ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday November 17, 2010 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 1 ดังนี้

1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)

  • การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย. — 30 พ.ย. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค. -31 มี.ค. 54
  • การประชาคม 16 มิ.ย. — 15 ธ.ค.53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย. 54
  • ออกใบรับรอง 16 มิ.ย. — 31 ธ.ค. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย. 54
  • ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53— 31 พ.ค. 54
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค. 54
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกหอมมะลิ    ตันละ 15,300 บาท        ไม่เกิน  14 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด  ตันละ 14,300 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ   ตันละ 10,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี1   ตันละ 11,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว     ตันละ  9,500 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53 * โดยเกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง

ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง

หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    - ข้าวเปลือกปทุมธานี 1    ตันละ 11,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเจ้า         ตันละ 10,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    - ข้าวเปลือกเหนียว       ตันละ  9,500 บาท             ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกตลาด และในทุกชนิดข้าว ยกเว้น

ข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้เนื่องจากข้าวหอมในตลาดนี้มีราคาถูกโดยเฉพาะข้าวของเวียดนาม และสหรัฐฯ ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับผลิตข้าวหอมมะลิ ปี2553/54 เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวมีความชื้นสูง อีกทั้งสต๊อกข้าวคงเหลือในประเทศยังมีเหลืออยู่ทั้งของพ่อค้า และรัฐบาล จึงส่งผลให้พ่อค้าโรงสีชะลอราคาซื้อเพื่อลดความเสี่ยงที่เก็บข้าวหอมมะลิ ปี 2552/53 แล้วราคาลดลงตั้งแต่กลางปี 2553

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 9 พฤศจิกายน 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 7.247 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 7.415 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.27 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,548 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,631 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,302 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,033 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,891 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,863 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,910 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,410 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.73

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,161 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,099 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,156 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,214 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 931 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,344 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 892 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,401 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.37 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 943 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,361 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 504 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,917 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.77 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 444 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 479 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,068 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,911 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.92 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 157 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,301 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 553 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,367 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 66 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.3702 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2553/54 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 ว่าจะมี 451.440 ล้านตันข้าวสาร (677.50 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 441.032 ล้านตันข้าวสาร (660.60 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2552/53 ร้อยละ 2.36 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ บราซิล พม่า กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา

2.2 การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2553/54 ณ เดือนพฤศจิกายน 2553 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 451.440 ล้านตันข้าวสาร(677.50 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.36 การใช้ในประเทศจะมี 452.547 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.48 การ

ส่งออก/นำเข้าจะมี 30.280 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.55 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 94.266 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.16

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล พม่า จีน อินเดีย อุรุกวัย กายานาและสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อิยิปต์ ปากีสถาน อียู และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ โกตดิวัวร์ คิวบา เม็กซิโก อิหร่าน อิรัก จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิค์ เยเมน อียู และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ บราซิล และฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะมี สต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และฟิลิปปินส์

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต๊อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ

2.3 ราคาข้าวเวียดนามมีแนวโน้มพุ่งขึ้น 500 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (14,685 บาท/ตัน)

ราคาข้าวเวียดนามมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 380-500 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (11,160.68- 14,685.10 บาท/ตัน) ในปี 2554 อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งข้าวเป็นสินค้า 1 ใน 3 ชนิดที่ได้รับผลกระทบต่อราคามากที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยราคาข้าวเวียดนามเคยพุ่งสูงถึง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (29,370.20 บาท/ตัน) ในเดือน พ.ค. 2551 ก่อนลดระดับราคาลงมาอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (10,279.57 บาท/ตัน) ในเดือน เม.ย. 53 อย่างไรก็ตาม ทางเวียดนามได้ประมาณการว่า ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ต่างเตรียมสำรองข้าวเพิ่มร้อยละ 30-50 ของปริมาณความต้องการเฉลี่ยต่อปี ซึ่งจะลดความผันผวนของราคาได้ระดับหนึ่ง

อนึ่ง พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามมีปริมาณการผลิตข้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2553 นี้ จะผลิตได้มากถึง 39.1 ล้านตัน (ปี 2552 ผลิตได้ 38.9 ล้านตัน) หรือประมาณร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งประเทศ โดยมาตรฐานราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 475 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (13,950.85 บาท/ตัน) และข้าว 25% ประมาณ 445 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (13,069.74 บาท/ตัน)ในขณะที่ราคาข้าวในสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2553 เท่ากับ 500 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (14,685.10 บาท/ตัน) นอกจากนี้ ในฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา เวียดนามสามารถเก็บสต็อกได้ 1.4 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้คงเหลืออยู่ประมาณ 1.1 ล้านตัน โดยมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ฤดูการเก็บเกี่ยวย่อยกำลังจะเริ่มใน 3 สัปดาห์ถัดไป

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 พ.ย. 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ