ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2020 11:14 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.30 น.

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ร้อยละ 2.2 (%QoQ_SA)

ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนปรับตัวลดลง การส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการผลิตสาขาไฟฟ้า และก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารขยายตัว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) เนื่องจาก (1) การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (3) เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ (4) ปัญหาภัยแล้งโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งเพื่อเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด 19 และเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง (2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และข้อจำกัดการเดินทางควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุม การระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวสอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบ การประกอบธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 (3) การให้ความสำคัญกับ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จาก การท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมาและได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น (4) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่าง ๆ ของภาครัฐ ประกอบด้วย (i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.0 และร้อยละ 55.0 ตามลำดับ (ii) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90.0 (iii) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และ (iv) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (5) การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง และ (6) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีและในระยะปานกลาง

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกรวมปรับตัวลดลงตาม การส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ในขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขา การผลิตสาขาไฟฟ้า และก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ร้อยละ 2.2 (QoQ_SA)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน สอดคล้องกับการชะลอตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในขณะที่การใช้จ่าย ในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 8.8 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทนและ ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก การเตรียมการของภาคครัวเรือนเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภทขยายตัว เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่มบริสุทธิ์ และการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้า ภาคครัวเรือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 49.7 เทียบกับระดับ 56.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อ การอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวม ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 25.3 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 22.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

2) การลงทุนรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรร้อยละ 5.7 และ การลงทุนในสิ่งก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลงร้อยละ 22.1 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 12.1 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 10.5 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 18.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

3) การส่งออกสินค้า ตามระบบดุลการชำระเงินมีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 16.2) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 11.0) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 15.0) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 14.8) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 12.4) และอาหารสัตว์ (ร้อยละ 10.6) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 25.0) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 2.7) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 19.0) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 11.1) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 27.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 14.0) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 10.7) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.4) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 0.5

4) สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 29.4) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 29.2) อ้อย (ลดลงร้อยละ 12.7) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 19.1) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 5.4) และกลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 0.4) เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 1.1) ด้านผลผลิตหมวดประมงลดลงร้อยละ 8.3 ขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.6 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 123.2) ราคากลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 23.4) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.7) และราคาอ้อย (ร้อยละ 17.3) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 9.0) ราคามันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 11.8) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 10.0) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของ ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน การส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 19.0 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.2 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวร้อยละ 0.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.7 ลดลงจากร้อยละ 70.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 18.8) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 37.7) และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.3) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 13.0) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 6.9) และการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 12.7) เป็นต้น

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงร้อยละ 24.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นสำคัญ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 38.0 ลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2559) เมื่อรวมกับการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.515 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.2 ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2561) ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0.332 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ลดลง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.183 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.6 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.50 ลดลงจากร้อยละ 71.26 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 78.62 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

7) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของบริการขนส่งผู้โดยสาร เป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 20.8 และบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ขณะที่บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บริการไปรษณีย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

8) สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของรายรับผู้ประกอบการรายการกิจกรรม การโทรคมนาคมแบบไร้สาย อย่างไรก็ตาม รายการกิจกรรมการโทรคมนาคมแบบใช้สายขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นสำคัญ

9) สาขาการเงินและการประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลสำคัญมาจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออุปโภคบริโภคของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน และผลประกอบการของ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น ส่วนด้านการประกันภัยโดยรวมเร่งขึ้นจากประกันชีวิตและประกันวินาศภัย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) เป็นการปรับลดจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ในการประมาณการครั้งก่อน (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563) เนื่องจาก (1) การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ (3) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชนึ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน สอดคล้องกับการชะลอตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัว ในไตรมาสแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 8.8 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 24.8 หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทนร้อยละ 5.5 และการปรับตัวลดลงของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 1.2 ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากการเตรียมการของภาคครัวเรือนเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภทขยายตัว เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่มบริสุทธิ์ที่ขยายตัวร้อยละ 50.5 ร้อยละ 9.1 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ และการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนร้อยละ 8.3 สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 49.7 เทียบกับระดับ 56.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชนึ ปรับตัวลดลงตามการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ในไตรมาสแรกของปี 2563 การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลงร้อยละ 5.5 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ร้อยละ 9.2 และร้อยละ 11.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.0 และ ร้อยละ 15.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศและดัชนีพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ มีมูลค่า 71,380 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44.0 ในขณะที่ดัชนี ความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 45.1 เทียบกับระดับ 46.9 ในไตรมาสก่อนหน้าการส่งออกึ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสตามการขยายตัวของการส่งออกทองคำและกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าในช่วงก่อนหน้าและการระบาดของโรคโควิด 19 การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2563 มีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาทการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,905 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 10.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 13.8 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว ยางพารา และน้ำตาล โดยการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 25.0 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาใต้ จีน และแคนาดา เป็นต้น โดยปริมาณการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 39.1 เป็นผลมาจากมาตรการปิดประเทศของตลาดส่งออกข้าวไทยในหลายประเทศ ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ระบบโลจิสติกส์มีความล่าช้า ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมหรือชะลอการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกข้าวบางประเทศ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวของไทยที่ออกขายในตลาดมีปริมาณน้อย มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.0 โดยปริมาณ การส่งออกลดลงร้อยละ 10.9 เนื่องจากการลดลงของความต้องการในประเทศคู่ค้า และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 6.4 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อคุณภาพและราคาของ มันสำปะหลัง ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 10.6 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัญหาโรคยางใบร่วง ประกอบกับความต้องการใช้เพื่อการผลิตถุงมือยางในประเทศเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 น้ำตาล มูลค่า การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ตามการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและกัมพูชา โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ ลดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 11.1) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 27.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 14.0) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 10.7) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.4) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มูลค่าส่งออกขยายตัว ประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 11.0) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 15.0) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ14.8) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 12.4) และอาหารสัตว์ (ร้อยละ 10.6) มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.3 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 3.5 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ลดลงร้อยละ 13.8) เป็นต้น สินค้าส่งออกอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 212.5 เป็นผลจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 223.5

ตลาดส่งออกึ การส่งออกสินค้าไปยังอาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7 และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัวร้อยละ 2.7 เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ตาม หลังหักอาวุธและยานพาหนะซ้อมรบแล้ว มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.8 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 5.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นสำคัญ ตลาดสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ 4.6 ตามการลดลงของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงร้อยละ 3.3 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2563 การนำเข้ามีมูลค่า 52,817 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.9 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5) เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางร้อยละ 4.1 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.9 และ 5.7 ตามลำดับ ส่วนราคานำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 ในรูปของเงินบาท การนำเข้าสินค้ามีมูลค่ารวม 1,652 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อนหน้าในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุนและสินค้านำเข้าอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการนำเข้าหมวดอุปโภคบริโภค ลดลง ร้อยละ 1.5 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.9 สอดคล้องกับการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง สิ่งทอ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 4.1 โดยเป็นการลดลงของปริมาณนำเข้าร้อยละ 5.7 ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารคมนาคม หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามอเตอร์และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า และแท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น มูลค่า การนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 0.1 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 4.0 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ วัสดุที่ทำด้วยโลหะ และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.4 ตามการลดลงของการนำเข้าหมวดยานยนต์ และสินค้านำเข้าเบ็ดเตล็ด ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 20.0 ตามลำดับ

อัตราการค้า (Term of Trade) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากราคานำเข้าลดลง ร้อยละ 0.9 เร็วกว่าการลดลงของราคาส่งออกร้อยละ 0.4 ส่งผลให้อัตราการค้าเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.8 ใน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 109.4 ในไตรมาสแรกของปี 2563

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2563 ดุลการค้าเกินดุล 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (253.6 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (180.1 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่า การเกินดุล 6.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (210.1 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรมึ ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงตามผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ประกอบด้วย (1) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 29.4 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง (2) กลุ่มพืชไร่และไม้ยืนต้นที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 29.2 อ้อย ลดลงร้อยละ 12.7 และปาล์มน้ำมัน ลดลงร้อยละ 19.1 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช และ (3) กุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 8.3 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและความกังวลจากโรคระบาดจากเชื้อ DIV1 (Decapod Iridescent Virus 1: CQIV/SHIV) ในกุ้ง ทำให้เกษตรกรปรับลดขนาดพื้นที่เพาะเลี้ยงและชะลอการลงลูกกุ้ง รวมถึงชะลอการจับกุ้งออกจำหน่าย ในขณะที่ผลผลิตที่ขยายตัว ประกอบด้วย ไก่เนื้อ (ร้อยละ 7.0) ยางพารา (ร้อยละ 1.1) และไข่ไก่ (ร้อยละ 1.9) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง (2) กลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม้ผลบางรายการ (เช่น มังคุด และทุเรียน เป็นต้น) ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (3) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกออกสู่ตลาดน้อยลง และ (4) อ้อย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 9.0) ราคามันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 11.8) ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 12.3) และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 10.0) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

สาขาอุตสาหกรรมึ ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญบางรายการ ในขณะที่อุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 6.6 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 19.0 ตามการลดลงของการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะยานยนต์ลดลงร้อยละ 18.8 น้ำตาลลดลงร้อยละ 37.7 จักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 13.7 ยางนอกและยางในลดลงร้อยละ 7.7 และการทอผ้าลดลงร้อยละ 11.6 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.2 โดยการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.3) น้ำมันปาล์ม (ลดลงร้อยละ 30.5) เหล็กและเหล็กมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 6.5) และพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ลดลงร้อยละ 4.6) อย่างไรก็ตาม เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และผลิตภัณฑ์คอนกรีตฯ ขยายตัวร้อยละ 13.4 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) (ร้อยละ 13.0) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 6.9) สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 12.7) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ร้อยละ 5.9) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 1.4) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 66.7 ลดลงจากร้อยละ 70.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 18.8) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 37.7) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.3) การผลิตน้ำมันปาล์ม (ลดลงร้อยละ 30.5) การผลิตเหล็กและเหล็กมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 6.5) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 6.3) การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ลดลงร้อยละ 4.6) การผลิตจักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 13.7) การผลิตยางนอกและยางใน (ลดลงร้อยละ 7.7) และการทอผ้า (ลดลงร้อยละ 11.6) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) (ร้อยละ 13.0) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 6.9) การผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 12.7) การผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค (ร้อยละ 13.4) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ร้อยละ 4.9) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ร้อยละ 5.9) การผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป (ร้อยละ 3.4) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 1.4) การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง (ร้อยละ 7.2) และการผลิตผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 5.5) เป็นต้น

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารึ ปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลง ร้อยละ 24.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงครั้งแรกนับจากไตรมาสที่สามของปี 2557 สอดคล้องกับการลดลงของเครื่องชี้สำคัญ ๆ โดยในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 38.0 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2559) ตามการปรับตัวลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากเกือบทุกประเทศ ยกเว้น อาร์เจนตินา โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ลดลง ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน (สัดส่วนร้อยละ 18.64) ลดลงร้อยละ 60.0 มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 9.26) ลดลงร้อยละ 32.4 ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 4.78) ลดลง ร้อยละ 32.6 อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 3.91) ลดลงร้อยละ 41.9 และเกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 3.88) ลดลง ร้อยละ 51.6 ตามลำดับ รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.515 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.2 เป็น การลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0.332 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ลดลง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวจีน ลดลงร้อยละ 64.0 มาเลเซีย ลดลงร้อยละ 37.3 ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 34.7 อินเดีย ลดลง ร้อยละ 45.4 และเกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 54.2 ตามลำดับ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.183 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.6 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.50 ลดลงจากร้อยละ 71.26 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 78.62 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สาขาการขายส่ง และการขายปลีกฯึ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่าย ภาคครัวเรือนและการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขา การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ขยายตัวร้อยละ 4.9 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดสำคัญ ๆ โดยเฉพาะหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 (เช่น ร้านขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ร้านขายส่งเครื่องสำอาง เป็นต้น) และหมวดการขายส่งสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 ในขณะที่หมวดการขายส่งสินค้าเฉพาะประเภทอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.1 (เช่น ร้านขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต และร้านขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม เป็นต้น) และหมวดการขายส่งอาหารเครื่องดื่มและยาสูบลดลงร้อยละ 13.0 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 15.0 ตามการลดลงของดัชนีทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดการขายยานยนต์ลดลงร้อยละ 18.3 และหมวด การขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ลดลงร้อยละ 7.7 ตามลำดับ และดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 3.2 โดยเป็นผลมาจากดัชนีหมวดสำคัญ ๆ ปรับตัวลดลง เช่น หมวดร้านขายปลีกอุปกรณ์อื่น ๆ ชนิดใช้ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 12.5 (เช่น ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้างฯ และร้านขายปลีกอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง เป็นต้น) หมวดร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ลดลงร้อยละ 13.4 และร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไปลดลงร้อยละ 11.9 (เช่น ร้านดิสเคาท์สโตร์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น) ในขณะที่หมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 6.7 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ และร้านขายปลีกเครื่องสำอาง เป็นต้น)

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของบริการขนส่ง โดยเฉพาะบริการขนส่งทางอากาศสอดคล้องกับการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งลดลงร้อยละ 6.4 เป็นผลมาจากการลดลงของบริการขนส่งผู้โดยสารเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 20.8 (2) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 4.2 ขณะที่ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บริการไปรษณีย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารึ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของบริการโทรคมนาคมและบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฯ เป็นสำคัญ ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของรายรับผู้ประกอบการรายการกิจกรรมการโทรคมนาคมแบบไร้สาย อย่างไรก็ตาม รายการกิจกรรมการโทรคมนาคมแบบใช้สายขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่กิจกรรมอื่น ๆ เช่น การจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์และการจำหน่ายสิ่งพิมพ์ การให้บริการด้านซอฟแวร์ และการผลิตภาพยนตร์โทรทัศน์ ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศึ กลับมาขยายตัว ตามการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า และกิจกรรมโรงแยกก๊าซ ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนร้อยละ 5.8 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการอยู่อาศัยในบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.6 ตามการลดลงของการผลิตอุตสาหกรรม และ (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

สาขาก่อสร้างึลดลงทั้งการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชน ในไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 13.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณเป็นสำคัญ (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 29.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 20.8) การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย การก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.2 และเป็น การลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลง ร้อยละ 8.5) และหมวดซีเมนต์ (ลดลงร้อยละ 0.3) เป็นสำคัญ

ผู้มีงานทำ ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ตามการลดลงของผู้มีงานทำภาคเกษตร ในขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกลับมาขยายตัว แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสแรกของปี 2563 ผู้มีงานทำรวมลดลงร้อยละ 0.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร(สัดส่วนร้อยละ 28.78) ลดลงร้อยละ 3.7 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 71.22) ขยายตัวร้อยละ 0.5 และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ตามการกลับมาขยายตัวของผู้มีงานทำในสาขาการศึกษา และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ตามลำดับ ประกอบกับการขยายตัวต่อเนื่องและเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าของ ผู้มีงานทำในสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำในสาขาการผลิตอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ ปรับตัวลดลง อัตรา การว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.0 สูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี ผู้ว่างงานจำนวน 3.9 แสนคน เทียบกับผู้ว่างงานจำนวน 3.5 แสนคนในช่วงเดียวกันในปีก่อน

ด้านการคลัง

ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2563 (มกราคม - มีนาคม 2563) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 534,782.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จัดเก็บ ดังนี้ (1) รายได้นำส่งของส่วนราชการอื่น เนื่องจากในปีงบประมาณ 2562 มีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (4G) (2) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณ การผลิตรถยนต์ที่ลดลงจากปัจจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ (3) การจัดเก็บอากรขาเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า (4) ภาษีสุราฯ เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปี 2562 ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการบริโภคในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ ในปี 2563 รัฐบาลประกาศเลื่อนวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ออกไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (5) การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และ (6) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบของ โรคโควิด 19 ทั้งนี้ ในภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในไตรมาสที่สองลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดในวงกว้างของโรคโควิด 19

รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 1,143,568.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 920,868.0 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 ขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 12.0) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน811,041.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 21.1 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 25.3 สูงกว่าร้อยละ 22.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 746,608.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 28.9 สูงกว่าร้อยละ 23.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 64,433.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 35.7 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 10.5 ต่ำกว่า ร้อยละ 18.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เนื่องจากความล่าช้าของการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม ภายหลังพระราชบัญญัติงบประมาณฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนในเดือนมีนาคม 2563 ขยายตัวในเกณฑ์สูงอยู่ที่ร้อยละ 148.8 และร้อยละ 22.5 ตามลำดับ (2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 62,817.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีของปีก่อนร้อยละ 3.0 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 23.9 สูงกว่าร้อยละ 16.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) จำนวน 49,617.3 ล้านบาท2เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.1 ตามการปรับเพิ่มแผนการลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสำคัญ และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 850.1 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มี การเบิกจ่าย 431.3 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL)

หมายเหตุ:

1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี (2) งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี) และ (4) เงินกู้นอกงบประมาณ

รวมครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐรวม 1,791,957.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 1,540,569.8 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 48.1 ต่ำกว่าร้อยละ 52.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) แบ่งเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1,450,090.8 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 56.0 ต่ำกว่า ร้อยละ 56.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 90,479.0 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 14.8 ต่ำกว่าร้อยละ 31.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน 143,473.0 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 54.5) (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่ามีจำนวน 112,033.7 ล้านบาท3 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,369.3 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,018,731.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.0 ของ GDP ประกอบด้วย เงินกู้ภายในประเทศ 6,827,337.3 ล้านบาท (ร้อยละ 42.8 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 191,394.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.2 ของ GDP) โดยแบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,807,898.9 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 887,573.1 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาล ค้ำประกัน) 315,231.0 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,028.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.7 ร้อยละ 12.6 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

หมายเหตุ:

2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 3,459.0 ล้านบาท

3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 5,488.7 ล้านบาท

ฐานะการคลังึ ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 37,361 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 6,846 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 56,581 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 26,066 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 จำนวน 316,370 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 342,436 ล้านบาท

รวม 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 198,336 ล้านบาท ขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 55,078 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 82,895 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 170,519 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2563

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 และ การประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งละ ร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าการระบาดของ โรคโควิด 19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของธุรกิจและครัวเรือน ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคม 2 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงจากร้อยละ 1.50 - 1.75 เป็นร้อยละ 0.00 - 0.25 ต่อปี ธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ลงจากร้อยละ 6.25 เป็นร้อยละ 6.00 ต่อปี สำหรับธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในไตรมาสแรกของปี 2563 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสองครั้ง โดยอินโดนีเซียปรับลดจากร้อยละ 5.00 เป็นร้อยละ 4.50 ต่อปี ฟิลิปปินส์ปรับลดจากร้อยละ 4.00 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี และมาเลเซียปรับลดจากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี นอกจากนี้ หลายประเทศได้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติม อาทิ สหรัฐฯ ประกาศดำเนินมาตรการแบบไม่จำกัดวงเงิน สหภาพยุโรปประกาศเพิ่มปริมาณเงินประมาณ 20,000 ล้านยูโรต่อเดือน และอังกฤษประกาศเพิ่มปริมาณเงินประมาณ 6.45 แสนล้านปอนด์ เป็นต้น

ในเดือนเมษายน 2563 ธนาคารกลางรัสเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 เป็น ร้อยละ 5.50 ต่อปี และฟิลิปปินส์จากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 2.75 ต่อปี

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง เงินฝากและเงินกู้ลง โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.32 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 1.08 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 38 ไตรมาส เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ย ซึ่งปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.15 เป็นร้อยละ 6.02 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 39 ไตรมาส ด้านธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 1.20 และ 6.65 ตามลำดับ จากระดับ ร้อยละ 1.33 และ 6.69 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 1.40 และ 6.38 ตามลำดับ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ยและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับตัวลดลงเล็กน้อยตาม การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ

ในเดือนเมษายน 2563 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ

สินเชื่อธุรกิจภาคเอกชนขยายตัว ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนชะลอตัวต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 ยอด คงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 3.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากสินเชื่อธุรกิจที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.7 หลังจากปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อในระบบของธนาคารพาณิชย์ที่ให้กู้ยืมกับภาคการผลิต และการขายส่งและการขายปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.3 และร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สำหรับยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระบบของธนาคารพาณิชย์ยังคงลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.2 จากลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในสาขาการจัดหาที่อยู่อาศัย การซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และบัตรเครดิต สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loans)4ในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเภทธุรกิจ จากระดับ 436,238 ล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า (ร้อยละ 2.8 ของสินเชื่อรวม) เป็น 1,254,758 ล้านบาท (ร้อยละ 7.8 ของสินเชื่อรวม) โดยสาขาที่มีมูลค่าสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษสูงสุด ได้แก่ การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สาขาการผลิต และสาขาการขายส่งและการขายปลีก

หมายเหตุ:

4 สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loans) หมายถึง สินเชื่อที่ระยะเวลาค้างชำระ มากกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่มีการอ่อนค่าลงในไตรมาสนี้ อาทิ ค่าเงินของสิงคโปร์ อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ขณะที่ค่าเงินของฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน เคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น สำหรับปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่สำคัญมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับผลจากการ ไหลออกสุทธิของเงินลงทุน โดยเฉพาะการออกไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทยทั้งในรูปแบบการลงทุนทางตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ ประกอบกับการไหลออกของเงินลงทุนจากต่างชาติตามสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)5 ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 123.29 ลดลงจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.8

ในเดือนเมษายน 2563 เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง โดยมีปัจจัยที่สำคัญมาจากเศรษฐกิจ ในภาพรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 และการระงับจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบ ไม่จำกัดวงเงิน และการประกาศตัวเลขจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 32.64 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.7 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

หมายเหตุ:

5 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม ทำให้มีการใช้มาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว (Circuit Breaker) 3 ครั้ง โดย ณ สิ้นไตรมาสดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,126 จุด ลดลงร้อยละ 28.7 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) และเกณฑ์การหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ (Circuit Breaker) รวมทั้งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ (Market Disruption) เพื่อรักษาเสถียรภาพของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ของไทยในไตรมาสนี้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่ต้องหยุดให้บริการเนื่องมาจากมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งกลุ่มธนาคารที่มีความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และ (2) การลดลงของราคาน้ำมันอันเนื่องมาจากความต้องการใช้น้ำมันดิบ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตน้ำมันในการลดอัตรากำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน

ในเดือนเมษายน 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 15.6 มาอยู่ที่ 1,302 จุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 คลี่คลายลงและมีสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะส่งผลให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวในลักษณะมีความชันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่อมาในเดือนมีนาคมนักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงและขยายวงกว้างไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประกอบกับภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ทำให้มีแรงเทขายในพันธบัตรระยะยาวจำนวนมาก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังเกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพตราสารหนี้ โดยการเข้ารับซื้อคืนพันธบัตรภาครัฐ และจัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF)

ในเดือนเมษายน 2563 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นผลจากการเข้าไปแทรกแซงตลาดอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ โดยเฉพาะ การประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวม การตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่อง (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) และการซื้อคืนพันธบัตร

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในสองเดือนแรกของไตรมาสแรกของปี 2563 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลจากการออกไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรง และ การลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน อย่างไรก็ดี ยังมีเงินไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ

ดุลบัญชีเดินสะพัด ในไตรมาสแรกของปี 2563 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (295.8 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 12.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (392.0 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ การเกินดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (313.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 6.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และ การเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 5.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 226.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 34.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 12.9 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2563)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เท่ากับการเพิ่มขึ้นในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ รวมถึงไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีราคา ในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 เท่ากับการลดลงในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ตามการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาหมวดพลังงานร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.5 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า6

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 4.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ปรับตัวลดลง ในขณะที่ ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ7

หมายเหตุ:

6 ในเดือนเมษายน 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -3.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

7 ในเดือนเมษายน 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 4.3 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.4

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสแรกของปี 2563

ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 49.31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 19.6 จากค่าเฉลี่ย 61.30 ดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 19.0 จากราคาเฉลี่ย 60.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2562

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้มีสาเหตุมาจาก (1) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของ กลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,085 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,858 ล้านบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ โรคโควิด 19 ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบยังลดลงอย่างช้า ๆ และ (3) การเพิ่มกำลังการผลิตของรัสเซียกับซาอุดิอาระเบีย ในช่วงสงครามราคาน้ำมันเดือนมีนาคม

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกของปี 2563

ในไตรมาสแรกของปี 2563 เศรษฐกิจโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตเป็นวงกว้างครอบคลุมในหลายประเทศ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด รวมทั้งการปิดสถานที่และระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม เมื่อรวมกับผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในไตรมาสแรกของปี 2563 เริ่มชะลอตัวหรือปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2552

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาและควบคุมผลกระทบ ประกอบด้วย (i) มาตรการทางการเงิน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การขยายวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ การเข้าซื้อกองทุนหรือหุ้นกู้ของภาคเอกชนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (ii) มาตรการทางการคลังที่สำคัญ อาทิ การใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง เงินโอนให้กับครัวเรือนและประชาชน มาตรการด้านภาษี ลดเงินสมทบและค่าธรรมเนียม การค้ำประกันสินเชื่อภาคธุรกิจ (iii) มาตรการลดผลกระทบด้านการจ้างงาน อาทิ การให้เงินอุดหนุนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือหยุดงาน การเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ผู้ว่างงาน การอุดหนุนนายจ้างเพื่อไม่ให้เลิกจ้าง และ (iv) มาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของประชาชนต่าง ๆ

นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ สรอ. ทำให้ธนาคารกลางหลัก 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้มีข้อตกลงร่วมในการผ่อนปรนเงื่อนไขในการใช้ Standing US Dollar Liquidity Swap Line รวมถึงการเพิ่มความถี่ในการทำ Swap จากรายสัปดาห์เป็นรายวัน นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้เปิดให้มี Swap Line เป็นการชั่วคราวกับธนาคารกลางเม็กซิโก บราซิล สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมทั้งเปิด Temporary Repurchase Agreement Facility (FIMA Repo Facility) ให้ธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศ8 เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายน 2563

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก (Advance Estimate) ขยายตัวร้อยละ 0.3 (%YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 2.3ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 41 ไตรมาส ตามการลดลงของภาคการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม ปรับลดมาอยู่ที่ 50.4 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี และดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ 47.5 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 การลดลงของภาคการผลิตได้ส่งผลกระทบต่อภาคการจ้างงาน สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรที่ลดลง 2.12 แสนคนเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 41 ไตรมาส ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.4 สูงสุดในรอบ 8 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.8 ต่ำสุดในรอบ 41 ไตรมาส ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อน ภายใต้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. (Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act) ประกอบด้วยมาตรการที่สำคัญ อาทิ การขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน การลดและเลื่อนการจ่ายภาษี รวมถึงการพักชำระหนี้เพื่อการศึกษา มาตรการสินเชื่อให้กับธุรกิจ SMEs ในการรักษาการจ้างงาน (Paycheck Protection Program) และงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับภาคสาธารณสุข (Health Care Enhancement Act) นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการทางการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการประชุมด่วน (Unscheduled) ถึง 2 ครั้งติดต่อกันในวันที่ 3 มีนาคม และ 15 มีนาคม โดยได้มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 และ ร้อยละ 1.00 Basis point ตามลำดับ จากร้อยละ 1.50 - 1.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 0 - 0.25 รวมถึงได้มี การดำเนินมาตรการทางการเงินที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องภาคธุรกิจและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ อาทิ การขยายมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยไม่จำกัดวงเงิน และครอบคลุมไปถึง Commercial Mortgage-backed Securities 9 การเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น (Term Asset-Backed Securities Loan Facility) หรือมาตรการ TALF 10 มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน (Money Market Liquidity Facility (MMLF)) และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับครัวเรือนรวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น (Primary Dealer Credit Facility (PDCF))

หมายเหตุ:

8 เฉพาะธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศที่มีบัญชีอยู่กับธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ค โดยสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อยู่ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ มาแลกเป็นเงินดอลลาร์ สรอ. เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องภายในประเทศได้

เศรษฐกิจยูโรโซน ในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.2 (%YoY) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2562 นับเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 42 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2552) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.8 (%QoQ sa.) ซึ่งเป็นอัตราการลดลงของเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ เศรษฐกิจฝรั่งเศส และอิตาลี ลดลงร้อยละ 5.4 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเห็นได้อย่างชัดเจนในเดือนมีนาคม โดยสะท้อนผ่านดัชนี PMI Composite ในไตรมาสแรกที่ลดลงมาอยู่ที่ 44.2 จากระดับ 50.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 เช่นเดียวกับดัชนี PMI ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 26.4 จาก 51.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสแรกอยู่ที่ -8.77 11 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2557) ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 7.33 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.1 สำหรับมาตรการทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 สหภาพยุโรปได้ดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้กรอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิค 19 งบประมาณรวม 6.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณสุข รวมถึง เงินสำรองเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิก นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้ผ่อนคลายข้อบังคับทางการคลัง โดยให้ประเทศสมาชิกสามารถขาดดุลการคลังได้มากกว่าที่กำหนดไว้เดิม12 ควบคู่ไปกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปได้ดำเนินมาตรการขยายการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้ Pandemic Emergency Purchase Programme 13 โดยการเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์จากเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร เป็นวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์รวม 7.5 แสนล้านยูโร โดยจะแบ่งการเข้าซื้อในแต่ละเดือนออกไปไม่น้อยกว่าสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ยังได้ลดเกณฑ์ของประเภทสินทรัพย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก รวมถึงมาตรการ Targeted Longer-term Refinancing Operations ระยะที่ 3 (TLTRO-III) ที่มีการปรับมาตรฐานการให้สินเชื่อให้มีความผ่อนคลายมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564

เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการผลิต การส่งออก และ การบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.1 ต่ำสุดในรอบ 29 ไตรมาส และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 4.4 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และดัชนีค้าปลีกลดลงร้อยละ 1.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงสู่ระดับ 36.2 ต่ำสุดในรอบ 35 ไตรมาส ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.5 สำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากโรคโควิด 19 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 รอบ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และ 10 มีนาคม 2563 โดยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ อาทิ เงินช่วยเหลือแก่ลูกจ้างรวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ สินเชื่อพิเศษแก่ธุรกิจ SMEs โดยไม่มีดอกเบี้ยและหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หมายเหตุ:

9 มาตรการดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการประกาศขยายมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็นครั้งที่ 2 หลังจากการขยายวงเงินมาแล้วในวันที่ 15 มีนาคม 2563

10 มาตรการ TALF จะเน้นไปที่การเพิ่มสภาพคล่องให้กับ Asset-backed Securities ที่ผูกกับสินเชื่อต่าง ๆ เช่น เงินกู้เพื่อการศึกษา สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเคยประสบความสำเร็จในช่วงปี 2551 - 2552

11 ระดับปกติดัชนีมีค่าเป็น 0 โดยระดับน้อยกว่าศูนย์จะสะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลง

12 ข้อกำหนดเดิมระบุว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะขาดดุลการคลังได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP

13 เบื้องต้นในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางยุโรปได้เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 1.2 แสนล้านยูโร โดยดำเนินการถึงสิ้นปี 2563 แต่ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม 2563 ได้ทำการประกาศมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme ดังกล่าว

การเลื่อนการจ่ายภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาออกไป ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการสินเชื่อพิเศษ (Special Funds-Supplying Operations) ให้กับ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยวงเงินรวม 8 ล้านล้านเยน โดยมีระยะเวลาการชำระคืน ไม่เกิน 1 ปี พร้อมทั้งเพิ่มเพดานการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นทั้งตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) และหุ้นกู้ภาคเอกชน จากเดิม 2.2 ล้านล้านเยน เป็น 3.2 ล้านล้านเยน และจาก 3.2 ล้านล้านเยน เป็น 4.2 ล้านล้านเยน ตามลำดับ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมดังกล่าวภายในเดือนกันยายน 2563 รวมถึงการเพิ่มเพดานการถือครองกองทุน ETF และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (J-REIT) เป็น 12 ล้านล้านเยน และ 180 ล้านล้านเยน ตามลำดับ

เศรษฐกิจจีน ลดลงร้อยละ 6.8 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2535 ที่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลรายไตรมาส ตามการลดลงในทุกสาขาการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Caixin PMI) ลดลงมาอยู่ระดับเฉลี่ย 47.2 ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ลดลงร้อยละ 13.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการส่งออกไปยังตลาดสำคัญที่ปรับตัวลดลง อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ สำหรับด้านการใช้จ่ายปรับตัวลดลงทั้งการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ลดลง ร้อยละ 19.0 และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ลดลงร้อยละ 16.1 ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 34 ไตรมาส ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 3,060.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินของภาคธุรกิจ ณ สิ้นปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 149.3 ต่อ GDP ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปี จากร้อยละ 4.15 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.05 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ควบคู่กับการปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) ร้อยละ 0.50 - 1.00 สำหรับธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SMEs และบริษัทเอกชน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตร (Reverse repo) อายุ 7 วัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.20 จากร้อยละ 2.40 และมาตรการทางการคลังที่สำคัญ อาทิ การลดภาษีให้แก่อุตสาหกรรมวัสดุทางการแพทย์ การขนส่งสาธารณะ และโลจิสติกส์ การเพิ่มโควตาการออกพันธบัตรให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น การพักชำระและลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และการยกเว้นและลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าและต่ำสุดในรอบหลายไตรมาส ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ต่ำสุดในรอบ 42 ไตรมาส โดยเป็นผลมาจากการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐบาล การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาส ตามการปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคเอกชนและการชะลอตัวของการลงทุนรวม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐบาลขยายตัวเร่งขึ้น เศรษฐกิจสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำสุดในรอบ 44 ไตรมาส ตามการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ ขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงลดลงร้อยละ 8.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่ มีการจัดเก็บข้อมูลในปี 2517 ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวเร่งขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของราคาหมวดอาหาร ยกเว้นเกาหลีใต้ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและพลังงาน

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ชะลอตัวตามการบริโภคภายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายประเทศโดยส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนทิศทางการค้าอันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 73 ไตรมาส ตามการชะลอตัว การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนรวม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐบาลขยายตัวเร่งขึ้น เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 44 ไตรมาสนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2552 ตามการชะลอตัวในทุกสาขาการผลิตทั้งภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ตามลำดับ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.7 ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 85 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐบาล ขณะที่การลงทุนรวมและการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวลดลง ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 42 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน และ การลดลงต่อเนื่องของการลงทุนรวม เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าที่ยังคงปรับตัวลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดอาหาร ยกเว้นมาเลเซียที่ปรับลดลงตามการลดลงของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ทำให้ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง14 รวมถึงการดำเนินมาตรการอื่น ๆ ในการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ อาทิ การสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และการยกเว้นและลดภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อยและภาคธุรกิจ

หมายเหตุ:

14 อินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.50 (ลดลงร้อยละ 0.75 ในไตรมาสที่ 1) มาเลเซียปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 (ลดลงร้อยละ 0.50) ฟิลิปปินส์ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 (ลดลงร้อยละ 0.75) และเวียดนามปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.50 (ลดลงร้อยละ 0.5)

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563

เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 มีแนวโน้มที่จะหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วง ที่ผ่านมา และถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโรคโควิค 19 อย่างเป็นวงกว้างและรุนแรงจนส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ อย่างไรก็ตาม ขนาดของการหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ขีดความสามารถและระยะเวลาที่แต่ละประเทศใช้ในการควบคุมการระบาด และป้องกันไม่ให้มีการระบาดในระลอกที่สอง (2) มาตรการภาครัฐในการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง (Lockdown) เพื่อแก้ปัญหาการระบาด รวมถึงความเข้มข้นของมาตรการป้องกันการระบาดในระยะต่อไป (3) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและรูปแบบการประกอบธุรกิจในประเทศสำคัญ ๆ (4) ขีดความสามารถของรัฐบาลประเทศสำคัญ ๆ ในการดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อให้ภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการควบคุมผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ให้ลุกลามจากภาคการผลิตไปสู่ภาคการเงินและการคลัง และ (5) ความก้าวหน้าในการผลิตยาและวัคซีนเพื่อใช้ในการรักษาโรค และ การตอบสนองของไวรัสต่อสภาพอากาศ

ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเงื่อนไขสำคัญ ๆ ดังกล่าวการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในกรณีฐานตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ประเทศสำคัญ ๆ ในภาพรวมจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยแต่ละประเทศใช้ระยะเวลาการควบคุมการระบาดประมาณ 3 ถึง 6 เดือน จนสามารถผ่อนคลายให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับประเทศจีนในช่วงปัจจุบันได้ภายในกลางไตรมาสที่สาม (2) ไม่มีการลุกลามของวิกฤติการณ์จากภาคการผลิตไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงินการคลังในประเทศสำคัญ ๆ และการดำเนินมาตรทางการเงินการคลังจะสามารถสนับสนุนให้กิจกรรมของภาคธุรกิจสามารถกลับ สู่ระดับร้อยละ 80 ของขีดความสามารถปกติภายในไตรมาสที่สามและร้อยละ 90 ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี (3) ไม่มีวัคซีนที่จะสามารถป้องกันโรคได้ก่อนสิ้นปี แต่ระบบตรวจสอบ ควบคุมและการป้องกันโรคจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไวรัสไม่ทวีความรุนแรงในช่วง ฤดูหนาว และ (4) การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศสำคัญ ๆ จะผ่อนคลายลงในปลายไตรมาสที่สองและสิ้นสุดลงในปลาย ไตรมาสที่สามภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาด และติดตามตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในภาพรวมจะปรับตัวลดลงรุนแรงที่สุดในไตรมาสที่สอง ก่อนที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วง ที่เหลือของปี โดยมีแรงสนับสนุนจากการทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลังในประเทศสำคัญ ๆ ที่มีขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ในกรณีฐานคาดว่า เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ๆ ดังนี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2562 และเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 2472 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 26,692 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมคิดเป็นร้อยละ 0.45 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดและผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วัน ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงของการระบาดที่อาจรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่มาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมของเดือนเมษายนลดลงเป็น 36.1 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี และดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ 26.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.7 สูงสุดนับจากปี 2472 และจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน ณ สิ้นสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ล้านคน การลดลงอย่างรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลของบางมลรัฐเริ่มผ่อนคลายการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง อาทิ รัฐอาร์คันซอ รัฐไวโอมิง รัฐยูทาห์ และ รัฐเนแบรสกา ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมูลค่าประมาณ 4.8 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเพิ่มเติมงบประมาณให้กับมาตรการ Paycheck Protection Program รวมถึงสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการสินเชื่อมูลค่ารวมประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.15

หมายเหตุ:

15 ประกอบด้วยมาตรการที่สำคัญ ๆ อาทิ มาตรการ Main Street Lending Program โดยการเข้าซื้อสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้กับ SMEs โดยจะเข้าซื้อ ราวร้อยละ 85 - 95 ของมูลค่าสินเชื่อ ทั้งนี้ มีกำหนดชำระคืนภายใน 4 ปี โดยจะมีการยกเว้นการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในปีแรก มาตรการ Paycheck Protection Program Liquidity Facility (PPPLF) โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ ที่จะทำการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กตามมาตรการ Paycheck Protection Program ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และมาตรการ Municipal Liquidity Facility เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่รัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงการขยายวงเงินสำหรับมาตรการ TALF

เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.4 รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งสหภาพยุโรปในปี 2542 โดยหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนมีจำนวน ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุดจัดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของโลก โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศสำคัญ ๆ ได้แก่ สเปน อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 1,721 คน 789 คน 724 คน และ 636 คน ตามลำดับ โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมคิดเป็นร้อยละ 0.58 ร้อยละ 0.37 ร้อยละ 0.21 และร้อยละ 0.27 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันของเยอรมนีและฝรั่งเศสลดลงจากระดับสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดให้เป็นไปอย่างจำกัด เช่นเดียวกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันของสเปนและอิตาลีที่มีแนวโน้มลดลงจากระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าทั้งสองประเทศจะสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ เครื่องชี้ล่าสุดในเดือนเมษายนยังคงสะท้อนการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากปลายไตรมาสแรก โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ 33.4 และ 12.0 ตามลำดับ สะท้อนถึง การหดตัวรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่สหภาพยุโรป ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการคลัง (EU Fiscal Rule) โดยให้ประเทศสมาชิกสามารถมีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ 3 ของ GDP ตามที่กำหนดไว้เดิมส่งผลให้หลายประเทศได้ออกมาตรการด้านการคลังเพิ่มเติมในไตรมาสที่สอง อาทิ ฝรั่งเศส (มูลค่า 1.1 แสนล้านยูโร) และอิตาลี (4 แสนล้านยูโร) นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังได้ปรับมาตรฐานของสินทรัพย์ในการที่ใช้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อ ขอกู้เงินกับ ECB เพื่อรองรับการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ในยุโรปอีกด้วย

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2562 และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 83 คน โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมคิดเป็นร้อยละ 0.01 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดและผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันคิดเป็นร้อยละ 26.1 ของยอดผู้ติดเชื้อสูงสุด ณ วันที่ 22 เมษายน 2563 สะท้อนความล่าช้าในการจำกัดการแพร่ระบาด ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางการลดลงของ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกตามการลดลงของความต้องการในประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การระบาดที่อยู่ในวงจำกัด และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังมูลค่า 117 ล้านล้านเยน หรือประมาณ ร้อยละ 21.1 ของ GDP ควบคู่ไปกับมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ได้ขยายมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบ ไม่จำกัดวงเงินทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชน

เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2562 และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 44 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดลดลงอยู่ในวงจำกัด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 4 คน โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมคิดเป็นร้อยละ 0.01 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของค่าสูงสุด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมได้ลดลงจากระดับสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ในเมืองอู่ฮั่นเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ อาทิ ดัชนีความหนาแน่นของการจราจร (Traffic Congestion Index) และดัชนีการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 102 และ 82 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของทั้งประเทศ ในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 49.4 และ 44.4 ใกล้เคียงกับระดับขยายตัวมากขึ้น และเทียบกับระดับ 47.2 และ 40.4 ในไตรมาสแรก ตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบสี่เดือนที่ร้อยละ 3.9 สะท้อนการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วง ไตรมาสที่สอง และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการทางการคลังมูลค่า 2.6 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP และการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย16 การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่บางภาคธุรกิจ การเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินผ่านการลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และการดำเนินธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร รวมทั้งมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีโอกาสจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs)และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่าจะชะลอตัวหรือปรับตัวลดลงตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการในการปิดสถานที่และจำกัด การเดินทางในประเทศ และการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะมีแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับ

หมายเหตุ:

16 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนเกิน (Excess Reserve) ของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ PBOC ลงจากร้อยละ 0.72 เป็นร้อยละ 0.35 และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate) ระยะเวลา 1 ปี ลงจากร้อยละ 4.05 เป็นร้อยละ 3.85 และสำหรับเงินกู้ระยะเวลา 5 ปี จากร้อยละ 4.75 เป็นร้อยละ 4.65 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Medium-Term Lending Facility) ระยะเวลา 1 ปี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 สำหรับธนาคารพาณิชย์ลงจากร้อยละ 3.15 เป็นร้อยละ 2.95

สัดส่วนการพึ่งพิงภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งสถานการณ์การระบาดทั้งความรุนแรงและระยะเวลา และความเข้มข้นของมาตรการในการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการระบาดในเกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวันอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 27 คน 1 คน และ 0 คน ตามลำดับ โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมคิดเป็นร้อยละ 0.02 ร้อยละ 0.00 และร้อยละ 0.00 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 3.3 ของค่าสูงสุด ณ วันที่ 8 มีนาคม วันที่ 1 เมษายน และวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงความรุนแรงของสถานการณ์ การระบาดในระดับต่ำ ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีโอกาสที่จะผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจได้ มากขึ้น ภายใต้แรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ได้ดำเนินมาตรการทาง การคลังมูลค่าประมาณร้อยละ 11.4 ร้อยละ 10 และร้อยละ 13 ของ GDP ตามลำดับ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดในมาเลเซียและเวียดนามยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 36 คน และ 2 คน ตามลำดับ และผู้ติดเชื้อใหม่สะสมย้อนหลัง 14 วันอยู่ที่ร้อยละ 33.8 และร้อยละ 29.7 ของค่าสูงสุด ณ วันที่ 5 เมษายน และ 3 มีนาคม 2563 ตามลำดับ คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ มีแนวโน้มจะลดลงร้อยละ 1.2 ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 3.5 เทียบกับการขยายตัวในปี 2562 ที่ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 2.7 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจฮ่องกงคาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2562 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากการขยายตัว ในปี 2562 ที่ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 4.3 ในปี 2562

แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2563 หดตัวและมีความผันผวนรุนแรงมากกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐานซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) สถานการณ์การระบาดของ โรคโควิด 19 ในประเทศสำคัญ ๆ ที่อาจยืดเยื้อมากกว่าการคาดการณ์หรือการกลับมาระบาดอีกครั้ง (Second wave) ซึ่งจะส่งผลให้ต้องดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่เข้มงวดและต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น ซึ่งจะมีความเป็นไปได้สูงในกรณีมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบและคัดกรองการติดเชื้อของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วแต่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือการแพร่ระบาดระลอกสองในประเทศสำคัญ ๆ จนทำให้สถานการณ์การระบาดรุนแรงเกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในบางประเทศ (2) สถานการณ์การระบาดหรือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ ยืดเยื้อยาวนานจนเกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับผลกระทบของภาคธุรกิจและภาคการผลิตจนเกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลัง หรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง รวมทั้งปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางการคาดการณ์ของนักลงทุน และ (3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจนำไปสู่การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกอาจหดตัวน้อยลงกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐานภายใต้เงื่อนไขการระบาดที่สิ้นสุดลงเร็วกว่าการคาดการณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในกรณี (1) การระบาดของไวรัสตอบสนองต่ออากาศร้อนและทำให้การติดเชื้อลดลงอย่าง มีนัยสำคัญ และ (2) การพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคมีความคืบหน้าและสามารถใช้ได้จริงก่อนไตรมาสที่สี่ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรค โควิด 19 ในร่างกายมนุษย์ได้ดี

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยขึ้นอยู่กับ (1) ความรุนแรงของการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการ ปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) ทิศทางของสถานการณ์การระบาด และการดำเนินมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศในช่วงที่เหลือของปี (3) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค รูปแบบการประกอบธุรกิจ และความเข้มข้นของมาตรการภาครัฐในการป้องกันและควบคุมภายหลังจากความรุนแรงของการระบาดลดลง และ (4) ความพร้อมของภาคธุรกิจในการกลับมาดำเนินธุรกิจภายหลังจากการระบาดลดความรุนแรงลง อย่างไรก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่าภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศจะลดความรุนแรงลงตามลำดับจนเข้าสู่ระดับที่สามารถทำให้พฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติในไตรมาสที่สาม ในขณะเดียวกัน การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะทำให้ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางอย่างช้า ๆ ท่ามกลางมาตรป้องกันและการควบคุมอย่างรัดกุม ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มกลับเข้าใกล้ภาวะปกติในไตรมาสที่สาม

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับสมมติฐานที่สำคัญ ๆ (ดูรายละเอียดในส่วนสมมติฐานการประมาณการ) คาดว่าเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะปรับตัวลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่สอง ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การหดตัวช้าลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง (2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางภายในประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางสาขาเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมทั้งแนวโน้ม ความเป็นไปได้ของการผ่อนคลายด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบางส่วนในช่วงที่เหลือของปี (3) แรงขับเคลื่อนของมาตรการภาครัฐในการเยียวยาและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ (4) ปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงปีที่ผ่านมา และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวดีขึ้นและไม่ทำให้การส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงมากเกินไป

แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปียังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า โดยมีข้อจำกัดจาก (1) การหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 2472 (2) การลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว (3) เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ภายในประเทศ และ (4) ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 4 ปี ในขณะที่การฟื้นตัวในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก (1) การลดลงของความรุนแรงจากการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในต่างประเทศที่อาจมีความล่าช้ามากกว่าการคาดการณ์ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทางท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์สูงในประเทศสำคัญ ๆ บางประเทศ และการเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปีอาจทำให้ไวรัสกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน (2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศที่อาจมีความล่าช้ากว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยเฉพาะใน ภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังมีความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดในประเทศสำคัญ ๆ รวมทั้งมีความแตกต่างกันในวิธีการรักษาอาการป่วยของผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทำได้ในขอบเขตจำกัด และ (3) ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ และมีความเสี่ยงต่อการลุกลามของปัญหาทางเศรษฐกิจจากภาคการผลิตไปสู่ภาคการเงินการคลังที่อาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้การหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีความรุนแรงมากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุน

1) การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาสแรกแสดงให้เห็นถึง การเริ่มหดตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย อาทิ ยูโรโซน จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในกรณีฐาน คาดว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ จะมีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ ตามการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในการระบาด และการใช้มาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ในไตรมาสที่สองหดตัวเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ บางประเทศเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน เกาหลีใต้ไต้หวัน และฮ่องกง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีอยู่ในช่วงของการปรับตัวลดลง สำหรับจำนวน ผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศญี่ปุ่น สเปน และมาเลเซีย เริ่มมีแนวโน้มทรงตัว การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของการระบาดดังกล่าว ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมเริ่มหดตัวช้าลงในครึ่งปีหลัง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยทั้งปีไม่ปรับตัวลดลงรุนแรงเมื่อเทียบกับแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางสาขาเริ่มกลับมาฟื้นตัว ตามแนวทางการผ่อนคลายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งในระยะแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 โดยได้เริ่มผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ อาทิ สถานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกาย ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งชุมชน และการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในสถานประกอบการภายใต้มาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนคลายในระยะที่สองซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ รวมทั้งสถานออกกำลังกายในร่ม เป็นต้น แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในระยะต่อไปยังมี ความไม่แน่นอน แต่ในกรณีฐานคาดว่าจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมในประเทศมากขึ้นตามลำดับ จนทำให้พฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ลักษณะใกล้เคียงภาวะปกติมากขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคและคำแนะนำของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในภาคการท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการเริ่มเปิดภาคการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยพิจารณาเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่การควบคุมการระบาดของไวรัสเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับ การดำเนินมาตรการคัดครอง ควบคุม และป้องกันการระบาดในประเทศ ซึ่งจะทำให้มีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น

3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำ 2,587,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเบิกจ่ายทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 99.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 97.8 ในปีงบประมาณ 2562 และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ในปีงบประมาณ 2563 รวม 612,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 11.1 อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 55.0 ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 70.2 ในปีงบประมาณ 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายในช่วงสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณเป็นสำคัญ แต่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น (2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะมีอัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ร้อยละ 28.0 เมื่อรวมกับฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนภาครัฐในไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน 2563 ขยายตัวในเกณฑ์สูง (3) งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2563 ประมาณ 563,400 ล้านบาท และ (4) มาตรการสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดยั้งการปรับตัวลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่มีบทบาทสำคัญในการที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง

4) การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า การย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าในบางรายการเพิ่มขึ้น แม้ว่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมจะปรับตัวลดลงในไตรมาสแรก แต่การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง กลุ่มสินค้าเครื่องจักรใช้งานทั่วไป ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 12.1 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวผ่านห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ แต่การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายหลังจากการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ ผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งจะช่วยให้การส่งออกทั้งปีไม่ปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไปเมื่อเทียบกับการหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

ข้อจำกัดการขยายตัว

แม้ว่าปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงตามลำดับ แต่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังและทั้งปียังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย

1) การหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 2472 แม้ว่าการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลง และประเทศต่าง ๆ จะมีการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากครึ่งปีแรกก็ตาม แต่เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกทั้งปี 2563 ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจาก (1) การหดตัวรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่สอง (2) การปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ในหลายประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงและต้องอาศัยระยะเวลากว่าที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจะลดลง (3) แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางลง แต่เป็นการผ่อนคลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการลดลงอย่างรุนแรงของฐานรายได้ครัวเรือนและสภาพคล่องทางธุรกิจ และการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สิน คาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เงื่อนไขดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของไทย

2) การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ว่าในกรณีฐานคาดว่าจะเริ่มมีการผ่อนคลายข้อจำกัด การเดินทางในภาคการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาสที่สี่ แต่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวจากการระบาดในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางนักท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5.5 ร้อยละ 5.4 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 4.3 ของรายรับจากการท่องเที่ยวรวม ตามลำดับ (2) ความแตกต่างในวิธีการคัดกรอง ติดตาม และรักษาผู้ติดเชื้อที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้การการเปิดรับนักท่องเที่ยวอยู่ในขอบเขตจำกัด และ (3) การระมัดระวังของนักท่องเที่ยว รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว เงื่อนไขดังกล่าวเมื่อรวมกับการปรับตัวลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวร้อยละ 38.0 ในไตรมาสแรก และการลดลงรุนแรงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส ที่สอง คาดว่าจะทำให้จำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ

3) เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สอง ที่การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้จ่ายและการประกอบธุรกิจ ในขณะที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าความสำเร็จในการควบคุมป้องกันการระบาดจะทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนปรับตัวเข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีท่ามกลางการผ่อนคลายลงของมาตรการการปิดสถานที่และจำกัด การเดินทาง แต่การใช้จ่ายและการประกอบธุรกิจบางส่วนยังมีข้อจำกัดจากพฤติกรรมการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ และมาตรการบางส่วนของภาครัฐในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง

4) สถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 4 ปีที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคเกษตรอย่างชัดเจนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ การปรับตัวลดลงของ GDP ภาคเกษตรในไตรมาสแรกร้อยละ 5.7 โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 9.6 ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 33,757 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม) ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยต่ำกว่าระดับ 40,454 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2562 (หรือสัดส่วนร้อยละ 57) และอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2558 (สัดส่วนร้อยละ 52) ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงและส่งผลให้การผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.5 เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตรในปี 2563 ปรับตัวลดลงหากปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ หากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

การประมาณการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีเงื่อนไขความไม่แน่นอนในหลายด้านที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีมี ความแตกต่างจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย

1) ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดและขีดความสามารถในการควบคุมการติดต่อของไวรัสในเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว ที่อาจมีการระบาดสิ้นสุดเร็วหรือล่าช้ากว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน รวมทั้งความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของไวรัสในระลอกที่สอง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีความแตกต่างไปจากการคาดการณ์ในสมมติฐาน

2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศสำคัญ ๆ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัด การเดินทางในประเทศโดยเฉพาะในด้านภาคการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้านและมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศและในประเทศมีความแตกต่างไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน

3) ความพร้อมและความสามารถของภาคการผลิตในการที่จะกลับมาประกอบธุรกิจภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง รวมทั้งความพร้อมในการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันโรค และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสยังไม่สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิง

4) ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกและทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้นและขยายตัวต่ำกว่า การคาดการณ์ในกรณีฐาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจนำไปสู่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งทิศทางนโยบายสหรัฐฯ ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศตะวันออกกลาง และ (2) ความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ที่อาจขยายขอบเขตจากปัญหาการหดตัวในภาคการผลิต ไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลัง และวิกฤติทางการเมือง ในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่การระบาด มีความยืดเยื้อยาวนาน มีข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโรค และมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อลดผลกระทบในช่วงที่การระบาดมีความรุนแรง และ (3) การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 เทียบการขยายตัวร้อยละ 3.2 และ ร้อยละ 2.4 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงและขยายขอบเขตไป สู่ประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นวงกว้าง (Pandemic) ครอบคลุมกว่า 213 ประเทศ เทียบกับสมมติฐานเดิมที่คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดจะจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศจีนและสิ้นสุดลงในปลายเดือนมีนาคม สถานการณ์การระบาดดังกล่าวส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุม การระบาดโดยการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในเกือบทุกประเทศ จนส่งผลกระทบให้เกิดการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ดี ในกรณีฐานคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศจะลดความรุนแรงลงเข้าสู่วงจำกัดได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของบางประเทศที่เริ่มลดลงและเข้าสู่การระบาดในขอบเขตจำกัดมากขึ้น อาทิ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง รวมทั้งการเริ่มปรับตัวลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศสำคัญ ๆ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี และการทรงตัวมากขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในญี่ปุ่น สเปน และมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถผ่อนคลายการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางได้มากขึ้น เมื่อรวมกับมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงคาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะหดตัวช้าลงในช่วงครึ่งหลังของปี

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2563 อยู่ในช่วง 31.8 - 32.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ย 31.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 และอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากช่วง 30.7 - 31.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน โดยค่าเงินบาทในเดือนเมษายนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.6 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจาก 31.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ขยายขอบเขตและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงทำให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลและหันมาถือครองดอลลาร์ สรอ. มากขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดได้ส่งกระทบต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยและส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มลดลงของการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี ควบคู่กับความคืบหน้าที่ชัดเจนในการป้องกันและควบคุมการระบาดของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะ ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทยังอยู่ในขอบเขตจำกัด และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 33.0 - 43.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยที่ 63.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจาก 57.0 - 67.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน ตามกับการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องจากเฉลี่ย 64.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในเดือนมกราคม เป็น 54.2 33.8 และ 20.7 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2563 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก (1) การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง โดยข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ในเดือนเมษายน 2563 พบว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และคาดว่าทั้งปีจะลดลงเฉลี่ย 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งสะท้อนอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก อย่างไรก็ดียังคงมีแรงกดดันที่คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนอย่างช้า ๆ สอดคล้องกับข้อมูลราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงวันที่ 1-14 พฤษภาคม 2563 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับลดกำลังการผลิตเป็น 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและ ชาติพันธมิตร (OPEC+) และการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากข้อตกลงเดิม รวมเป็น 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.492 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี17 ภายหลังราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 21 ปี และ (3) การทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้และฟื้นตัวดีขึ้น

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าในปี 2563 จะลดลงร้อยละ (-2.5) - (-1.5) และร้อยละ

(-4.0) - (-3.0) เทียบกับการเพิ่มขึ้นในปี 2562 ที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐาน ในการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าทั้งราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.6) - (0.4) สอดคล้องกับ การปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบจากเดิมที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.1 เป็นการลดลงร้อยละ 40.0 และแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้ ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับการปรับสมมติฐานการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับการประมาณการครั้งก่อน

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 68.8 จาก 1.88 ล้านล้านบาท ในปี 2562 และปรับลดจาก 1.37 ล้านล้านบาทในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 มาอยู่ที่ 12.7 ล้านคน จาก 37.0 ล้านคนในการประมาณการครั้งก่อน และเทียบกับ 39.8 ล้านคนในปี 2562 ภายใต้สมมติฐานประมาณการในกรณีฐานที่คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศสำคัญ ๆ จะเริ่มเข้าสู่วงจำกัดภายในไตรมาสที่สาม ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเริ่มผ่อนคลายการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศและเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยได้ในไตรมาสที่สี่ ทั้งนี้ การประมาณการอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการผ่อนคลายของการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงของ การระบาดของโรคน้อยที่สุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การพิจารณาผ่อนคลายและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความไม่แน่นอนสูง และจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือ และมาตรการจัดการเพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในระดับที่มั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่การแพร่ระบาดให้เกิดขึ้นภายในประเทศอีกครั้ง

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 90.5 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 91.2 ในประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการปรับลดอัตรา การเบิกจ่ายงบลงทุนมาอยู่ที่ร้อยละ 55 (ลดลงจากสมมติฐานเดิมที่ร้อยละ 65 เนื่องจากอัตราการเบิกจ่ายในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 14.8 ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในสมมติฐานครั้งก่อน) แต่ปรับเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประจำ มาอยู่ที่ร้อยละ 99 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 98 ในประมาณการเดิม) (2) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 94.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ร้อยละ 98 และร้อยละ 80 ตามลำดับ ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่มีความล่าช้า (3) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 90 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับอัตราการเบิกจ่ายในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.5 สูงกว่าร้อยละ 45 ในสมมติฐานเดิม และ (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75 เท่ากับ การประมาณการครั้งก่อนและ (5)การใช้เงินภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท18 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 563,400 ล้านบาท

หมายเหตุ:

17 งานวิจัยของ Rystad Energy ระบุว่า สหรัฐฯ มีต้นทุนการผลิต Shale oil และ non-shale อยู่ที่ 23.35 และ 20.99 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สูงกว่าซาอุดีอาระเบียและรัสเซียซึ่งมีต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบรวมอยู่ที่ 8.98 และ 19.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล. ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังระบุว่าหากราคา น้ำมันดิบอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้บริษัทผลิตและสำรวจน้ำมันของสหรัฐฯ จำนวน 533 แห่งอาจต้องยื่นล้มละลายภายในปี 2564

18 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มลดลงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ -5.5 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 2.4 ในปี 2562 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 18 พฤษภาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะลดลงในช่วงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ -5.5 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการจากร้อยละ 1.5 - 2.5 (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 2.0) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เผชิญกับข้อจำกัดต่อการขยายตัวที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการประมาณการครั้งก่อน ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ที่จะส่งผลกระทบให้การส่งออก การผลิต และการลงทุนภาคเอกชนให้ลดลงมากกว่าที่คาด (2) การลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว และ (3) การปรับตัวของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปิดสถานประกอบการและสถานบริการต่าง ๆ รวมไปถึงสนามบิน เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย

1) การลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ที่มีแนวโน้มลดลงรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้นทั้งในด้านการลดลงของปริมาณและราคาส่งออก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ยกระดับ ความรุนแรงจนกลายเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ที่ลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก และนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันของภาครัฐทั้งการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจของหลายประเทศในไตรมาสแรกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อาทิ ยูโรโซน จีน และฮ่องกง ในขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมที่สำคัญ ๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนทำให้มูลค่าการส่งออกของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 นอกจากนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือนเมษายนยังแสดงถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น โดยเครื่องชี้ในหลายด้านปรับตัวลดลงและเข้าสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ ๆ (ดูรายละเอียดในส่วนสมมติฐานประมาณการ) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเริ่มหดตัวช้าลงตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกทั้งปีจะมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 เทียบกับสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เงื่อนไขดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

2) การลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีการหยุดเส้นทางการบินพาณิชย์เกือบทุกเส้นทางรวมถึงการปิดช่องทางเข้าออกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ ในกรณีฐานคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระดับโลกจะเริ่มเข้าสู่วงจำกัดในช่วงกลางไตรมาสที่สาม ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มที่แต่ละประเทศจะเริ่ม ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศและเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าออกได้ภายในไตรมาสที่สี่ ทั้งนี้ การคาดการณ์อยู่บนสมมติฐานที่ว่าการผ่อนคลายของการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มพิจารณาตามกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงของการระบาดของโรคน้อยที่สุดตามลำดับ19 โดยคาดว่าในไตรมาสสี่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำประมาณ 6.0 ล้านคน เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 6.7 ล้านคนในไตรมาสแรก ทำให้คาดว่าทั้งปี 2563 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมทั้งสิ้น 12.7 ล้านคน เทียบกับ 39.8 ล้านคนในปี 2562 และ 37.0 ล้านคนในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งจะส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 อยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท เทียบกับ 1.88 ล้านล้านบาทในปี 2562 และเทียบกับ 1.73 ล้านล้านบาท ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อนซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกบริการลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน

3) การปรับตัวของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2563) ซึ่งส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ และภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปิดสถานประกอบการและสถานบริการต่าง ๆ รวมถึงสนามบินเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการจ้างงาน โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การเดินทาง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของคนจำนวนมากและการรวมตัวของคนในสถานที่ปิด รวมทั้งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มี ความสุ่มเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรค และสาขาการผลิตสำคัญ ๆ ที่ผู้ประกอบการตัดสินใจปิดการดำเนินการชั่วคราวเพื่อลด ความเสี่ยงจากการติดเชื้อของพนักงาน และเพื่อรอดูเงื่อนไขสถานการณ์ทางธุรกิจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ผ่านการหดตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมถึงผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภาครัฐ ในการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดจนทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่องจนกระทั่งไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะปรับพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตเข้าสู่สภาวะปกติได้มากขึ้น เมื่อรวมกับการเริ่มผ่อนคลายมาตรการให้มีการเปิดสถานบริการ สถานบันเทิง รวมถึงสนามบิน จึงคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่สามมีแนวโน้มที่จะหดตัวช้าลง

หมายเหตุ:

19 ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ชี้ให้เห็นว่า (1) กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ (จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมย้อนหลัง 14 วัน อยู่ที่ระดับน้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด) ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและในยุโรปบางประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรีย นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.0 ของรายรับท่องเที่ยวรวมในปี 2562 และ (2) กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมย้อนหลัง 14 วัน อยู่ระหว่างร้อยละ 15 - 20 ของจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด) ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป อาทิ เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของรายรับท่องเที่ยวรวมในปี 2562

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในการประมาณการเดิม ตามแนวโน้มการลดลงของฐานรายได้ที่สำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแนวโน้มการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ รวมทั้ง การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563 รวมทั้งแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ทั้งในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค และแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบเหลื่อมปีที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ ร้อยละ 88.0 ส่งผลให้มูลค่าการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 35,960 ล้านบาทจากการคาดการณ์เดิม และการเพิ่มขึ้นของวงเงินภายใต้ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ ในส่วนของแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.2 ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับ การปรับตัวลดลงของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 8.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 เป็นการลดลงร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 เป็นการลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ และการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกซึ่งคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เป็นการลดลงร้อยละ 2.0 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 39.8 ล้านคน เป็น 12.7 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 17.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า และการลดลงร้อยละ 2.6 ในปี 2562

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 13.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.4 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจาก การขยายตัวร้อยละ 2.8 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นการลดลงร้อยละ 9.7 และการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้านำเข้าจากการลดลงร้อยละ 0.1 เป็นการลดลงร้อยละ 3.5 สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เมื่อรวมกับการปรับลดการนำเข้าบริการตามแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 13.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า และการลดลงร้อยละ 4.4 ในปี 2562

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 35.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเกินดุล 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากแนวโน้มการลดลงของมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะขาดดุลตามการลดลงของรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 24.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ต่ำกว่าร้อยละ 7.0 ในปี 2562 และลดลงจากร้อยละ 5.3 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) เทียบกับร้อยละ 0.7 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดลงจากช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการลดลงของแรงกดดันด้าน การใช้จ่ายภายในประเทศและการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมัน

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลงตามการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การส่งออกบริการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ทำให้จำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบเชื่อมโยงจากการลดลงของรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการผลิตรวมทั้งภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการ การปิดสถานที่และข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในประเทศและการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวเข้าใกล้ ภาวะปกติได้มากขึ้น และการดำเนินดำเนินมาตรการภาครัฐในการแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม แต่เงื่อนไขการฟื้นตัวในหลายด้าน ยังมีข้อจำกัดและมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวการบริหารเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับ

1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของนักท่องเที่ยว และ

เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เพื่อลดผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางและจำนวนนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การสร้างความมั่นใจว่ามาตรการเยียวยาทั้งทางด้านการคลังและสินเชื่อที่ได้เริ่มดำเนินไปแล้วสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเหมาะสมเพียงพอสำหรับกลุ่มผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการ ติดตาม และประเมินความเพียงพอและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น (2) ให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในสาขาเศรษฐกิจที่การผ่อนคลายมาตรการที่ยังมีแนวโน้มที่จะล่าช้า โดยเฉพาะในกิจกรรมด้าน การท่องเที่ยว กิจกรรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของคนหมู่มาก รวมทั้งกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและวิธีการผลิตหลังการระบาดของโรคผ่อนคลายลง (3) การดูแลควบคุม และป้องกันการลุกลามของปัญหาในภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน และ (4) การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโรคและสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเพียงพอของสินเชื่อสำหรับการเริ่มกลับมาประกอบธุรกิจใหม่ การลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ การดูแลต้นทุนทางการเงิน และการป้องกันความเสี่ยงจากการกลับมาแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวท่ามกลางสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูง

2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค

รวมทั้งการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจสามารถกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวเข้ากับมาตรการการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ได้มากที่สุดภายใต้ขอบเขตของแนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค โดยให้ความสำคัญกับ (1) การชี้แจงแนวปฏิบัติให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ที่เริ่มกลับมาประกอบธุรกิจ ควบคู่ไปกับ การตรวจสอบดูแลเพื่อควบคุมและป้องกันการกลับมาระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง (2) การพิจารณาเพิ่มเติมกิจกรรมที่เหมาะสมกับเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจัดสรรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะกลางแจ้งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้ง การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่การประกอบการในสถานที่ปิดและการจำหน่ายผ่านช่องทางปกติยังมีข้อจำกัด (3) การขอความร่วมมือภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน ในการพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมหลังการระบาดผ่อนคลายลง โดยไม่ส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ ในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว รวมทั้งการรณรงค์และจัดทำแพ็คเกจการท่องเที่ยวเพื่อให้คนไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายในต่างประเทศ หันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น (4) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนาและฝึกอบรมของภาครัฐในปีงบประมาณ 2564 ให้สามารถเบิกจ่ายและดำเนินการได้ทันทีในช่วงที่มีความปลอดภัยจากการระบาดของโรค (5) การพิจารณากลไกในระดับพื้นที่สำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาอุปสรรคในการกลับมาประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคที่นอกเหนือจากด้านการเงิน และ (6) การให้ความสำคัญกับปัญหาด้านแรงงานในช่วงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ ทั้งในด้านแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานทักษะต่ำในช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัวจากปัญหาการระบาดของโรค และปัญหาการว่างงานของแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างและผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ตลอดจนมาตรการรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและกลับไปหางานทำในต่างจังหวัดภายใต้ข้อจำกัดจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ภาคเกษตร ไม่สามารถรองรับได้เต็มที่

3) การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงเกินไปและลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับ (1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญหลายรายการเพิ่มขึ้น (2) การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทยในด้าน ขีดความสามารถในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคเพื่อสนับสนุนภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ (3) การให้ความสำคัญกับการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ และ (4) การบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

4) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 90.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 99.0 และร้อยละ 55.0 ตามลำดับ (2) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีอยู่ที่ร้อยละ 90.0 (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 ของวงเงินงบประมาณ และ (4) การเบิกจ่ายภายใต้กรอบพระราชกำหนดเงินกู้ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

5) การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีกรอบวงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ในโครงการที่สามารถตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนและการสร้างความพร้อมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีความยืดหยุ่นในการรองรับสถานการณ์การระบาดที่มีความไม่แน่นอนอยู่สูง รวมทั้งตอบสนองต่อสภาพปัญหาทางกายภาพและปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ๆ ในภาคเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้านปัญหาประสิทธิภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ ปัญหาต้นทุนทางธุรกรรม ปัญหาการเข้าถึงตลาดและโครงสร้างตลาด รวมทั้งความท้าทายที่สำคัญ ๆ ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังการระบาดของโรค ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวภายใต้กรอบงบประมาณปกติและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้าน การขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนภายใต้กรอบนโยบายและมาตรการที่สำคัญ ๆ การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติให้ความเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการประกอบการธุรกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การปรับโครงสร้าง ภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับแนวโน้มการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการกระจายรายได้ และสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบ การประกอบธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

6) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะ (1) ความยืดเยื้อของการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ และการกลับมาระบาดของโรคในระลอกที่สอง (2) การลุกลามของปัญหาในภาคการผลิตไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงินการคลังในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ (3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจทำให้มาตรการกีดกันทางการค้ากลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้น และ (4) ความเสี่ยงจากภาวะความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ