สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความต้องการจากรัฐบาล ในปี 2553

ข่าวทั่วไป Tuesday May 4, 2010 16:35 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความต้องการจากรัฐบาล ในปี 2553 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการให้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2553 ความเดือดร้อนที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับในรอบปี 2552 และความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน/หมู่บ้านอย่างเร่งด่วน ในปี 2553 ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน/พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบายประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีประชาชน ถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 3,900 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 — 12 พฤศจิกายน 2552 โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนำเสนอผลสำรวจ ในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1. ความต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ (ของขวัญปีใหม่) ในปี 2553

ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนโดยรวมทั่วประเทศต้องการให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2553 มากที่สุด 3 อันดับแรก คือเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 38.0 รองลงมาเรื่องปัญหาความยากจน ร้อยละ 32.3 เรื่องปัญหาราคาสินค้าอุปโภค/บริโภคและให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคร้อยละ 32.2

เมื่อพิจารณาระดับภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนมากที่สุด ร้อยละ 46.7 ขณะที่ภาคเหนือและภาคใต้ ต้องการให้ดำเนินการเรื่องประกันราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 41.9 และร้อยละ 34.6 ส่วนกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการเรื่องปัญหาความยากจน ร้อยละ 39.4 และภาคกลาง เรื่องการแก้ปัญหาราคาสินค้าอุปโภค/บริโภคและให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคร้อยละ 37.1

2. ความต้องการให้รัฐบาลดำ เนินการในด้านต่างๆ ในปี 2553

ในปี 2553 ประชาชนโดยรวมทั่วประเทศ เห็นว่ารัฐบาลควรเข้ามาดำเนินการในด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ร้อยละ 48.8 ส่วนในด้านอื่นๆ เป็นอันดับรองลงมา คือ ด้านการเกษตรร้อยละ 21.7 และด้านสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมร้อยละ 16.1 เป็นต้น

ทั้งนี้ ทุกภาคมีประชาชนให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจมากที่สุดเช่นเดียวกัน ตามลำดับ ดังนี้ ภาคกลาง ร้อยละ 53.5 ภาคใต้ ร้อยละ 52.6 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 51.1 ภาคเหนือร้อยละ 46.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 44.7

3. ความเดือดร้อนที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับในรอบปี 2552

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับในรอบปี 2552 ประชาชนโดยรวมระบุเรื่องความเดือดร้อนที่ได้รับมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินและเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 40.3 รองลงมาเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 34.7 และเรื่องปัญหาการว่างงานในชุมชน ร้อยละ 22.1

ในระดับภาค พบว่า ภาคเหนือและภาคใต้ มีชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 52.5 และร้อยละ 39.5 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเดือดร้อนเรื่องปัญหาหนี้สินและเงินกู้นอกระบบมากที่สุด ร้อยละ 47.3 และร้อยละ 39.9 ส่วนกรุงเทพมหานคร เดือดร้อนเรื่องปัญหายาเสพติดมากที่สุด ร้อยละ 42.0

4. ความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในปี 2553

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องความช่วยเหลือที่ชุมชน/หมู่บ้านต้องการให้รัฐบาลเข้าไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนในปี 2553 มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินและเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 29.3 รองลงมาเป็น เรื่องประกันราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 27.8 เรื่องหางานให้ทำและส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 18.3

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า ภาคเหนือและภาคใต้ระบุเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ เรื่องประกันราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 42.4 และร้อยละ 31.9 ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางให้ช่วยเหลือเรื่องปัญหาหนี้สินและเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 37.6 และร้อยละ 25.6 ตามลำดับ ส่วนกรุงเทพมหานคร ให้ช่วยเหลือเรื่องปัญหายาเสพติด ร้อยละ 34.0

5. ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน/พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น

ผลการสำรวจฯ ปี 2552 พบว่า ในภาพรวมประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ร้อยละ 45.0 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 20.6 และไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ร้อยละ 34.4

โดยในระดับภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลฯ ในสัดส่วนค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 75.5 ขณะที่กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และภาคกลาง มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลฯ ประมาณร้อยละ 40 — 46 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 34.1

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ