สศก. ร่วมประชุมแผนงานภายใต้โครงการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดยโสธร

ข่าวทั่วไป Thursday July 28, 2011 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเข้าร่วมประชุม คณะทำงานในพื้นที่ของจังหวัดยโสธร เพื่อรับทราบแผนงานกิจกรรมภายใต้โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 ของจังหวัดยโสธร ปีงบประมาณ 2554 พร้อมแจงงบประมาณดำเนินกิจกรรมจากส่วนราชการต่างๆ

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข .4) สำนักงานเษรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมในคณะทำงานในพื้นที่ของจังหวัดยโสธร เพื่อรับทราบแผนงานกิจกรรมภายใต้โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 ของจังหวัดยโสธร ปีงบประมาณ 2554 กับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7 หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ประธานกลุ่มเกษตรกร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอำเภอค้อวัง และมหาชนะชัย ซึ่งในจังหวัดยโสธรได้มีการดำเนินกิจกรรมหลากหลายในเขตทุ่งกุลาฯ โดยใช้งบประมาณของส่วนราชการ ดังนี้

พัฒนาที่ดินจังหวัด ดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ชลประทานจังหวัด ก่อสร้างคันกั้นน้ำและระบบสูบน้ำบ้านฟ้าห่วน ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พื้นที่รับประโยชน์ 2,000 ไร่ เกษตรจังหวัด ส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพแก่เกษตรกร 180 ราย จำนวน 900 ไร่ พัฒนากระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน 9 กลุ่ม เกษตรกร 450 ราย กระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานผลผลิตข้าวหอมมะลิปลอดภัยและอินทรีย์ 6 กลุ่ม เกษตรกร 150 ราย สหกรณ์จังหวัด สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการตลาดข้าว ติดตามสหกรณ์ในการพัฒนาคลัสเตอร์ ติดตามการรักษาระบบมาตรฐาน GMP/ISO ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2 สหกรณ์ ถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกสถาบันเกษตรกรเพื่อไปปรับใช้พัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ พาณิชย์จังหวัด ดำเนินการเพิ่มศักยภาพตลาดสีเขียว หาจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และนำกลุ่มผู้ผลิตผู้แปรรูปที่มีศักยภาพร่วมงานแสดงสินค้ารวมพลคนอินทรีย์ และ อุตสาหกรรมจังหวัด จัดทำบรรจุภัณฑ์ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 2 กลุ่มๆ ละ 1 ผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม พบว่า ในการส่งออกอินทรีย์และระยะปรับเปลี่ยน ของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อมที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีสมาชิก 400 ราย ที่มีความสามารถในการส่งออกได้ครั้งละประมาณ 20-40 ตัน ยังมีปัญหาในการส่งออกเรื่องของกระสอบขาดระหว่างขนย้าย และการตรวจคุณภาพพบมอดตายปนเล็กน้อย ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือให้คงไว้ต่อไป นายบัณฑิต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ