สรุปข้อมูลเบื้องต้น โครงการสำรวจการประกอบกิจการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ พ.ศ. 2555

ข่าวทั่วไป Thursday March 14, 2013 12:13 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจการประกอบกิจการโรงแรมและเกสต์เฮาส์มาอย่างต่อเนื่อง และมีแผนงานที่จะดำเนินการสำรวจทุก 2 ปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้ในการจัดทำบัญชีประชาชาติของประเทศ และการวางแผนกำหนดนโยบายการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สำหรับภาคเอกชนใช้ในการวางแผนธุรกิจ การตัดสินใจลงทุนการขยายกิจการของสาขา ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

การสำรวจนี้ คุ้มรวมสถานประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (Thailand Standard Industrial Classification TSIC-2009) ซึ่งจัดอยู่ในประเภท I หมวดย่อย 55 ที่พักแรม (กิจกรรม 55101 และ 55102 ได้แก่ การให้บริการที่พักระยะสั้นและระยะยาวที่ไม่ใช่เพื่อที่อยู่อาศัย) ในการสำรวจปี 2555 นี้มีสถานประกอบการที่ตกเป็นหน่วยตัวอย่างทั้งสิ้น 4,145 แห่ง และข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการดำเนินกิจการในรอบปี 2554 (1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2554) สรุปได้ดังนี้

1. จำนวนโรงแรมและเกสต์เฮาส์

ผลการสำรวจ พบว่า มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศทั้งสิ้น 9,865 แห่ง ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคใต้ประมาณร้อยละ 37.5 รองลงมาตั้งอยู่ในภาคกลางประมาณร้อยละ 24.4 โรงแรม และเกสต์เฮาส์ ที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประมาณร้อยละ 19.5 และ11.7 ตามลำดับ ส่วนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนต่ำสุดประมาณร้อยละ 6.9

2. จำนวนห้องพัก

โรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 457,976 ห้อง โดยโรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ มีจำนวนห้องพักมากที่สุด ประมาณ 145,728 ห้อง หรือร้อยละ 31.8 รองลงมาคือภาคกลางมีประมาณ 120,414 ห้อง (ร้อยละ 26.3) กรุงเทพมหานคร 80,077 ห้อง (ร้อยละ 17.5) ภาคเหนือ 72,186 ห้อง (ร้อยละ 15.8) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนห้องพักน้อยที่สุดคือประมาณ 39,571 ห้อง (ร้อยละ 8.6)

3. จำนวนผู้เข้าพัก

สำหรับผู้เข้าพักในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ในปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 93.8 ล้านคนในจำนวนนี้เข้าพักในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ในภาคใต้มากที่สุด ประมาณ 29.3 ล้านคน หรือ ร้อยละ 31.2 รองลงมาเข้าพักในภาคกลางและกรุงเทพมหานครประมาณ 24.8 ล้านคน และ 17.7 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 26.4 และร้อยละ 18.9 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้เข้าพักชาวไทยและชาวต่างประเทศ พบว่า เป็นชาวไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้เข้าพักในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็น ชาวต่างประเทศ ประมาณ 18.8 ล้านคน และ 9.8 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือผู้เข้าพักส่วนใหญ่เป็นชาวไทย

4. คนทำงานและลูกจ้าง

คนทำงานในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 265,906 คน โดยเป็นคนทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือน ประมาณ 10,248 คน หรือร้อยละ 3.9 เป็นลูกจ้างหรือมีการจ้างงาน ประมาณ 255,658 คน หรือ ร้อยละ 96.1 ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ (140,266 คน หรือร้อยละ 54.8) เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติงานโดยไม่ต้องใช้เทคนิค รองลงมาเป็นลูกจ้างที่ใช้เทคนิคระดับกลางประมาณร้อยละ 31.5 ที่เหลือเป็นระดับรองหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ และระดับผู้บริหารประมาณร้อยละ 7.9 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนทำงาน ในแต่ละภาค พบว่า โรงแรมและเกสต์เฮาส์ในภาคใต้มีคนทำงานมากที่สุดประมาณ 97,760 คน หรือร้อยละ 36.8 ด้านการจ้างงาน พบว่า โรงแรมฯ ในภาคใต้มีลูกจ้างมากที่สุดคือ 94,603 คน หรือร้อยละ 37.0 รองลงมาคือภาคกลาง มีลูกจ้างประมาณ 63,838 คนหรือร้อยละ 25.0 สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลูกจ้างน้อยที่สุด คือ 15,964 คน หรือร้อยละ 6.2

5. ค่าตอบแทนแรงงาน

ในปี 2554 ลูกจ้างในโรงแรมและ เกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ ได้รับค่าตอบแทนแรงงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 41,503.1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 162,338 บาท โดยในกรุงเทพมหานคร ได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ย ต่อคนต่อปี สูงที่สุดคือประมาณ 266,364 บาท รองลงมาคือ ภาคใต้ ได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยประมาณ 163,979 บาทต่อปี ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปี น้อยที่สุด คือ ประมาณ 96,672 บาท

6. รายรับและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ

จากการดำเนินกิจการในรอบปี 2554 ของโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ พบว่ามีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 150,534.0 ล้านบาท และ 110,665.7 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีรายรับและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อกิจการประมาณ 15.3 ล้านบาท และ 11.2 ล้านบาท ตามลำดับ โดยโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในภาคใต้ มีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายมากที่สุดประมาณ 57,871.8 ล้านบาท และ 44,589.5 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่โรงแรมฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดประมาณ 8,578.8 ล้านบาท และ 4,647.7 ล้านบาท ตามลำดับ

7. สรุปปัญหาและอุปสรรคของสถานประกอบการ

ผู้ประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ร้อยละ 72.5 ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ โดยในกลุ่มผู้ที่ให้ข้อมูล ในเรื่องนี้ ร้อยละ 79.0 ระบุว่ามีการแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 71.7 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี/ชะลอตัว ร้อยละ 61.1 เห็นว่าต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ร้อยละ 55.5 ระบุว่ากำลังซื้อของลูกค้าลดลง เป็นต้น

8. ความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้นมีผู้ประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ร้อยละ 65.4 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลนี้ ร้อยละ 72.7 เห็นว่าควรส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ร้อยละ 59.1 เห็นว่ารัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและร้อยละ 48.3 รัฐควรมีมาตรการลดอัตราภาษี เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ