การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ไตรมาสที่ 2/2552

ข่าวทั่วไป Thursday April 8, 2010 15:22 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บ้บริหาร

การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงเกี่ยวกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ก่อสร้าง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับเอกชนใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดด้านที่อยู่อาศัย ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขายและการลงทุน

ข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ไตรมาสที่ 2/2552 (เมษายน — มิถุนายน 2552) ที่นำเสนอในเอกสารนี้ เป็นข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศ เฉพาะพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 สรุปได้ดังนี้

1. จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง

ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงจำนวน 38,655ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือน 34,227 ราย และที่มิใช่อาคารโรงเรือน 4,428 ราย ดังนี้

1.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนนั้นมีพื้นที่ก่อสร้าง 10.1 ล้านตารางเมตร ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.9)ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 2.1 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนลดลงร้อยละ 4.9 และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปี 2551 จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 5.7 และพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตลดลงร้อยละ 16.5

1.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 4,428 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.4 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 0.6 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง โดยเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมันป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 393,972 ตารางเมตร และประเภทท่อ/ทางระบายน้ำถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น 577,739 เมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 7.0 แต่มีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนที่คิดเป็นพื้นที่และในส่วนที่คิดเป็นความยาว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 และ ร้อยละ 42.2 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8 โดยมีความยาวของสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 21.0 แต่พื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0

2. ชนิดของสิ่งก่อสร้าง

2.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือน

อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในไตรมาส 2/2552 ส่วนใหญ่เป็นอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยโดยมีพื้นที่รวม 7.3 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 71.8) ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น ส่วนอาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และสำนักงานมีพื้นที่รวม 0.93 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.1 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 เป็นการก่อสร้างโรงแรม คิดเป็นพื้นที่ 322,206 ตารางเมตร และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษา และสาธารณสุขจำนวน 66,920 ตารางเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าอาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 1.5 (จากพื้นที่ 10.3 ล้านตร.ม. เป็น 10.1 ล้าน ตร.ม.) โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการการศึกษา และสาธารณสุข ลดลงมากที่สุดร้อยละ 26.5 (จากพื้นที่ 91,046 ตร.ม. เป็น 66,920 ตร.ม.) รองลงมาเป็นการก่อสร้างโรงแรมลดลง ร้อยละ 11.1 เพื่อการพาณิชย์และสำนักงาน ลดลงร้อยละ 5.3 (จากพื้นที่การก่อสร้าง 982,106 ตร.ม. เป็น 930,480 ตร.ม.)อาคารเพื่ออยู่อาศัยลดลงร้อยละ 5.4 (จากพื้นที่ 7.7 ล้าน ตร.ม. เป็น 7.3 ล้าน ตร.ม.) สำหรับการก่อสร้างโรงแรม มีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตลดลงร้อยละ 11.1 (จากพื้นที่ 362,469 ตร.ม. เป็น 322,206 ตร.ม.)

หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี2551 พบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 16.5 (จากพื้นที่ 12.1 ล้าน ตร.ม. เป็น 10.1 ล้าน ตร.ม.)

2.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้นส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำยาว 254,361 เมตร (ร้อยละ 44.0) เป็นการก่อสร้างถนน ซึ่งมีความยาวรวม 175,093 เมตร (ร้อยละ 30.3) และเป็นการก่อสร้างประเภทรั้ว/กำแพงยาว 101,983 เมตร (ร้อยละ 17.7)

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 (จากความยาว 406,191 ม. เป็น 577,739 ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 21.0 (จากความยาว 731,652 ม. เป็น 577,739 ม.)

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่คิดเป็นพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างลานจอดรถได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 285,497 ตารางเมตร (ร้อยละ 72.5) และปั๊มน้ำมันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 25,480 ตารางเมตร (ร้อยละ6.5)

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 (จากพื้นที่ 298,623 ตร.ม. เป็น 393,975 ตร.ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 (จากพื้นที่ 246,238 ตร.ม. เป็น 393,972 ตร.ม.)

สรุป จากการประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างในไตรมาส 2/2552 พบว่า จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนจำนวน 34,227 รายลดลงร้อยละ 4.9 จากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่ก่อสร้างซึ่งมีจำนวน 10.1 ล้าน ตร.ม. ลดลงร้อยละ 1.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา ชนิดของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ร้อยละ 71.8 จะเป็นการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 7.3 ล้าน ตร.ม. ลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อ เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 18.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2551

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือน มีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 และความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากการประมวลข้อมูลพบว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างยังคงลดลงจากไตรมาส 2/2551ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2/2552 แต่ในไตรมาส 2/2552 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังคงชะลอตัวเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการ

บทที่ 1

บทนำ

1.1 ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงตามเทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้างเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งครอบคลุมเฉพาะเขตเทศบาล ต่อมาเพื่อให้การเก็บรวบรวมข้อมูลมีความสมบูรณ์มากขึ้นตามความต้องการใช้ข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ขยายขอบข่ายโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งที่มีและไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งข้อมูลที่เก็บรวบรวมนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ในการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการสะสมทุนและมูลค่าการก่อสร้างรวมของทั้งประเทศ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนนำไปใช้จัดทำ ตัวชี้วัดที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน เป็นต้น

สำหรับการเสนอผลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างนี้ได้นำ เสนอผลเป็นรายปีและรายไตรมาส โดยข้อมูลรายปี เป็นการนำเสนอผลข้อมูลในระดับจังหวัด ภาค และทั่วประเทศ ทั้งที่มีและไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนข้อมูลรายไตรมาสนั้นเป็นการนำเสนอผลข้อมูลในระดับภาค และทั่วประเทศ เฉพาะพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522เท่านั้น

1.2 คุ้มรวม

การเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการนี้คุ้มรวมสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่และต่อเติมหรือดัดแปลง ในทุกพื้นที่ทั้งที่มีและไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

1.3 รายการข้อมูล

การจัดทำโครงการประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการก่อสร้าง ดังต่อไปนี้

1) จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง

2) จำนวนสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง

3) พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง

1.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลการก่อสร้างเป็นประจำทุกเดือนโดยขอความร่วมมือจากสำนักงานเขต สำนักการ โยธา กรุงเทพมหานคร และหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ให้บันทึกข้อมูลลงในแบบสอบถามที่ได้จัดส่งไปให้ และเมื่อหน่วยงานดังกล่าวบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้วสำนักงานฯ ได้ขอให้ส่งแบบสอบถามคืนมายังสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือสำนักงานสถิติจังหวัด อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดยังไม่ได้ส่งแบบสอบถามคืนในคาบเวลาที่กำ หนดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะออกไปติดตามรวบรวมแบบสอบถามดังกล่าว

1.5 การประมวลผลข้อมูล

แบบสอบถามที่บันทึกคำตอบเรียบร้อยแล้ว สำนักงานสถิติจังหวัดจะทำการตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมทั้งลงรหัสรายการต่างๆ จากนั้นจะทำ การบันทึกข้อมูลเพื่อทำ การประมวลผลเบื้องต้น อย่างไรก็ดีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด จึงได้ทำการตรวจสอบความแนบนัยของข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนอีกครั้งในส่วนกลาง แล้วจึงทำ การประมวลผลและนำเสนอผลในรูปตารางสถิติต่อไป

1.6 การนำเสนอผลข้อมูล

การเสนอผลข้อมูลรายไตรมาส เป็นการนำ เสนอผลข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศ เฉพาะพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522เท่านั้น

1.7 ข้อจำกัดของข้อมูล

การประมวลข้อมูลสถิติการก่อสร้างเป็นการรายงานผลข้อมูลจากการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ซึ่งอาจจะยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้าง จริงก็ได้ นอกจากนี้ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างด้วยหลายสาเหตุ เช่น ไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานครบทุกแห่ง ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจาก การบันทึกข้อมูล หรือการลงรหัส เป็นต้น อย่างไรก็ดีสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้พยายามขจัดความคลาดเคลื่อนให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนั้น ในส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะมีบางหน่วยงาน (อบต.) กำหนดให้ผู้ที่จะทำการก่อสร้างต้องขออนุญาตทำการก่อสร้างด้วย แต่บางหน่วยงานยังไม่ได้กำหนดให้ต้องขออนุญาต ดังนั้น ข้อมูลในส่วนนี้อาจจะคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง

บทที่ 2

สรุปผลการสำรวจ

2.1 จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง

ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารและสิ่งก่อสร้างจำนวน 38,655ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือน 34,227 ราย คิดเป็นพื้นที่ 10.1ล้านตารางเมตร และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน 4,428 ราย โดยเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมันป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 393,972 ตารางเมตร และประเภทท่อ/ทางระบายน้ำถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น 577,739 เมตร

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.9) ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 2.1 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนลดลง ร้อยละ 4.9 แต่มีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลง ร้อยละ 5.7 และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 16.5

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.4) เป็นการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 0.6 เป็นการได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 7.0 และมีพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นพื้นที่ (เช่น ลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมันป้ายโฆษณา และสระว่ายน้ำ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 และมีพื้นที่ก่อสร้าง ในส่วนที่คิดเป็นความยาว (เช่น ท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน และเขื่อน/ คันดิน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปี 2551 พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8 และความยาวของสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 21.0 แต่พื้นที่ก่อสร้าง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60.0

2.2 ชนิดของสิ่งก่อสร้าง

อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในไตรมาสที่หนึ่ง นั้น ส่วนใหญ่เป็นอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยโดยมีพื้นที่รวม 7.3 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 71.8) ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น ส่วนอาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และสำนักงานมีพื้นที่รวม 0.93 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.1 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 เป็นการก่อสร้างโรงแรม คิดเป็นพื้นที่ 322,206 ตารางเมตร และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษา และสาธารณสุข จำนวน 66,920 ตารางเมตร เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษา และสาธารณสุข ลดลงมากที่สุดร้อยละ 26.5 รองลงมาเป็นการก่อสร้างโรงแรม ลดลงร้อยละ 11.1 อาคารเพื่อการพาณิชย์และสำนักงาน ลดลงร้อยละ 5.3 การก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยลดลงร้อยละ 5.4 ส่วนการก่อสร้างเพื่อการอุตสาหรรมและโรงงาน มีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 พบว่าอาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 16.5

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำยาว 254,361 เมตร (ร้อยละ 44.0) และเป็นการก่อสร้างถนนซึ่งมีความยาวรวม 175,093 เมตร(ร้อยละ 30.3) สำหรับการก่อสร้างลานจอดรถ คิดเป็นพื้นที่ 285,497 ตารางเมตร (ร้อยละ 72.5) และปั๊มน้ำมันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง คิดเป็นพื้นที่ 25,480 ตารางเมตร (ร้อยละ 6.5) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 และลดลงร้อยละ 21.0 เมื่อ เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ส่วนสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่เป็นพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่ มขึ้นร้อยละ 31.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ตามลำดับ

2.3 จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้างเป็นรายภาค

เมื่อพิจารณาข้อมูลการก่อสร้างใหม่ประเภทอาคารโรงเรือนจำแนกตามภาค พบว่ามีจำ นวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างทั้งสิ้น 33,507 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดถึง 8,839 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.4รองลงมา คือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจำนวน 7,199 รายและ 7,172 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.5 และร้อยละ 21.4 ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ก่อสร้างกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ให้ก่อสร้างมากที่สุด คือ 3.1 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31.6 ของพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ทั้งสิ้นทั่วประเทศ (9.9 ล้านตารางเมตร)

สำหรับการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ที่มิใช่อาคารโรงเรือนในไตรมาสที่สองของปี 2552 มีจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ ก่อสร้างทั้งสิ้น 4,403 ราย โดยเป็นผู้ได้รับอนุญาตการก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุดถึง 2,143 ราย (ร้อยละ 48.7) ในขณะที่ภาคใต้มีจำนวนผู้ได้รับอนุญาต การก่อสร้างประเภทนี้น้อยที่สุดเพียง 220 ราย (ร้อยละ 5.0) สำหรับพื้นที่สิ่งก่อสร้างใหม่ที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้นได้รับ อนุญาตพื้นที่การก่อสร้างรวม 391,874 ตารางเมตรเป็นพื้นที่ก่อสร้างในกรุงเทพมหานครมากที่สุดจำนวน 232,732 ตารางเมตร (ร้อยละ 59.4 ) ส่วนความยาวของสิ่งก่อสร้างประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ ที่เป็นการก่อสร้างใหม่นั้นได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 575,037 เมตร ซึ่งเป็นการก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุดคือ 302, 065 เมตร(ร้อยละ 52.5)

หากกล่าวโดยรวมแล้ว การได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ทั้งในส่วนที่เป็นอาคารโรงเรือนและมิใช่อาคารโรงเรือน สำหรับการอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลงนั้น จะมีสัดส่วนการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะเป็นลักษณะเช่นเดียวกันในทุกภาค

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ