สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรก และภาพรวมตลอดปี 54

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2011 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรก 2554 ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยทุกสาขาขยายตัวค่อนข้างดี ยกเว้นสาขาประมง ที่หดตัวลงค่อนข้างมาก จากความแปรปรวนและผันผวนของอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงและอัตราการรอด เผย ภาพรวมทั้งปี 2554 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 - 5.3 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรกของปี 2554 ว่า ยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ แต่ไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนัก โดยผลผลิตของพืชสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาพืชส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับสาขาปศุสัตว์ ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากแรงจูงใจทางด้านราคา ประกอบกับการวางมาตรการควบคุมโรคที่ดีและระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ทำให้การผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมดีขึ้น ส่วนสาขาประมงหดตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนและผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง อัตราการรอด และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันและวัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขาพบว่า

สาขาพืช ในครึ่งปีแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดภาวะภัยแล้งและศัตรูพืชระบาดในบางพื้นที่ เช่น เชียงราย แพร่ และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงอุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวมมากนัก อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพอากาศโดยรวมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด ส่งผลให้การผลิตพืชส่วนใหญ่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนสินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว และยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น สำหรับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นข้าวนาปีราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมทั้งความชื้นสูงทำให้คุณภาพข้าวเปลือกลดลง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากระดับราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสุกร ขณะที่ผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นจากภาวะการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นและการปลดไก่ออกจำหน่ายเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สำหรับการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์โรคสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2553 อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ ทำให้แม่ไก่สามารถให้ไข่ได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนการผลิตของโค-กระบือจะยังอยู่ในช่วงซบเซาจากการค้าในปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออกโคจำนวนมาก และการขายเพื่อการบริโภค รวมทั้งเกษตรกรบางรายหันไปเพาะปลูกพืชแทนการเลี้ยงสัตว์ ทำให้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ลดลง อย่างไรก็ตาม จากความต้องการของตลาดที่ยังเพิ่มขึ้น และราคาปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ของภาครัฐ ส่งผลให้ภาวการณ์ผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมดีขึ้น

สาขาป่าไม้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.2 เนื่องจากผลผลิตของป่าที่สำคัญหลายชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น รังนก น้ำผึ้งป่า ไม้ไผ่ และยางไม้ธรรมชาติ โดยเฉพาะรังนกซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ไม้ในภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวและอุปสงค์ในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน และไม้ก่อสร้าง ขยายตัวตามไปด้วย สำหรับ สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวได้ค่อนข้างดีประมาณร้อยละ 6.0 ตามการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เนื่องจากแรงจูงใจทางด้านราคา รวมทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

สำหรับ สาขาประมง หดตัวลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ในช่วงครึ่งปี มีปริมาณลดลง เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคใต้ในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2554 สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มกุ้งจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้กุ้งโตช้าและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่วนการผลิตประมงน้ำจืด ผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้บ่อและกระชังเลี้ยงปลานิลได้รับความเสียหายจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นปีส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปลานิล อีกทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงยังประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 - 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคต่าง ๆ มีมากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงราคาน้ำมันที่ค่อนข้างผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกลดลง แต่ยังมีความกังวลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง จากการวิเคราะห์ภาพรวมในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 6.5 — 7.5 โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่าสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จากสภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนอาจส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตไม่พอกับความต้องการบริโภคในแต่ละประเทศ สำหรับ สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะมีการขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.3 — 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่เคยมีปัญหาโรคระบาดในไก่และสุกร ปัญหาสภาพอากาศร้อน และสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงช่วงต้นปี 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก่เนื้อและสุกร โดยเกษตรกรได้มีการปรับระบบการเลี้ยงให้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าการผลิตจะสามารถทยอยเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี

สาขาประมง มีแนวโน้มหดตัวลงจากปีก่อนอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.5) — (-2.5) เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและปัญหาภัยธรรมชาติ รวมถึงปัญหาโรคระบาดในกุ้งเพาะเลี้ยง ส่งผลให้มีผลผลิตประมงออกสู่ตลาดน้อย ด้านการส่งออกสินค้าประมงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ส่งออกมีความกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับปริมาณผลผลิตที่ลดลงอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมแปรรูปประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แม้ว่าความต้องการเพื่อการส่งออกยังมีอยู่ต่อเนื่อง ส่วนสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 - 2.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตไม้และของป่าหลายชนิดยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งความต้องการใช้ไม้ในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มความต้องการใช้ไม้เพื่อการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในเอเชีย และ สาขาบริการทางการเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 2.9 - 3.9 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งโครงการประกันรายได้ของเกษตรกร จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

          สาขา                        2553        2554
                                      ทั้งปี       ครึ่งปีแรก         ทั้งปี
          ภาคเกษตร                   -1.7         7.3          4.3-5.3
          สาขาพืช                     -3.3        11.1          6.5-7.5
          สาขาปศุสัตว์                   3.1         1.7          1.3-2.3
          สาขาประมง                   1.2        -3.6       (-3.5)-(-2.5)
          สาขาป่าไม้                   -0.5         4.2          1.8-2.8
          สาขาบริการทางการเกษตร       -1.8           6          2.9-3.9

จากการประมาณการ โดย สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ