เศรษฐกิจติดดิน: รายได้ดีแต่หนี้ท่วม

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2011 09:49 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดในสหรัฐช่วงปลายปี'49 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ในปี'53 นับเป็นปีที่ 3 ที่ไทยและนานาประเทศได้พยายามหานโยบายต่างๆ มาเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าว

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ขอนำเสนอข้อมูลสถิติเพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ และภายหลังจากภาวะวิกฤตได้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว

อัตราการว่างงานเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี'48-52 พบว่า อัตราการว่างงานของประชากรมีแนวโน้มลดลงจาก 1.8% ในปี'48 เหลือ 1.4% ในปี'50-51 แสดงว่ามาตรการต่างๆของรัฐบาลในการชะลอการปลดแรงงานและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจได้บังเกิดผลอย่างดี อย่างไรก็ตามแม้อัตราการว่างงานเริ่มกระดกขึ้นเล็กน้อยในปี'52 เป็น 1.5% แต่ยังถือว่าเป็นอัตราปกติ

รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 12,150 บาทในปี'43 เป็น 20,903 บาทในปี'52 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน ส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตโดยเฉลี่ยต่อเดือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 9,848 บาทในปี'43 เป็น 16,205 บาทในปี'52

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าครัวเรือนมากกว่า 60% มีหนี้สิน โดยเป็นหนี้ถึงประมาณ 134,700 บาท มีหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 5.6 เท่าในปี'43 เป็น 6.4 เท่าในปี'52 ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการซื้อบ้านและที่ดิน

แม้ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองจะมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจของประชาชน แต่จากการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของคนไทย ปี'51-52 โดยใช้แบบสอบถามวัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ พบว่า สุขภาพจิตคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีสุขภาพจิตระดับปกติ (27-34 คะแนน) เหมือนคนทั่วไป โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 31.8 คะแนนในปี'51 เป็น 33.1 คะแนน ในปี'52

นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนคนไทยที่มีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ในระดับดี (มากกว่า 34 คะแนน) อาจแสดงให้เห็นว่าในภาพรวมคนไทยมีการปรับตัว หรือรับได้กับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัว เหตุการณ์บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ การแบกรับภาระหนี้สินของครัวเรือนที่มากกว่ารายได้กว่า 6 เท่า อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตเมืองมีคะแนนสุขภาพจิตลดลง

สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

รหัสข่าว: B-110219012030

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ