เกษตรฯ เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำภาคกลาง นำร่อง จ.สุพรรณบุรี ต้นแบบ

ข่าวทั่วไป Monday February 28, 2011 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดตัวนำร่องโครงการบริหารจัดการน้ำภาคกลางอย่างยิ่งใหญ่ นำร่องจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในโครงการ 1,649 ไร่ เกษตรกรผู้เกี่ยวข้อง 77 ครัวเรือน หวังเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นในภาคกลางได้ศึกษาดูงาน โดยเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำร่องเปิดโครงการบูรณาการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ 4 ภาค โดยเปิดโครงการในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เรียบร้อยแล้ว สำหรับภาคกลางเปิดโครงการที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นในภาคกลางได้ศึกษาดูงานการพัฒนาระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรไปสู่แปลงของเกษตรกร โดยมีหน่วยราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งท้องถิ่นเข้าไปร่วมบูรณาการพัฒนาเกษตรกร ระดับรายได้ของเกษตรกรควรจะสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น หรือมีการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร

สำหรับโครงการของจังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในโครงการ 1,649 ไร่ เกษตรกรผู้เกี่ยวข้องจำนวน 77 ครัวเรือน จากการเก็บข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรก่อนเริ่มโครงการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 พบว่า เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีที่ดินเฉลี่ยครัวเรือนละ 34.28 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 33.37 ไร่ โดยที่ดินส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 61 เป็นที่เช่า อัตราค่าเช่าค่อนข้างสูง เฉลี่ยไร่ละ 1,500-1,800 บาท/ไร่/รุ่น โดยรายได้ของเกษตรกรเฉลี่ยครัวเรือนละ 601,736 บาท/ปี ซึ่งร้อยละ 83 เป็นรายได้ในภาคเกษตร ส่วนที่เหลือเป็นรายได้นอกการเกษตร รายได้ภาคการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ร้อยละ 93 จะมาจากการปลูกข้าวนาปี-นาปรัง ส่วนค่าใช้จ่ายทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 36 เป็นค่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ส่วนต้นทุนเงินสดในการปลูกข้าวในโครงการเฉลี่ยไร่ละ 4,394 บาท

นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำที่สมบูรณ์แล้ว ควรให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพราะปัญหาทางการเกษตรกรในปัจจุบันมีค่อนข้างมาก เช่น แรงงานภาคเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรมีจำกัด เฉลี่ยครัวเรือนละ 1-2 คน และมีอายุมาก ขาดการเรียนรู้และยอมรับกิจกรรมใหม่ๆ ดังนั้น การพัฒนาควรเน้นความสมัครใจของเกษตรกรจึงจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ