รายงานพิเศษ : เรียนอะไร? งานจะวิ่งมาหา

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2010 15:31 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ในแต่ละปีสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง จะผลิตบัณฑิตออกมาปีละเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีประมาณ 1,000,000 คน เมื่อภาวะเศรษฐกิจถูกวิกฤตคุกคามบัณฑิตใหม่จึงตกที่นั่งลำบาก ประสบปัญหาการหางานทำหรือการว่างงานเป็นจำนวนมาก

การสำรวจผู้ว่างงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนตุลาคม 2552 อัตราการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสูงถึง 1.9 % ของอัตราว่างงานทั้งหมด

รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาร้อยละ 1.6 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 1.0 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 0.9

โดยมีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 1 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของผู้ว่างงานทั้งหมด

เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และนายจ้าง ว่าทำอย่างไร? นักเรียนนักศึกษาที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร? หรือเรียนอย่างไร? แล้วมีงานทำในยุคของการแข่งขันสูง "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จำนวน 2,157 คน นักเรียน นักศึกษา 1,029 คน 47.71% ผู้ปกครอง 621 คน 28.79% ครู/อาจารย์ 383 คน 17.76% และนายจ้าง 124 คน 5.74% ระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้

เหตุผลของผู้สำเร็จการศึกษาในการเลือกหางานทำ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 34.51 เห็นว่าเรื่องของการใช้ความรู้ความสามารถตรงกับที่เรียนมา มีอิสระในการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

รองลงมาเป็นเรื่องของชื่อเสียง ความมั่นคง ความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ไปทำงานด้วยจะต้องเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ร้อยละ 26.88%

ส่วนเรื่องของเงินเดือน โบนัส สวัสดิการ โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ตามมาเป็นอันดับสาม 23.96%

ที่บอกว่าเป็นความต้องการของครอบครัว และเลือกเพราะใกล้บ้าน เดินทางสะดวก มีจำวน 9.49% และ 5.16% ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ "ผู้สำเร็จการศึกษา" ไม่มีงานทำ (ไปสมัครแล้วไม่ได้รับเลือก) อันดับแรก 25.35% มาจากการที่นายจ้าง หรือหน่วยงานยังยึดติดอยู่กับสถาบันการศึกษาที่จบ ประกอบกับบุคลิก ลักษณะของผู้หางานไม่ตรงกับที่องค์กรต้องการ

สาเหตุที่ 2 เนื่องมาจากนักศึกษาไม่สามารถทำงานได้ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ร้อยละ 21.27%

สาเหตุที่ 3 เป็นเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เก่งทฤษฏีแต่ไม่เก่งปฏิบัติ 20.00%

สาเหตุที่ 4 อ่อนภาษาอังกฤษ และสื่อ IT ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลข วิเคราะห์ระบบ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 19.55%

สาเหตุที่ 5 สาขาที่จบมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 13.83%

ในส่วนของสาขาวิชาหรือคณะ ที่คิดว่าสามารถหางานได้ง่ายหรือเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนักศึกษา ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ นายจ้างต่างเห็นตรงกันว่า แพทย์/พยาบาลเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการมากที่สุด 27.55%

รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ 25.62% ตามด้วย บัญชี/การตลาด 18.56% บริหาร/การจัดการ 16.70% นิติศาสตร์/รัฐศาสตร์ 11.54%

เมื่อถามต่อว่า "เรียนอย่างไร?" จึงจะมีงานทำ

23.52% ระบุว่าต้องเก่งทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ เมื่อจบแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานได้จริง

22.92% ให้ความเห็นว่าต้องรู้ว่าตัวเองรักหรือชอบอะไร แล้ววางแผนล่วงหน้าดูสถานการณ์ปัจจุบัน ติดตามข่าวตลาด

20.34% ชี้ว่าต้องดูความต้องการของตลาดว่าต้องการนักศึกษาที่จบสาขาใด และเลือกเรียนตามนั้น

19.51% บอกว่าต้องตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี มีความสามารถโดดเด่นอยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดต้องการ

13.71% เห็นว่าระหว่างเรียนต้องทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างทักษะการทำงานร่วมกันหรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

รหัสข่าว B-100205031059

--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 ก.พ. 2553--

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ