(ต่อ1) สรุปสำหรับผู้บริหาร(บทที่ 1 ผลการพัฒนาในระยะ 3 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2005 16:11 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และนโยบายรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยกำหนดเป้าหมายการลดสัดส่วนคนยากจนลงให้เหลือร้อยละ 12 ในปี 2549 พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยากจนและกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมและให้กลุ่มคนยากจนสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยในระยะ 3 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ 
(1) การแก้ไขปัญหาความยากจนสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของแผนฯ 9 คนยากจนในทุกภาคลดลง แต่ยังกระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกินยังเป็นปัญหาสำคัญของคนยากจน การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงปี 2545-2547 ทำให้ประชาชนมีงานทำมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.98 ในปี 2547 และจำนวนคนยากจนลดลงจาก 9.5 ล้านคน ในปี 2545 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งประเทศ เหลือเพียง 7.5 ล้านคน ในปี 2547 หรือเทียบเท่าร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งบรรลุผลตามเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ผลสำเร็จดังกล่าวเนื่องจากการสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้คนยากจนผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การพักชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย การจัดตั้งธนาคารประชาชน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การสนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในท้องถิ่นที่เหมาะสม และการส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชน
การแก้ไขปัญหาความยากจนดังกล่าว ได้ช่วยให้คนยากจนในทุกภาคลดลง อย่างไรก็ตาม คนจนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยความหนาแน่นของคนจนในปี 2547 อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 18.0 รองลงมาคือภาคเหนือ ร้อยละ 17.5 และภาคใต้ร้อยละ 9.2 ซึ่งจากข้อมูลการจดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจนของกระทรวงมหาดไทย พบว่า คนยากจนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง และปัญหาสำคัญของคนจน คือ ปัญหาหนี้สิน และที่ดินทำกิน ซึ่งสูงถึงร้อยละ 39.2 และร้อยละ 31.8 ของปัญหาทั้งหมดตามลำดับ
(2) การกระจายรายได้ระดับประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ระหว่างภูมิภาคและผลประโยชน์ยังตกอยู่กับผู้มีโอกาสดีกว่ายังมีปัญหา การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ส่งผลให้การกระจายรายได้โดยรวมมีทิศทางดีขึ้น ความเหลี่อมล้ำรายได้ระหว่างคนจนและกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมลดลง โดยช่องว่างระหว่างกลุ่มร่ำรวยสุดกับกลุ่มยากจนสุด ลดลงจาก 13.2 เท่า ในปี 2545 เหลือ 12.9 เท่าในกลางปี 2547
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างภูมิภาคกลับมีมากขึ้น โดยค่าดัชนีไทล์ (Theil Index) ซึ่งเปรียบเทียบความสมดุลระหว่างสัดส่วนรายได้กับสัดส่วนประชากรในแต่ละภูมิภาคได้ลดลงจาก 0.28 ในปี 2545 เหลือ 0.17 ในปี 2547 โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงได้รับประโยชน์จากการพัฒนามากกว่าทุกภาคมีค่าดัชนีสูงถึง 0.25 นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันยังมีอยู่มาก โดยกลุ่มยากจนสุด ในภาคเกษตรมีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 5. 6 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2547 ขณะที่กลุ่มคนรวยสุด มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.8 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 55.4 ในปี 2547 ส่วนคนนอกภาคเกษตร
กลุ่มยากจนสุดมีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 4.5 เหลือ ร้อยละ 4.3 และกลุ่มคนรวยสุดมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.1 เป็น ร้อยละ 54.9 ในระยะเดียวกัน ซึ่งสะท้อนว่าความพยายามพัฒนาศักยภาพและเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ เพื่อให้คนยากจนมีโอกาสพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควรเพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่กับคนที่มีโอกาสและรายได้ดีกว่า
(3) คนยากจนสามารถพัฒนาศักยภาพและเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้น การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมาย และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยสร้างโอกาสให้คนยากจนสามารถพัฒนาศักยภาพและเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้น อาทิ เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสกว่า 479,000 คนได้รับทุนการศึกษาจากโครงการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว เด็กนักเรียนยากจนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ ได้รับโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญาตรีตามความต้องการของตนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประชาชนที่ยากจนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.3 ของคนยากจนทั้งหมดในปี 2545 และกลางปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93.5 เกษตรกรและคนยากจนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้รับการจัดที่ดินทำกินในรูป ส.ป.ก. 4-01 ระหว่างปี 2545-2547 เกือบ 6 ล้านไร่
นอกจากนี้คนยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบและมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การพักชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย การจัดตั้งธนาคารประชาชน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
2.4 ผลการพัฒนาทุนทางสังคม
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพคนและการใช้ประโยชน์ทุนทางสังคมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน จึงได้กำหนดให้เรื่องทุนทางสังคมเป็นวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและนำพาสังคมไทยให้ก้าวสู่สังคมฐานความรู้ได้อย่างรู้เท่าทันท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมโลก โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรที่สมดุลและขนาดครอบครัวที่เหมาะสม รักษาแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรให้อยู่ในระดับทดแทนอย่างต่อเนื่อง ขยายการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ คนไทยมีคุณภาพ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปมีการศึกษาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 9 ปี เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับให้ได้มาตรฐาน และยกระดับการศึกษาแรงงานไทยให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปี 2549 เพิ่มโอกาสการมีงานทำในประเทศไม่ต่ำกว่า 230,000 คนต่อปี ให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่สร้างหลักประกันแก่คนไทยทุกช่วงวัย ตลอดจนลดอาชญากรรมและป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดสัดส่วนคดีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเพิ่มแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ดูแลโดยชุมชนอย่างทั่วถึง โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญในระยะ 3 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยสรุป ดังนี้
(1) การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย บรรลุเป้าหมายในด้านการขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ด้านการพัฒนาการเรียนรู้ยังไม่ประสบความสำเร็จ
(1.1) คนไทยสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพมากขึ้น แต่ยังขาดความตระหนักในการสร้างสุขภาพของตนเอง โดยคนไทยเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพในทุกรูปแบบถึงร้อยละ 96 ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีหลักประกันใดๆ ก่อนดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถประหยัดรายจ่ายด้านสุขภาพ ลงจากร้อยละ 3.7 ของค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2539 เหลือเพียงร้อยละ 2.3 ในปี 2546 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเจ็บป่วยของประชาชนยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ
(1.2) การขยายการศึกษาสู่ประชาชนทุกกลุ่มและระดับต่างๆมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การพัฒนาคุณภาพการศึกษายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรการจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นพอสมควร ในระยะ 3 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 สามารถจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนไทยมีจำนวนปีการศึกษาโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 7.6 ปี ในปี 2545 เป็น 7.8 ปี ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 ปี ในปี 2547 อย่างไรก็ตามยังไม่บรรลุเป้าหมาย 9 ปี ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องเร่งขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่พื้นที่ชนบทห่างไกลโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาหลักๆ ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
การยกระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มากแม้ว่าในระยะที่ผ่านมาจะมีมาตรการเร่งยกระดับการศึกษาของแรงงานให้สูงขึ้นโดยส่งเสริมการเรียนในสถานประกอบการและการศึกษานอกระบบโรงเรียน ส่งผลให้จำนวนแรงงานไทย ที่มีการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 38.0 ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.2 ในปี 2547 แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนอย่างมากต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันประเทศต่างๆ ของ IMD พบว่า ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 43 โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอยู่ใน
ลำดับที่ 48
จาก 49 ประเทศในปี 2545 ลดลงอยู่ในอันดับที่ 55 และ 45 จาก 60 ประเทศ ในปี 2547 ตามลำดับ ขณะเดียวกันการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนายังน้อยมากเพียงร้อยละ 0.24 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2545 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.26 ของ GDP ในปี 2546 แต่ยังต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว (ร้อยละ 2.1-2.9) หรือประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวันและเกาหลี ที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยร้อยละ 0.49, 2.12, 2.16 และ 2.91 ของ GDP ในปี 2546 ตามลำดับ
(1.3) การส่งเสริมการมีงานทำช่วยให้แรงงานมีงานทำเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมาย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเร่งรัดมาตรการส่งเสริมการมีงานทำ ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 230,000 คนต่อปี อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากกว่า 8 แสนคน ในปี 2545 และ 2546 เป็น 1 ล้านคน ในปี 2547 แต่ปัญหาการจ้างงานต่ำระดับยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 8.7 ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.3 ในปี 2547 ในขณะที่การใช้แรงงานที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าลดลง เนื่องจากคุณภาพการศึกษาและผลิตภาพแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ
(2) ระบบการคุ้มครองทางสังคมของไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบและผู้ด้อยโอกาส
(2.1) แรงงานในระบบได้รับการคุ้มครองมากขึ้น แต่การขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบยังมีความล่าช้า ผลจากการดำเนินการขยายขอบเขตระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2545 ให้คุ้มครองลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ส่งผลให้จำนวนลูกจ้างผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 6.90 ล้านคน หรือร้อย
ละ 20.50 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในปี 2545 เป็น 7.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.86 ของกำลังแรงงาน ในปี 2547 นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตการประกันสังคมกรณีว่างงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ทดแทนประเภทสุดท้ายตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทนโดยได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 และได้รับสิทธิ์การคุ้มครองตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป สำหรับแรงงานนอกระบบได้มีการศึกษาเพื่อเตรียมการขยายความคุ้มครองให้ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบต่อไป
(2.2) การให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีทิศทางและรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น การจัดตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นมา รวมถึงการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ทำให้การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมและเป็นระบบครบวงจรมากขึ้น ทั้งด้านการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในรูปแบบต่างๆ อาทิ การสงเคราะห์ช่วยเหลือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การให้บริการในสถานสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาสประเภทต่างๆ การฝึกอบรมและสร้างอาชีพให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2547 ซึ่งจะช่วยให้การปกป้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
(3) ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข แม้รัฐบาลจะได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและความสงบสุขของสังคม ทั้งการเร่งปราบปรามยาเสพติด การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุการจราจรในเทศกาลต่างๆ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน จะได้ช่วยให้อัตราการตายด้วยอุบัติเหตุ และคดียาเสพติดลดลง อย่างไรก็ตาม ภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะการทำร้ายต่อชีวิต
ร่างกาย ตลอดจนทรัพย์สินยังคงทรงตัวในอัตราสูงและไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งทุกฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมมือหาแนวทางป้องกันและแก้ไขให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไป
2.5 ผลการพัฒนาที่ยั่งยืน
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย พร้อมทั้งได้กำหนดให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยที่หัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งให้มีการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตลอดไป แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูประบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล โดยให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ การอนุรักษ์ป่าชายเลนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านไร่ ลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ และฟื้นฟูบำรุงดินไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ ในปี 2549 ตลอดจนรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก เพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดของเสียอันตรายและขยะมูลฝอยและควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในพิกัดมาตรฐาน สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 3 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยสรุปมีดังนี้
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(1.1) การกระจายภารกิจการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากส่วนกลางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความก้าวหน้ามากกว่าครึ่ง แต่การกระจายอำนาจของการคลังยังจำกัด การกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากหน่วยราชการส่วนกลางไปสู่ อปท. อาทิ การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้ดำเนินการถ่ายโอนไปแล้ว 26 ภารกิจ หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9 จากเป้าหมายทั้งสิ้น 42 ภารกิจ พร้อมทั้งได้มีการถ่ายโอนบุคลากรไปแล้ว 3,909 คน จากจำนวนบุคลากรที่ต้องถ่ายโอนทั้งหมด 4,111 คน ขณะที่การกระจายอำนาจทางการคลังโดยการเพิ่มรายได้ให้ อปท. ดำเนินการได้เพียงร้อยละ 23.5 ในปี 2548 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ภายในปี 2549 อยู่มาก
(1.2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังต้องเร่งดำเนินการ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้กำหนดให้ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัยและเป็นเอกภาพ ซึ่งจนถึงปัจจุบันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยยังอยู่ในขั้นของการปรับปรุงแก้ไขบ้าง ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาบ้าง ทั้งการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติประมง พ.ศ.2490 รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ
(2) การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้ผลมากขึ้น แต่ยังต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
(2.1) สถานการณ์ป่าไม้มีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายขณะที่ป่าอนุรักษ์ยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก จากการที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ป่าไม้เริ่มมีทิศทางดีขึ้น โดยพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นจาก 80.61 ล้านไร่ ในปี 2542 เป็น 107.00 ล้านไร่ ในปี 2543 แต่ยังคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 33.09 ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2504 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ ทั้งนี้ ป่าชายเลน ได้รับการฟื้นฟูจนมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 1.05 ล้านไร่เมื่อปี 2540 เป็น 1.53 ล้านไร่ในปี 2543 และ 1.57 ล้านไร่ในปี 2544 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายป่าชายเลนที่กำหนดไว้ในแผนฯ 9 ที่กำหนดให้อนุรักษ์และฟื้นฟูให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.62 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 18.02 ในปี 2545 และร้อยละ 18.26 ในปี 2546 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ที่กำหนดให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศเมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
(2.2) การลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการฟื้นฟูบำรุงดินยังห่างไกลเป้าหมายอยู่มาก จากการประมาณการพื้นที่การชะล้างพังทลายของดิน พบว่าปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในปี พ.ศ.2545 และ 2546 มีอยู่ปีละประมาณ 108.87 ล้านไร่ ขณะที่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ดินที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายได้เพียง 0.43 ล้านไร่ ในปี 2545 และ 0.92 ล้านไร่ ในปี 2546 เท่านั้น ซึ่งนับว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ ในปี 2549 หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่อยู่มาก สำหรับการฟื้นฟูบำรุงดินที่มีปัญหาสามารถดำเนินการได้เพียง 0.951 ล้านไร่ ในปี 2545 ขณะที่ดินที่มีปัญหามีอยู่ถึง 124.57 ล้านไร่ แม้ในปี พ.ศ.2546 จะสามารถดำเนินการได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถฟื้นฟูดินได้ 1.388 ล้านไร่ แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่หรือเฉลี่ยปีละ 2 ล้านไร่
(3) การแก้ไขปัญหามลพิษมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ต้องเร่งคืนคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่ ที่มีปัญหามลพิษเรื้อรัง
(3.1) การรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกสายให้มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ตลอดทั้งปียังไม่บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศโดยรวมจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 68 ในปี 2546 และร้อยละ 80 ในกลางปี 2547 ขณะที่แหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ต่ำมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 32 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 15 ในกลางปี 2547 อย่างไรก็ตามยังมีแม่น้ำสายหลักที่เสื่อมโทรมมากโดยมีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 คือ มีค่า DO น้อยกว่า 2 มก./ลิตร อยู่ร้อยละ 3 ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ปี 2546 และร้อยละ 5 ในช่วงกลางปี 2547 โดยเป็นแหล่งน้ำเดิมที่เสื่อมโทรมมากทุกปีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ตั้งแต่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ) แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง (ตั้งแต่จังหวัดนครปฐม ถึงจังหวัดสมุทรสาคร) แม่น้ำลำตะคองตอนล่าง (พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) และทะเลสาบสงขลา (พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา) สำหรับการฟื้นฟูคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งมีความก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ โดยสามารถฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์พอใช้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 29 และลดปริมาณน้ำที่มีคุณภาพในเกณฑ์เสื่อมโทรมลงจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 3 โดยบริเวณที่ยังมีสภาพเสื่อมโทรมมาก ได้แก่ บริเวณอ่าวไทยตอนใน
(3.2) การควบคุมคุณภาพอากาศให้มีปริมาณฝุ่นละอองและสารมลพิษอื่นๆ ในชุมชนเมืองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยปัญหาหลักของคุณภาพอากาศยังคงมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานและพื้นที่ที่มีปัญหายังคงเป็นพื้นที่เดิมเช่นในปีที่ผ่านๆ มา คือ จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ปัญหารองลงมา คือ ก๊าซโอโซน ที่พบว่าเกินมาตรฐานในบางพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า มีค่าเกินมาตรฐานบริเวณริมถนนบางสายในเขตกรุงเทพมหานคร ในขณะที่สารมลพิษอื่นๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยแหล่งกำเนิดหลักมาจากรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุกและรถประจำทางที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การโม่ บด และย่อยหิน
(3.3) ความสามารถในการกำจัดขยะมูลฝอยและการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 14.1 ล้านตัน ในปี 2544 เป็น 14.3 ล้านตัน และ 14.4 ล้านตัน ในปี 2545 และปี 2546 ตามลำดับ ขณะที่มีความสามารถกำจัดได้เพียง 3.4 ล้านตัน 3.5 ล้านตัน และ 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.9, 24.3 และ 35.7 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายในการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีและปลอดภัยให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ 9 มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยสามารถกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีคิดเป็นกว่าร้อยละ 98 ในช่วงปี 2544-2546 ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการให้บริการเก็บขนและการกำจัดขยะยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง ทำให้มีปัญหาขยะตกค้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ในส่วนการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 2.2 ล้านตันหรือร้อยละ 15.6 ของปริมาณขยะชุมชนในปี 2544 เป็น 2.8 ล้านตันหรือร้อยละ 19.4 ในปี 2546 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นอยู่มาก
(3.4) กากของเสียอันตรายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การกำจัดกากของเสียอันตรายยังดำเนินการได้ไม่ทันกับสภาพปัญหา ปริมาณของเสียอันตราย ในปี พ.ศ.2546 มีประมาณ 1.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 1.5 โดยประมาณ 1.40 ล้านตัน เกิดจากภาคอุตสาหกรรม และอีกประมาณ 0.40 ล้านตัน เกิดจากชุมชน ขณะที่สามารถกำจัดกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมได้ 0.625 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 44 ของปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี พ.ศ.2545 ที่กำจัดได้เพียงร้อยละ 15.6 เท่านั้น ในส่วนของเสียอันตรายชุมชนส่วนใหญ่ยังถูกทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีระบบคัดแยก รวบรวมและกำจัดอย่างครบวงจร จึงยังคงมีกากของเสียอันตรายมากกว่าร้อยละ 50 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องเร่งกำหนดแนวทางแก้ไขต่อไป
2.6 ผลการพัฒนาการบริหารจัดการที่ดี
การบริหารจัดการที่ดี เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยกำหนดเป้าหมายให้ภาครัฐมีขนาดและโครงสร้างที่เหมาะสม มีระบบและกลไกการทำงาน รวมทั้งระบบงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลงานและผลการให้บริการของภาครัฐ ทั้งด้านองค์กรปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะและการพัฒนารายได้ของตนเองเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีระบบและกลไกสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส การดำเนินงานของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการเมืองโปร่งใส มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมสูงขึ้น และประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากภาครัฐอย่างครบถ้วนในเวลาที่รวดเร็ว โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 3 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ดังนี้
(1) การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐมีความก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะการพัฒนาระบบราชการ แต่ยังมีปัญหาด้านความโปร่งใส
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ