ผลผลิตอ้อยที่เก็บเกี่ยวในไตรมาสนี้สูงกว่าปกติ (2) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น (3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่และเนื้อที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และ (4) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เนื่องจากพื้นที่กรีดยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น (1) มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 30.7 ตามการลดลงของพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น (2) สุกร ลดลงร้อยละ 1.1 ตามความต้องการของต่างประเทศที่ลดลง (3) กุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 0.3 เป็นผลจากเกษตรกรลดปริมาณ การลงลูกกุ้ง เนื่องจากราคากุ้งขาวมีทิศทางลดลง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ลดลง ได้แก่ (1) ยางพาราเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น (2) กลุ่มไม้ผล ตามการลดลงของราคาผลไม้ เช่น มะม่วงเขียวเสวย สับปะรด มังคุด เป็นต้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (3) อ้อย ตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณส่วนเกินของผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลก และ (4) ปาล์มน้ำมันสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 18.1) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 108.7) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 39.3) การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 9.2 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7

สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกและการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นและเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสที่สองที่สูงสุด ในรอบ 5 ปี ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 40.5) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 11.5) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 2.6) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิต ในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.6) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 7.2) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 2.8) และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 3.9) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.4 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 16.3) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.9) และการแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ 1.2) การปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสที่สองที่สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 21 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 จำนวน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 100.1) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 86.1) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 84.0) และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 80.1) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 80 จำนวน 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 77.6) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 77.5) การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 70.0) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ (ร้อยละ 66.4) การผลิตยางล้อและยางใน (ร้อยละ 64.8) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 64.8) และการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 61.4)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 11.5) การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 40.5) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 16.3) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 7.2) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.9) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.6) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 3.9) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 2.8) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 2.6) และการแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ 1.2) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การทอผ้า (ร้อยละ -15.1) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -5.0) การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ -2.9) และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -2.6) เป็นต้น

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.5

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยว ต่างประเทศ ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 15.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน (สัดส่วนร้อยละ 31.1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 4.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ลาว (สัดส่วนร้อยละ 4.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 10.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 2.9) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 442.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 19.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.40 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.46 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 11.1 ปรับตัวดีขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1,015.9 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 73.48

สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม: ขยายตัวในเกณฑ์สูงตามการขยายตัวของการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวเร่งขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมร้อยละ 5.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 โดยหมวดการขายยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 (2) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยหมวดการขายส่งสินค้าเฉพาะประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 (เช่น การขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต) และหมวดการขายส่งเครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 และ (3) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ ร้านขายปลีกเครื่องสำอาง) และหมวดร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7

รวมครึ่งแรกของปี 2561 สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ขยายตัวร้อยละ 7.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8

สาขาการขนส่ง และการคมนาคม: ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างประเทศและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 6.9 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นทั้งบริการขนส่งสินค้าและบริการขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 4.2 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 10.5 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 9.0 นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ ผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.2 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 10.9

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ขยายตัวต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา เป็นสำคัญ ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงเล็กน้อย ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ยาสูบ และเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มสิ่งทอ ยาสูบ และเฟอร์นิเจอร์ ที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ปรับตัวลดลงตามอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าในบริการขนส่งขยายตัวเร่งขึ้น (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 1.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซที่ส่งเข้า โรงแยกก๊าซ เนื่องจากการผลิตก๊าซภายในประเทศและการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และ (3) กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาขยายตัวร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของปริมาณการใช้น้ำประปาในการผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นสำคัญ

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.8 กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 3.7 และกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาลดลงร้อยละ 0.7

สาขาก่อสร้าง:ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชนและการกลับมาขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ในไตรมาสที่สองของปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาส ก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส ก่อนหน้า โดยการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 12.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐบาลยังปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง ร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และการก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ในขณะที่การก่อสร้างอาคารโรงงานลดลงร้อยละ 2.3 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 7.9) หมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 2.5) หมวดคอนกรีต (ร้อยละ 1.6) และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 0.3) เป็นสำคัญ

รวมครึ่งแรกของปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ

ผู้มีงานทำ: ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตร ในขณะที่ผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 31.7) ขยายตัวร้อยละ 3.0 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือกและอ้อย เป็นต้น ในขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 68.3)ลดลงร้อยละ 0.01 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 ของผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรม และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ของผู้มีงานทำในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.1 โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 4.1 แสนคน

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2561 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2

ด้านการคลัง

ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2561 (เมษายน - มิถุนายน 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 753,737.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 9.2 และ ร้อยละ 2.9 ตามลำดับ เป็นผลจาก (1) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ตามการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้า (2) การจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 เนื่องจากการชำระภาษีย้อนหลังและผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น (3) การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เนื่องจากผลประกอบการภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น และ (4) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ตามการขยายตัวของปริมาณการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและภาษีสรรพสามิตเบียร์ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.7 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 256 1 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,832,119.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 3.5

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 803,916.3 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) 695,461.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.2 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 22.8 (สูงกว่าเป้าหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 และสูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) แบ่งเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 603,657.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 25.0 (สูงกว่าเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 22.0 และสูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 22.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 91,803.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 14.5 (ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 22.0 และต่ำกว่าอัตรา การเบิกจ่ายร้อยละ 15.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

(2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้จ่ายเหลื่อมปี มีจำนวนทั้งสิ้น 42,736.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 58.3 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 13.2 (สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 9.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 71,076.4 ล้านบาท2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ 906.5 ล้านบาท (โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) เทียบกับ การเบิกจ่าย 2,379.1 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2,508,358.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 0.2) เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี(รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) จำนวน 2,166,181.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1,893,447.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 78.3 สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 75.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 272,733.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 (อัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 43.1 ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 65.1 และต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่าย ร้อยละ 50.7 ในช่วงเดียวของปีก่อน) สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 170,418.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.3 โดยมีอัตราการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 52.6 ของงบประมาณกันไว้ เบิกเหลื่อมปีทั้งหมด ขณะที่งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ(ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด) คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 182,133.2 ล้านบาท3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และเงินกู้นอกงบประมาณเบิกจ่าย 2,525.2 ล้านบาท

หมายเหตุ: 1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เงินกู้นอกงบประมาณ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมงบลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด และไม่รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี)

2 รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 6,264.3 ล้านบาท

3 รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 12,899.2 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,531,509.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.8 ของ GDP แบ่งเป็น เงินกู้ภายในประเทศ 6,275,118.6 ล้านบาท (ร้อยละ 38.2 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 256,391.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.6 ของ GDP) และแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,227,322.1 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 918,944.8 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 376,404.8 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,838.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.0 ร้อยละ 14.1 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 21,801.0 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 40,266.0 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 102,180.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 164,247.0 ล้านบาท มากกว่าการเกินดุลช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.3 และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 262,555 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้น ไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 426,802.0 ล้านบาท

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 493,917.0 ล้านบาท เกินดุลเงินนอกงบประมาณ 9,373.0 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 387,588.0 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 70.4 ของกรอบวงเงินขาดดุล 550,358.1 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้ 96,956.0 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม และ 20 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสามารถปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่ค่ากลางของกรอบเป้าหมาย เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2561 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 - 2.00 ต่อปี ตามอัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ได้ประกาศแผนยุติการเข้าซื้อพันธบัตร โดยจะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรจากเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโร เป็นเดือนละ 1.5 หมื่นล้านยูโร ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม จนสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงินในเดือนธันวาคม 2561 แต่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2562 และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ได้ประกาศขยายกรอบเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ยังคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม สำหรับธนาคารกลางในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังรักษาแนวทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นธนาคารกลางบางประเทศได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2561 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และรองรับความเสี่ยงจากความ ผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2561 ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างที่สะท้อนภาวะตลาดแรงงานตึงตัว ทั้งยังถือเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2561 ที่ปรับตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่วนธนาคารของประเทศในภูมิภาคยังคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า

อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สองของปี 2561 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับตัวลดลง

ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2561 ธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ย เงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2561

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2561 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชน ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้าและ ร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ตามลำดับ โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อซื้อและเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ สอดคล้องกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจเร่งตัวขึ้นในกลุ่มสินเชื่อการขายส่งและการขายปลีกและสินเชื่อการผลิตโดยเฉพาะในสาขาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นสำคัญ สำหรับคุณภาพของสินเชื่อ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 2.94 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.3 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า โดยการอ่อนค่าของเงินบาท เป็นผลของการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ สรอ. การไหลออกของเงินลงทุนในตลาดทุนของนักลงทุนต่างชาติ และการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ ค่าเฉลี่ยของดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า จากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมัน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ขณะที่เงินบาทได้รับแรงกดดันจากการไหลออกของเงินลงทุนจากต่างชาติ หลังความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาท ยังเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐาน ของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและอยู่ในกรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน บัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง

ในเดือนกรกฎาคม เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) และย้ายเงินลงทุนออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 2.5 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

หมายเหตุ: 4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของ ค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในไตรมาสนี้เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางปรับลดลงตามภาวะ ตลาดทุนโลกที่ได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์การค้าโลก การคาดการณ์ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (risk off) โดยเฉพาะสินทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดย SET Index ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน ตามสถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางและประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ SET ยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายกีดกัน ทางการค้าของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป แม็กซิโก และแคนาดา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ตลอดจนการไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันในเรื่องนโยบายการค้าในการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศ G7 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งนำไปสู่การยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้า และ SET Index ปรับลดลงอีกครั้งเช่นเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาค ในช่วงที่ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมรอบเดือนมิถุนายน ซึ่งมูลค่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมีขนาดเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส SET index ปิดที่ 1,595.58 จุด ลดลงจาก 1,776.26 จุด ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2561 เพิ่มขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ โดยการปรับเพิ่มขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นไปตามการคาดการณ์ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินและความกังวลของนักลงทุนเรื่องการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้นอย่างเด่นชัดในเดือนเมษายน อันเป็นผลจากการเร่งตัวของราคาน้ำมัน และปรับขึ้นอีกครั้งภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคมดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องการขยายขอบเขตสงครามการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศพันธมิตร และสถานการณ์การเมืองในประเทศอิตาลี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป สร้างแรงกดดันให้ Yield พันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ในช่วงที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมรอบเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส Yield พันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.70 และ 2.79 ต่อปี ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสแรก ที่ร้อยละ 1.34 และ 2.56 ต่อปี ตามลำดับ

ในเดือนกรกฎาคม 2561 ภาวะตลาดทุนโลกเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดย SET Index มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาเป็นสถานะซื้อสุทธิ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ ตามการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยเป็นผลจากความกังวลของนักลงทุนต่อข่าวการปรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไปในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังไม่เข้าเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ในช่วงปลายเดือน โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,701.79 จุด ในขณะที่ Yield พันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.76 และ 2.71 ต่อปี ตามลำดับ

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสที่สองของปี 2561 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 7.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ และการไหลออก ของเงินลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (205.9 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (292.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 15.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (471.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 0.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

รวมครึ่งแรกของปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 21.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (677.5 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (843.6 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 206.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 33.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.8 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สองของปี 2561)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 ในไตรมาสแรกของปี 2561 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผักสด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรกของปี 2561 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในไตรมาสแรกของปี 2561 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรกของปี 2561 5

รวมครึ่งแรกของปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสแรกของปี 2561 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมืองเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลง โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และปลาและสัตว์น้ำ6

รวมครึ่งแรกของปี 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

หมายเหตุ: 5 ในเดือนกรกฎาคม 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

6 ในเดือนกรกฎาคม 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.1

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สองของปี 2561

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 71.66 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 จาก 49.65 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สองของปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2561 ร้อยละ 11.7

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 99.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 98.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ และจีน เฉลี่ยอยู่ที่ 20.19 และ 13.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20.03 และ 13.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 14.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 14.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก และ (3) ปัจจัยความไม่สงบด้านภูมิรัฐศาสตร์จากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบียและเวเนซุเอลา และมาตรการคว่ำบาตร ของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา

รวมครึ่งแรกของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 67.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 51.44 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สองของปี 2561

ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นเข้าสู่การขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน จีน และประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญอื่น ๆ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากไตรมาสแรก การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง

การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศพัฒนาแล้ว ที่สำคัญ ๆ ได้ส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงและเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะสหรัฐฯ (ต่ำสุดในรอบ 17 ปี) กลุ่มประเทศยูโรโซน (ต่ำสุดในรอบ 9 ปี) ญี่ปุ่น (ต่ำสุดในรอบ 25 ปี) แคนาดา (ต่ำสุดในรอบ 42 ปี) และสหราชอาณาจักร (ต่ำสุดในรอบ 43 ปี) ในขณะที่ช่องว่างการผลิต (Output gap) ปิดตัวลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงการขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพในบางประเทศ สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นและกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินในบางประเทศ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ ส่งสัญญาณปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศแผนการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์

แม้กระนั้นก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นและในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลัก และความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความผันผวน เมื่อรวมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ รวมทั้งลดแรงกดดันจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สอง (Advance estimate) ขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสุทธิ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งส่งออกไปยังประเทศจีนก่อนที่มาตรการการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจะมีผลบังคับใช้ ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวสอดคล้องกับการชะลอตัวของการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 3.9 ต่ำสุดในรอบ 17 ปี (โดยในเดือนพฤษภาคม อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่ำสุดในรอบ 48 ปี) ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อ (Core PCE Price Index) ในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อน และเข้าใกล้เป้าหมายร้อยละ 2.0 ของนโยบายการเงิน ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 สู่ช่วงร้อยละ 1.75 - 2.00 ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2561 และส่งสัญญาณของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาก็ตาม

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และออสเตรีย เป็นสำคัญ โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับ การปรับตัวลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 8.3 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.7 แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.0 ของนโยบายการเงิน ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2561 และได้ประกาศแผนการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโร ในเดือนตุลาคมจนกระทั่งสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 ควบคู่ไปกับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2562

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกซึ่งส่งผลให้การผลิตขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าตามการใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิกปี 2563 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัย การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 2.4 ต่ำสุดในรอบ 25 ปี (นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2536) ในขณะที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 21 ปี (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มโบนัสประจำปีในเดือนมิถุนายน แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ร้อยละ 3.0) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่ำกว่าร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษามาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม แต่ขยายกรอบอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีให้กว้างขึ้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เกิดจากมาตรการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจและการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 160.3 ต่อ GDP ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวลดลงเป็น 3,112.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 เทียบกับ 3,142.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 สอดคล้องกับค่าเงินหยวนในไตรมาสที่สองที่อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.2 อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศปรับลดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement Ratio: RRR) เป็นร้อยละ 15.5 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ภายหลังจากปรับลดครั้งแรกในเดือนเมษายน 2561 และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็ก

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้และไต้หวันขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.3 ตามลำดับ เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 และ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 และร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 4.5 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 5.4 ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2561

เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกของเศรษฐกิจหลักหลายประเทศ อาทิ จีน กลุ่มประเทศยูโรโซน แคนาดา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยพื้นฐานทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาสำคัญอื่น ๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกและการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อรวมกับการขยายตัว ในเกณฑ์ดีของประเทศสำคัญ ๆ ในครึ่งปีแรก คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 และเศรษฐกิจออสเตรเลีย จะขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2560 นอกจากนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อาทิ เศรษฐกิจอินเดียที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 เร่งขึ้นจาก ร้อยละ 6.2 ในปี 2560 และเศรษฐกิจรัสเซียจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปีก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจจีน กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ

การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น และอัตราการว่างงานในครึ่งปีแรกของหลายประเทศปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น แคนาดา และสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร และฟิลิปปินส์ และเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และยูโรโซน เมื่อรวมกับแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะทำให้ประเทศสำคัญ ๆ ปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการส่งสัญญาณ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแคนาดา และสหราชอาณาจักร และแผนการปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์จาก 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 1.5 หมื่นล้านยูโร ในเดือนตุลาคมก่อนที่จะยุติลงในเดือนธันวาคม 2561 ของธนาคารกลางยูโรโซน ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อเนื่องจากปี 2560 ทั้งอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสำคัญ ๆ และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก และการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรซึ่งเกิดจากการปรับลดขนาดงบดุลของประเทศสำคัญ ๆ และการเพิ่มขึ้นของการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้นตามลำดับ

ในกรณีฐาน คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2560 โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าระดับการจ้างงานเต็มที่ ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 3.9 ต่ำสุดในรอบ 17 ปี ท่ามกลางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ที่มีความชัดเจนมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากกฎหมายปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้แรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งในกรณีฐาน คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสองครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2561 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 2.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโรและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในกลุ่มประเทศยูโรโซนและในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้น ของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงเป็นร้อยละ 8.3 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขทิศทาง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลอิตาลีและสเปน รวมทั้งเงื่อนไขในภาคสถาบันการเงินในบางประเทศที่ยังมีความอ่อนแอซึ่งอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากวิกฤติเศรษฐกิจในตุรกี และทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะรักษาการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิมจนถึงเดือนกันยายน และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการตามแผนการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์จาก 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะยุติมาตรการดังกล่าว ณ สิ้นปี 2561 ตามที่ธนาคารกลางยุโรป ได้ส่งสัญญาณในช่วงก่อนหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.7 ในปี 2560 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจร้อยละ 1.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 สำหรับเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก ตามแนวโน้ม การขยายตัวของการส่งออกซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนและส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับการลดลงของอัตราการว่างงานซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่ำสุดในรอบ 25 ปี ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีฐาน คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.9 ในปี 2560 โดยการขยายตัวมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวของการลงทุนภายใต้การปรับโครงสร้างการผลิตและการดำเนินการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) รวมทั้งมาตรการลดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องและการลดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคครัวเรือนและธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมทั้งความเสี่ยงในภาคการเงินสะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มจะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องและสูงกว่าการคาดการณ์ ในบางประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.1 เทียบกับร้อยละ 2.9 ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.1 ในปี 2560 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ตามการขยายตัวของการส่งออกซึ่งได้รับ แรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้ากับประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 5.4 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 6.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.1 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 6.8 ในปี 2560 ตามลำดับ ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวร้อยละ 5.4 ชะลอลงจากร้อยละ 5.9 ในปี 2560

แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่ามาตรการสำคัญ ๆ ที่มีผลในทางปฏิบัติแล้วและที่กำลังจะมีผลในทางปฏิบัติภายในไตรมาสที่สามของปี จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในขอบเขตที่จำกัดก็ตาม แต่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายขอบเขตของมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในกรณีที่หากสหรัฐฯ ดำเนินการ ตามมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ จากทุกประเทศ ในขณะเดียวกันความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์สูง ตาม (1) การปรับการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายและการดำเนินนโยบายที่เกิดขึ้นจริงของประเทศสำคัญ ๆ ทั้งในด้านทิศทางนโยบายการเงิน นโยบายการค้า และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งทิศทางนโยบายของสเปนและอิตาลีหลังการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (2) ความเสี่ยงต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ในประเทศเศรษฐกิจหลักและความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน (3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งผล ให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ และ (4) ความคืบหน้าการเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมทั้งผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตสำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเริ่มเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของราคาสินค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับ

ปัจจัยสนับสนุน

1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคการผลิตสำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ (1) การผลิตภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 26.2 ของ GDP) ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นตามลำดับจากเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เป็นร้อยละ 3.8 ในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 3.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 (2) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร (สัดส่วนร้อยละ 5.5 ของ GDP) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 11.1 ในครึ่งแรกของปี 2561 และ (3) สาขาการขนส่งและการคมนาคม และสาขา การขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.3 และร้อยละ 6.3 ในปี 2560 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นร้อยละ 7.2 และร้อยละ 7.1 ในครึ่งแรกของปี 2561 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของกิจกรรมท่องเที่ยวและส่งออก สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2561 ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ จะขยายตัว ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลให้รายได้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวทั้งปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ และสามารถสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิตสำคัญ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

2) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 มูลค่าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) อยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการสนับสนุนทางตรงผ่านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลซึ่งเร่งตัวขึ้นจากการลดลง ร้อยละ 0.1 ในครึ่งแรกของปี 2560 เป็นการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 รวมทั้ง การสนับสนุนทางอ้อมผ่านการใช้จ่ายในหมวดเงินโอนและอื่น ๆ ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี) 1.24 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตาม (1) แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายงบลงทุน สะท้อนจากการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนรวมวงเงินที่ได้ลงนามในสัญญาแล้ว (PO) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน เทียบกับร้อยละ 59.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การเพิ่มขึ้น ในเกณฑ์สูงของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 16.7 และร้อยละ 89.2 ตามลำดับ (3) การเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีโครงการเข้าสู่ช่วงของการก่อสร้างมากขึ้น

ความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ

โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้ามากขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2561 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559) จำนวน 20 โครงการ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan ปี 2560) จำนวน 36 โครงการ ที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 21 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 725,911 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 14 โครงการ วงเงินรวม 705,501 ล้านบาท เช่น โครงการทางหลวงพิเศษ สายพัทยา-มาบตาพุด โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการรถไฟทางคู่สายนครปฐม-ชุมพร เป็นต้น และโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 7 โครงการ วงเงินรวม 20,410 ล้านบาท รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติ 224,544 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนประกวดราคา และคาดว่าจะสามารถลงนามได้ก่อนสิ้นปี 2561 ในขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน อู่ตะเภา (MRO) และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (LCB) คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงกระบวนการก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2561 จำนวน 9 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 489,366 ล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาและเริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2561 และต่อเนื่องไปยังช่วงกลางปี 2562 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนให้การลงทุนรวมของประเทศสามารถขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง

3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน จากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในครึ่งแรกของปี 2560 เป็นร้อยละ 2.5 และร้อยละ 3.2 ในครึ่งหลังของปี 2560 และในครึ่งแรกของปี 2561 ตามลำดับ โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือซึ่งเร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.2 ในช่วงเดียวกัน สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งในไตรมาสที่สองของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 66.6 และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสที่สองซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตาม (1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีความต้องการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือ (ร้อยละ 80 ของการลงทุนภาคเอกชน) เพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น จากข้อมูลในไตรมาสที่สองของปี 2561 พบว่า ในจำนวนอุตสาหกรรมหลัก 21 รายการ มีอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 จำนวน 4 อุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 71 - 80 จำนวน 2 อุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 70 จำนวน 5 อุตสาหกรรม (2) การปรับตัวดีขึ้นของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน 642.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 22.4 และ (3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ของภาครัฐภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในด้านการก่อสร้างมากขึ้น

4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้นของปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร เมื่อรวมกับการปรับตัวในทิศทาง ที่ดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ บางรายการ เริ่มส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรโดยรวมในไตรมาสที่สองของปี 2561 กลับมาขยายตัว (2) การปรับตัวดีขึ้นของการมีงานทำซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตสำคัญ ๆ โดยเฉพาะจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตร (สัดส่วน ร้อยละ 31.7) ในครึ่งปีแรกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนร้อยละ 4.5 และเป็นการเพิ่มต่อเนื่องทุกเดือนสอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของผลผลิตภาคเกษตร และจำนวนผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 16.7) ซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่สอง และเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมที่ทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินลดลง และกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้มีงานทำในสาขาบริการที่พักแรมและอาหาร (สัดส่วนร้อยละ 7.5) ที่ขยายตัว ร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการปรับตัวดีขึ้นของ อุปสงค์ภายในประเทศ7

หมายเหตุ: 7 ข้อมูลล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2561 ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของการมีงานทำอย่างต่อเนื่องทั้งการมีงานทำในภาพรวมที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการมีงานทำในภาคเกษตร สาขาการผลิต และสาขาก่อสร้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.6 (เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน) ตามลำดับ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัย ในช่วงครึ่งปีแรกการผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.3 และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีแรก (Contribution to growth) ถึงร้อยละ 0.7 ในกรณีฐาน คาดว่าการผลิตภาคเกษตรจะสามารถขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัว ทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณน้ำในเขื่อนและปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม พื้นที่การผลิตภาคเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นไตรมาสที่สามของปี 2561 แม้ว่าข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2561 จะแสดงให้เห็นว่าจำนวนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สถานการณ์อุทกภัยและผลกระทบต่อภาคการผลิตในช่วงที่เหลือของปี 2561 อาจมีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นความเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2) แรงต้านจากฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญ ๆ ที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจ ในครึ่งปีแรกจะขยายตัวในเกณฑ์สูง แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ในไตรมาสที่สองเริ่มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น สำหรับในช่วง ที่เหลือของปี แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับพลวัตการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงช้า ๆ อย่างต่อเนื่องตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

3) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงิน เข้าสู่ภาวะปกติของประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ และแคนาดา ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งธนาคารกลางกลุ่มประเทศยูโรโซนที่กำหนดแผนการชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ก่อนที่จะยุติมาตรการขยายปริมาณเงิน และธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้วัฏจักรดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ราคาน้ำมันในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ไว้ แม้ว่าในกรณีฐานจะคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีก็ตาม แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้ามากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ

4) ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของจีนมีความชัดเจนมากขึ้น (รายละเอียดตามกล่องข้อความ) แม้ว่าผลกระทบจากมาตรการที่มีผลบังคับใช้แล้วและมาตรการที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสที่สามของปี 2561 ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยจะอยู่ในขอบเขตจำกัด รวมทั้งไทยสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวก็ตาม แต่มาตรการดังกล่าวเริ่มมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยบางรายการมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว นอกจากนั้น ในกรณีที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมโดยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากทุกประเทศ จะทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2562 รวมทั้งมีความเสี่ยงที่มาตรการกีดกันการค้าและมาตรการตอบโต้จะขยายขอบเขตมากขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์สูงตาม (1) การปรับการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินและค่าเงินในประเทศสำคัญ ๆ ที่ยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ (2) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของตุรกี และความเสี่ยงต่อวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ เช่น อาร์เจนตินา และเวเนซุเอลา เป็นต้น (3) เงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ และสหราชอาณาจักรซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของการเจรจา BREXIT และ (4) ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

ผลกระทบและโอกาสจากการดำเนินมาตรการการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ และจีน

ในปี 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย (1) การเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอละมิเนียมจากทุกประเทศ (ยกเว้นให้บางประเทศในภายหลัง) เป็นอัตราร้อยละ 25 และร้อยละ 10 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 (2) การเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ครอบคลุมสินค้าจำนวน 1,097 รายการ ในกลุ่มสินค้าซึ่งหากจัดตามพิกัดศุลกากร 8 หลัก (16 หมวด ตาม HS 2 หลัก) มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 25 ครอบคลุมสินค้านำเข้า 818 รายการ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 และระยะที่ 2 การเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 25 ครอบคลุมสินค้านำเข้า 279 รายการ มูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ในขณะที่จีนตอบโต้มาตรการระยะที่ 1 ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ครอบคลุมสินค้า 545 รายการ (19 หมวด ตาม HS 2 หลัก) มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เท่ากัน อัตราภาษีนำเข้าเดียวกัน (ร้อยละ 25) และมีผลบังคับใช้วันเดียวกัน (6 กรกฎาคม 2561) และตอบโต้มาตรการระยะที่ 2 โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ครอบคลุมสินค้า 114 รายการ (8 หมวด ตาม HS 2 หลัก) มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เท่ากัน อัตราภาษีเดียวกัน และจะมีผลบังคับใช้ทันทีที่มาตรการระยะที่ 2 ของสหรัฐฯ มีผลในทางปฎิบัติในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 (3) การประกาศที่จะพิจารณาจัดเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมครอบคลุมสินค้า มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ด้วยอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการประกาศที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมครอบคลุมสินค้า 5,207 รายการ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. (4) การตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมายการค้า (Trade Expansion Act 1962) ซึ่งนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าอาจนำไปสู่การที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทุกประเทศในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ใช้จัดเก็บจากเหล็กและอะลูมิเนียม

จากการตรวจสอบและติดตามข้อมูลพบว่าผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในข้อ (1) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมมีสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เท่านั้น โดยพบว่ามูลค่าการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.6 และมูลค่าส่งออกอลูมิเนียมไปตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวร้อยละ 30.2 สำหรับมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. และมาตรการตอบโต้จากจีนตามข้อ (2) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อไทยในขอบเขตจำกัดเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังมีโอกาสที่ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งสองประเทศดังกล่าวในการเพิ่มการส่งออกและเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลในด้านลบคือกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ยางและของที่ทำด้วยยาง เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า และกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อผลิตต่อและส่งออกไปยังประเทศจีน เช่น ยางและของที่ทำด้วยยาง รถยนต์และชิ้นส่วน ของปรุงแต่งทำจากพืชผัก พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม รวมทั้งเหล็กและเหล็กกล้า ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสใช้เพื่อขยายการส่งออกและเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ, เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ รถยนต์และชิ้นส่วน ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และกลุ่มสินค้าที่จีนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปยังจีน เช่นเดียวกัน เช่น ยางและของที่ทำด้วยยาง พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน และพืชผักผลไม้

ผลจากการวิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์โดยการใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างประเทศ (International Input-Output table) ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. และมาตรการตอบโต้ของจีน นำไปสู่การลดลงของมูลค่าการนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ และมูลค่านำเข้าจากสหรัฐฯ ของจีนในกลุ่มสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีร้อยละ 40 นั้น และทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่มีการผลิตหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศใด ๆ เพื่อทดแทนการลดลงดังกล่าว พบว่าผลกระทบด้านลบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่จะมีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงร้อยละ 0.02 แต่ในกรณีที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนมีการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ เพื่อทดแทนการลดลงของการนำเข้าระหว่างกันรวมทั้งไม่สามารถที่จะส่งออกสินค้าของประเทศตนเองที่ได้รับผลกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ พบว่าไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบด้านบวกถึงร้อยละ 0.21

การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ในเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานที่กำหนดขึ้น ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทยมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ผลต่อการลดการนำเข้าสินค้าของทั้งสองประเทศจากการปรับขึ้นภาษี (2) ขีดความสามารถของทั้งสองประเทศว่าจะสามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า หรือหาตลาดอื่นเพื่อทดแทนการส่งออก หรือจำเป็นต้องลดการผลิตลงได้มากน้อยเพียงใด (3) ขีดความสามารถของประเทศอื่น ๆ ในการปรับโครงสร้างการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ และจีน เพื่อชดเชยการลดการนำเข้า และ (4) การแก้ปัญหาการทุ่มตลาดของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนั้น แม้ว่ามาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากจีนที่มีผลบังคับใช้แล้วและที่จะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสที่สามของปี 2561 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในขอบเขตจำกัดก็ตาม แต่การขยายขอบเขตของมาตรการกีดกันทางการค้าจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และการตอบโต้จากจีนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งแม้จะสร้างทั้งผลกระทบและโอกาสต่อเศรษฐกิจไทยในลักษณะเดียวกับการวิเคราะห์ข้างต้นก็ตาม แต่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสร้างผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยในอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้น หากสหรัฐฯ มีการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากทุกประเทศจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์ ทั้งโลกและมีโอกาสมากขึ้นที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน แต่มีการปรับสมมติฐานการขยายตัวของประเทศสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (i) การปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากร้อยละ 2.7 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 2.8 และการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของประเทศสำคัญ ๆ ในภูมิภาคเอเซีย เช่น ไต้หวันและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับการขยายตัวในไตรมาสที่สอง ที่สูงกว่าที่คาดและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี และ (ii) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่น จากร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.2 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวในไตรมาสที่สองต่ำกว่าที่คาดไว้

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ในช่วง 32.0 - 33.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 33.93 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 แต่อ่อนค่าลงจากสมมติฐาน 31.0 - 32.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับค่าเงินบาทในไตรมาสที่สองของปี 2561 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.28 จากเฉลี่ย 31.54 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก โดยในช่วงที่เหลือของปี เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันด้านการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาท แม้กระนั้นก็ตาม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหนี้สาธารณะและสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในขอบเขตจำกัด และ น้อยกว่าการอ่อนค่าของหลายสกุลเงินในภูมิภาค

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 65.0 - 75.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่า ราคาเฉลี่ย 53.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐาน 60.0 - 70.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สองของปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 67.7 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการปรับลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในตลาดโลกลดลง สะท้อนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่มประเทศ OECD ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี รวมทั้งปัจจัยเพิ่มเติมที่ทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดในช่วงต้นปี โดยเฉพาะการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน (ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 6) และปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเวเนซุเอลา (ผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 12) ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีไม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม Non-OPEC โดยเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา (2) การเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC อีกประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (3) แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และ (4) ความวิตกกังวลของตลาดที่มีต่อการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 - 4.5 เทียบกับร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ในขณะที่ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 - 6.5 เทียบกับร้อยละ 5.5 ในปี 2560 เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน โดยราคาส่งออกและราคานำเข้าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ และมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 จาก 1.95 ล้านล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งเป็นการปรับจากสมมติฐาน 2.23 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายรับจากนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกซึ่งอยู่ที่ 19.5 ล้านคน และ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ต่ำกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 12.5) ซึ่งในไตรมาสที่สองลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสแรกของปี 2561 และต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทศกาลฟุตบอลโลก สำหรับในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่ง ต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ (2) ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่อยู่ในฐานะจุดหมายการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกมาอย่างต่อเนื่อง (3) สถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในประเทศและการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และ (4) การขยายเส้นทางการบินของธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 91.8 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 92.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน จะอยู่ที่ร้อยละ 66.0 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 67.7 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 60.0 เทียบกับอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 64.8 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 เทียบกับอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 77.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน (4) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 64.6 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 68.2 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน และอื่น ๆ ประมาณ 2,954.9 ล้านบาท ลดลงจาก 9,398.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 และ (6) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) ร้อยละ 30.0 ของวงเงินงบประมาณ โดยกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 660,305.8 ล้านบาท

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.3 ในปี 2560 และปี 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 20 สิงหาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) เท่ากับช่วงการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 แต่มีการปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในครึ่งแรกของปี 2561 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 4.6 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ เมื่อรวมกับการขยายตัว ร้อยละ 4.9 ในไตรมาสแรก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.8 สูงกว่าขอบบนของช่วงการประมาณการเดิม อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่สาม มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตภาคเกษตร ในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 ยังคงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.2 - 4.7 โดยมีค่ากลางของการประมาณการร้อยละ 4.5 เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561

2) การปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในครึ่งแรกของปี 2561 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เกิดขึ้นจริงในครึ่งปีแรกสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ มาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนให้ขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งซึ่งในไตรมาส ที่สองของปี 2561 อยู่ที่ 135,963 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 และเป็นปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส (นับจากไตรมาสที่สี่ของปี 2556) ปัจจัยดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคเอกชนสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา (2) การปรับสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณที่สำคัญ ๆ ทำให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมาก็ตาม และ (3) การปรับลดสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 2.23 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็น 2.15 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3) ซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกบริการลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.1 ในช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามผลผลิตที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการมีงานทำที่กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้นตามลำดับ8 (2) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจฐานราก และ (3) การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2560 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 16.7 และร้อยละ 89.2 ตามลำดับ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบเพิ่มเติม) และอัตราเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ร้อยละ 65.0 และร้อยละ 75.0 ให้สอดคล้องกับผลการเบิกจ่ายจริงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวเร่งขึ้นจากครึ่งปีแรก สะท้อนจากยอดเบิกจ่ายรวม PO ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน สูงกว่าร้อยละ 59.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 66.6 และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสที่สองที่สูงสุดในรอบ 5 ปี และความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 9.8 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่สองและครึ่งปีแรกร้อยละ 7.5 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ เมื่อรวมกับการปรับสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในปี 2560 และร้อยละ 6.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

หมายเหตุ: 8 การมีงานทำในภาคเกษตรในครึ่งปีแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งร้อยละ 4.5 และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6 เดือน รวมทั้งการมีงานทำในภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องทั้งไตรมาส เช่นเดียวกับการมีงานทำในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2561 ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของการมีงานทำอย่างต่อเนื่องทั้งการมีงานทำในภาพรวมที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการมีงานทำในภาคเกษตร สาขาการผลิต และสาขาก่อสร้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.6 (เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน) ตามลำดับ

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.4 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 13.2 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 9.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและปริมาณการส่งออกสินค้า ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าบริการ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในปี 2560 และร้อยละ 6.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 26.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 34.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 และเป็นการปรับลดจากการเกินดุล 27.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าประมาณการมูลค่าการส่งออก และเมื่อรวมกับดุลบริการ จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 43.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 8.4 ของ GDP) เทียบกับการเกินดุล 43.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 8.4 ของ GDP) ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 จะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 - 1.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2560 โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เท่ากับค่ากลางของช่วงการประมาณการร้อยละ 0.7 - 1.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา แต่มีการปรับช่วงการประมาณการให้แคบลง

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตสำคัญ ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสามารถสนับสนุนการขยายตัว ของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่การผลิตในภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัย ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งเริ่มเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของราคาสินค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับ

1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ โดยเฉพาะ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับ (i) การใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการขยายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน ในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ และจีน ปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน (ii) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น และการเตรียมมาตรการรองรับในระดับที่เหมาะสม (iii) การปฎิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และ (v) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและ ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม (2) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับ (i) การฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว และการให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง (ii) การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล และ (iii) การลดความแออัดของนักท่องเที่ยว ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ และการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และ (3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การอำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (iii) การจูงใจนักลงทุน ในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกัน ทางการค้าให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และ (iv) การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุน รวมทั้งมาตรการและนโยบายที่สำคัญ ๆ ในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง

2) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดย (1)การผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ประกอบด้วย (i) การฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยให้สามารถฟื้นตัวได้โดยเร็วควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบ และฟื้นฟูเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี (ii) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรบางรายการที่ราคา ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว (iii) การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตภาคเกษตรที่มีแนวโน้มออกสู่ตลาด ในเกณฑ์สูง (iv) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรโดยให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับตลาดจีนในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และ (v) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตร แบบแปลงใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกร (2) การดูแล ผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ประกอบด้วย การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควบคู่ไปกับการดูแลให้มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการชำระหนี้และข้อจำกัด ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs มีวงเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน และกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ย และ (3) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน โดย (i) ส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อ มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และมาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของภาครัฐ (ii) การปรับปรุงการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดของ SMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการ ของตลาด และ (iii) การสร้างความเชื่อมโยง SMEs กับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่

3) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2561 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 22.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2561 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2561) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 41.1 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 และกรอบงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 14.0 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับ (3) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง (4) การส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง และ (5) การจัดทำแผนและการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่ระดับภาคและจังหวัดสำคัญ ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวและ การกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานกึ่งทักษะฝีมือ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การเชื่อมโยงตลาดแรงงานทั้งด้านผู้หางาน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุน ในการหางานและการเสาะหาแรงงาน และการพัฒนาสถาบันแรงงานเฉพาะทางเพื่อรองรับการลงทุน ในสาขาการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future industry)

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ