(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 14:20 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.2 ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ ปี 2552 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

  • การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน การใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.0 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก (1) การจ้างงานในภาคการค้า และบริการโรงแรมเพิ่มขึ้น (2) รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตามการเร่งตัวของราคาพืชผล เนื่องจากอุปทานสินค้าในตลาดโลกลดลงจากปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย (3) การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยการอนุมัติโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ประกอบกับการขยายระยะเวลาดำเนินนโยบาย 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ตลอดจนการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และมีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปก็ตาม

รวมทั้งปี 2552 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวร้อยละ 1.1 เป็นการหดตัวในการใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทคงทนร้อยละ 8.1 สินค้ากึ่งคงทนร้อยละ 6.7 และสินค้าไม่คงทนร้อยละ 0.1 โดยที่สินค้าไม่คงทนประเภทอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และมิใช่อาหารลดลงร้อยละ 1.1

  • การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวเพียงร้อยละ 4.6 เทียบกับหดตัวร้อยละ 17.8 16.1 และ 12.2 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 6.3 เป็นการหดตัวที่ช้าจากเฉลี่ยร้อยละ 17.6 ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้จะมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนยังชะลอการลงทุนติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ออกไป ส่วนการลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในประเภทที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอื่นๆ ในขณะที่การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างอาคารพาณิชย์หดตัวลง

การใช้จ่ายภาคครัวเรือน

                                 2551                              2552
   (%YoY)             ทั้งปี     H1     Q3     Q4       ทั้งปี     Q1     Q2     Q3     Q4
 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน   2.7    3.0    2.7    2.1      -1.1   -2.5   -2.2   -1.3    1.4
 สินค้าคงทน            10.9   12.4   10.4    8.4      -8.1  -18.0  -13.8   -8.5    9.2
 สินค้ากึ่งคงทน           3.2    5.0    4.2   -1.0      -6.7   -8.6   -9.1  -10.3    0.8
 สินค้าไม่คงทน           1.5    2.8   -0.2    0.2      -0.1   -1.6   -1.3    0.8    1.9
   - อาหาร            1.7    2.2   -0.2    2.4       1.4    1.2   -0.2    3.2    1.4
   - มิใช่อาหาร         1.3    3.2   -0.2   -1.2      -1.1   -3.7   -2.0   -1.0    2.2
 บริการ                1.4   -1.7    3.8    4.8       2.9    7.1    4.8    2.8   -2.1

ที่มา สศช.

รวมทั้งปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 12.8 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 14.8 และ 5.4 ตามลำดับ

การส่งออก: มูลค่าและปริมาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปีร้อยละ 12.2 เทียบกับการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 21.2 ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และ 6.9 ตามลำดับ การส่งออกที่ปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวนอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการส่งออกในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีมูลค่าและปริมาณที่ต่ำมาก อันเนื่องมาจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของประเทศสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาทมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ตลอดทั้งปี 2552 มูลค่าส่งออกและปริมาณลดลงร้อยละ 13.9 และ 14.2 ตามลำดับ ส่วนราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

  • สินค้าเกษตร: เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา ในไตรมาสที่สี่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 ราคาส่งออกที่เร่งตัวขึ้นมากเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงปริมาณส่งออกของบางประเทศลดลง อันเนื่องมาจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับปริมาณการส่งออกในช่วงเดียวกันปีที่แล้วต่ำมาก สินค้าเกษตรที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เป็นผลมาจากคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ คือ จีนและอินเดียมีผลผลิตต่ำจากภัยธรรมชาติส่งผลให้ตลาดโลกมีความต้องการข้าวไทยมากขึ้น สำหรับปริมาณการส่งออก มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 180.1 จากความต้องการนำไปผลิตเป็นเอทานอลแทนกากน้ำตาลที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่เริ่มฟื้นตัวขึ้น
  • สินค้าอุตสาหกรรม: ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 โดยที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สินค้าส่งออกสำคัญขยายตัวหลายรายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางสิ่งพิมพ์/กระดาษและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง/สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผ ลิตภัณฑ์เภสัช เค รื่องมือแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 และ 8.2 ตามลำดับ แต่สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงมีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าลดลง(ในปี 2552 การส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ34 ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง)
  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า: ในไตรมาสที่สี่มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 และ 16.0 ตามลำดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมูลค่าส่งออกในช่วงเดียวกันปีที่แล้วลดลงมากจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ยังหดตัว ได้แก่ อุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งส่วนมากจะส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวเพียงช้าๆ และยังมีความเปราะบาง แต่การส่งออกฮาร์ดดิสก์ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนขยายตัวดีขึ้น
  • ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ: มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัว โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์บ้างแล้ว สังเกตได้จากการที่โรงงานผลิตรถยนต์เริ่มมีการเรียกคนงานกลับมาทำงาน ตลาดส่งออกรถยนต์หลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.4 ของมูลค่าการส่งออก) เมื่อเทียบกับสามไตรมาสแรกที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง
  • สินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล): มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 2.6 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ผักและผลไม้ทั้งในรูปสด แช่แข็ง บรรจุกระป๋องและแปรรูปอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และกุ้งแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง แช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ไก่แช่แข็งและแปรรูปทั้งนี้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากปัญหาต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
  • ตลาดส่งออก: เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ ตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ และอาเซียน (9)เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 18.3 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ 2.6 และ 1.8 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดฮ่องกง (23.8%) ไต้หวัน (27.3%) และอินเดีย (20.4%) เป็นต้น และโดยเฉพาะตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นมากร้อยละ 54.2

การนำเข้า: มูลค่าและราคาการนำเข้าเริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการนำเข้ายังหดตัวแต่ในอัตราที่ช้าลงมาก ในไตรมาสที่สี่ มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.4 ขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมาร้อยละ 37.6 33.0 และ 28.3 ตามลำดับ โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ แต่ปริมาณการนำเข้ายังหดตัวร้อยละ 4.8 เป็นการหดตัวในอัตราที่ช้าลงมากเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 32.6 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นหดตัวช้าลงมาก เมื่อคิดในรูปเงินบาท มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ 2.9 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

  • สินค้าทุน: มูลค่าและปริมาณนำเข้าลดลง มูลค่านำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 3.9 หดตัวช้าลงเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 19.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี เนื่องจากภาวะการลงทุนที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าลดลง ได้แก่ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และสินค้าทุนอื่น ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการนำ เข้าสินค้าหลักบางรายการในหมวดได้กลับมาขยายตัว อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 4.3 และราคาลดลงร้อยละ 0.4
  • สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป: ปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่องสี่ไตรมาส โดยเป็นการนำเข้าตามความต้องการใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกและเพื่อใช้ในประเทศตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสินค้าในหมวดที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่านำ เข้าลดลงแต่ในอัตราที่ช้าลง ได้แก่ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 2.4 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6
  • สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น: ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าหดตัวในอัตราที่ช้าลงมาก มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นลดลงร้อยละ 2.5 ช้ากว่าการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 41.4 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 19.4 แต่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวช้าลง เนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานราคาในช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ
  • สินค้าอุปโภคบริโภค: ปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้น มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เทียบกับการหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.1ในช่วง 9 เดือนแรกของปี เป็นผลจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สินค้าที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เสื้อผ้ารองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9

รวมทั้งปี 2552 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 24.9 โดยที่ปริมาณลดลงร้อยละ 23.0 และราคาลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อคิดในรูปเงินบาท มูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 23.0 และราคาไม่เปลี่ยนแปลง

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นมากกว่าราคานำเข้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สี่ของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ส่งออก

ดุลการค้า: เกินดุลลดลง ในไตรมาสที่สี่ ดุลการค้าเกินดุล 2,673 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 89,039 ล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 5,118 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 173,501 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สาม รวมตลอดทั้งปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 19,416 ล้านดอลลาร์สรอ. หรือเท่ากับ 669,988 ล้านบาท

ด้านการผลิต:

  • สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 2.2 เป็นผลมาจากผลผลิตพืชสำคัญๆ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวลดลงร้อยละ 16.4 3.0 1.9 และ 0.7 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศและมีฝนตกชุกจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราลดลง สำหรับราคาสินค้าหมวดพืชผลขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี ราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.2 เนื่องจากอุปสงค์ยางพาราเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางและอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 และ 8.7 ตามลำดับ ส่วนราคาปาล์มน้ำมันขยายตัวสูงถึงร้อยละ 41.1 เนื่องจากผลผลิตของโลกลดลงจากปัญหาฝนตกชุกและน้ำท่วมในแหล่งผลิตสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและภาคใต้ของไทย ราคาข้าวเปลือกยังคงหดตัวร้อยละ 9.7 เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีผลผลิตจึงออกสู่ตลาดมาก อย่างไรก็ตามราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ราคาสินค้าปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 5.8 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสุกรและไก่เนื้อ เนื่องจากความต้องการที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ราคาสินค้าประมงขยายตัวร้อยละ 1.7 ตามราคาปลาและกุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตกุ้งของโลกลดลงจากการเกิดปัญหาโรคระบาดในการเพาะเลี้ยงกุ้งทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม การที่ราคาพืชเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 2.7 รวมทั้งปีสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.6
  • สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.9 เร่งตัวขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 จากทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในการนำ เข้าสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยคำ สั่งซื้อจากต่างประเทศในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 119.0 เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 102.6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรรวมและหัวอ่านข้อมูล ที่ขยายตัวร้อยละ 46.9 และ 27.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2553 และอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องขยายตัวร้อยละ 22.3 ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 7.5 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 7.9 จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผลิตตามยอดสั่งจอง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 81.0 ตามภาวะการก่อสร้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 67.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาอย่างชัดเจนได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ร้อยละ 61.1 จากร้อยละ 46.1)เครื่องดื่ม (ร้อยละ 70.0 จากร้อยละ 52.9) อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 62.2 จากร้อยละ 51.0) อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 72.2 จากร้อยละ 59.9)อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 72.0 จากร้อยละ 68.8) อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ การผลิตรองเท้า ผลิตภัณฑ์หนังและเครื่องเรือน อยู่ที่ระดับร้อยละ 34.3 27.3 และ 25.7 ตามลำดับ ทั้งปี 2552 ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.1

  • สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5.1 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยปริมาณการจำ หน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น และปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 13.6 และ 9.6 ตามลำดับ การที่ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากที่หดตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างรวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 1.4 และ 115.9 ตามลำดับ เนื่องจากมีการขออนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ส่วนพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.2 ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ มูลค่าของโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขยายตัวถึงร้อยละ 37.2 ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจในการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นส่วนการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.3 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนก่อสร้างภาครัฐภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น และรถไฟระบบรางคู่ รวมถึงโครงการขนส่งพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และโครงการบ้าน BOI ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยราคาเหล็กคอนกรีตและซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 6.2 5.7 และ 2.0 ตามลำดับ ส่วนดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ขยายตัวร้อยละ 9.5
  • สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 1.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่อยู่ในระดับ 57.8 เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 55.8 ประกอบกับการที่สถาบันการเงินเริ่มผ่อนคลายเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้กับเอกชนมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค เห็นได้จากดัชนีราคาที่บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินที่ลดลงร้อยละ 4.0 และ 2.6 แนวโน้มการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กและระดับราคาระดับปานกลาง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเขตเมืองมากขึ้น ส่วนทำเลหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณส่วนขยายเส้นทางการคมนาคมที่จะออกสู่ชานเมือง เช่น ส่วนต่อขยายของแนวรถไฟฟ้าจากเขตธนบุรีเข้าสู่ กทม. แนวรถไฟฟ้า Airport Link ควบรวม City line รวมถึงแนวถนนราชพฤกษ์ที่ขยายจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดนนทบุรี บริเวณรามอินทรา-วัชรพล-ลำลูกกา รวมถึงรอบบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น
  • สาขาการเงิน ขยายตัวร้อยละ 6.6 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากภาคครัวเรือนเริ่มมีความมั่นใจในการบริโภคมากขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 1.4 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี ซึ่งสะท้อนจากปริมาณสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขออนุมัติจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินขยายตัวร้อยละ 5.2 และ 11.3 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของสินเชื่อในไตรมาสนี้ พบว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสที่ผ่านมาในขณะที่การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่นขยายตัวร้อยละ 14.7 อย่างไรก็ตามปริมาณสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขออนุมัติจากทั้งธนาคารพาณิชย์และจากสถาบันการเงินทั้งระบบหดตัวร้อยละ 8.6 และ 8.3 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจบางส่วนสามารถระดมทุนได้เองโดยการออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ให้เอกชนแทนการกู้จากสถาบันการเงิน
  • สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 13.5 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสนี้มีจำนวน 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เทียบกับระยะเดียวของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปี เป็นผลมาจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยรวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยเฉพาะจากทวีปเอเชียที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เกาหลี และไต้หวัน ด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 54.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคกลางที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52.0 เป็นร้อยละ 58.7เนื่องจากมาตรการจูงใจนักท่องเที่ยวโดยการปรับลดราคาห้องพักทั่วประเทศ

ตลอดทั้งปี 2552 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 14.1 ล้านคน (สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14.0 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2552 ลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีประเทศต่างๆ ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ลดลง และปัญหาทางการเมืองมีแนวโน้มคลี่คลาย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.5

  • การจ้างงาน การจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลงไตรมาสที่สี่ ปี 2552 มีการจ้างงาน 38.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อุปสงค์ในการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาการก่อสร้าง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 5.7 และ 2.9 ตามลำดับ ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.4 เนื่องจากการผลิตนอกภาคเกษตรมีอุปสงค์แรงงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งภาคเกษตรประสบกับปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ เกิดความเสียหายจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดในข้าว และเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เป็นต้น ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกลับเข้าสู่ภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 3.84 แสนคน ลดลงจำนวน 1.2 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 23.8 โดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 การที่ภาวะการจ้างงานเพิ่มขึ้นทำให้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้จำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในกำลังแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน
(ยังมีต่อ).../ประสิทธิภาพการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ