สศข.3 เผย ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก สปป.ลาว

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 16:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.3 รายงานการค้าขายสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนไทย บริเวณด่านท่าลี เชียงคาน และบึงกาฬ กับ สปป.ลาว เผย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมูลค่านำเข้ามากที่สุด 138,498 ตัน มูลค่ากว่า 499.48 ล้านบาท เหตุจากปริมาณการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ และภัยธรรมชาติ เกษตรกรจึงหันไปปลูกมันสำปะหลังกับอ้อยโรงงานที่ทนแล้งและให้ผลตอบแทนดีกว่า แนะภาครัฐและเอกชนไทย-ลาว ควรมีการหารือร่วมกันถึงโยบายและการดำเนินการอย่างชัดเจนในการผลิตสินค้าเกษตรใน สปป. ลาว เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ และควบคุมการนำเข้าให้ถูกระบบ

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 มีพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดน ทำให้การค้าบริเวณพรมแดนสามารถดำเนินการได้หลายทาง เช่น ด่านศุลกากร (ด่านศุลกากรเชียงคาน ด่านศุลกากรท่าลี่ จังหวัดเลย ด่านศุลกากรบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ) จุดผ่อนปรน และจุดผ่านแดนชั่วคราว การขนส่งสินค้าจะมีเรือโดยสารและแพขนานยนต์ (เรือปั๊ก) และทางรถยนต์ ซึ่งการขนส่งสินค้าสะดวก ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนมีมูลค่ามากในแต่ละปี อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งา ถั่วลิสง ลูกเดือย ต้นพันธุ์มันสำปะหลัง

โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด โดยในปี 2554 (เดือนมกราคม-ตุลาคม) มีปริมาณนำเข้าบริเวณด่านศุลการกรท่าลี จ.เลย ด่านศุลกากรเชียงคาน จ.เลย และที่ด่านศุลกากรบึงกาฬรวม 138,498 ตัน คิดเป็นร้อยละ 35 ของผลผลิตในเขต สศข.3 (อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 101,215 ตัน ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 มูลค่าการนำเข้า 499.48 ล้านบาท จะเห็นว่าปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณการผลิตในพื้นที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพ่อค้า/ผู้ประกอบการ ประกอบกับในปีเพาะปลูก 2554 จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 652,940 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 39 ของพื้นที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 4 เนื่องจากเกิดภัยแล้งในปีที่ผ่านมาเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานที่ทนแล้งและให้ผลตอบแทนดีกว่า อีกทั้งมีบางส่วนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน นกเตน ไห่ถาง และ นาลแก ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้มีพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสียหายประมาณร้อยละ 5 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด และคาดว่าปีนี้จะได้ผลผลิต จำนวน 375,850 ตัน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ประสบภัยธรรมชาติประกอบกับมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสปป.ลาวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ควรมีการหารือในส่วนภาครัฐกับเอกชน ของไทย และ สปป.ลาว เพื่อร่วมกันพิจารณาการค้าชายแดนอย่างจริงจัง โดยมีนโยบายและการดำเนินการอย่างชัดเจนในการผลิตสินค้าเกษตรใน สปป. ลาว เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ รวมทั้งมาตรการควบคุมในการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ