สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 54 เผย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 พร้อมจับตาแนวโน้มปี 55

ข่าวทั่วไป Friday January 20, 2012 14:17 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 54 เผย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยช่วงครึ่งแรกปี 54 ภาคเกษตรเติบโตได้ในระดับสูง แต่จากเหตุอุทกภัยตั้งแต่ช่วงปลาย ก.ค. 54 ส่งผลภาคเกษตรเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 คาด แนวโน้ม ปี 55 ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงร้อยละ 4.5 — 5.5 ภายใต้สภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นปกติและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตมากขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังความอ่อนไหวจากสภาพอากาศที่มีความผันผวน และความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2554 และแนวโน้มปี 2555 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประมาณการอัตราการเติบโตของภาคเกษตรในปี 2554 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ภาคเกษตรเติบโตได้ในระดับสูง เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างเป็นปกติ แต่จากปัญหาอุทกภัยที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ได้ขยายเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่และผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด ส่งผลให้ภาคเกษตรเริ่มหดตัวลงในไตรมาสที่ 3 และหดตัวต่อเนื่องมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่ขยายตัว มี 3 สาขา ได้แก่

สาขาพืช พบว่า ในปี 2554 การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาคใต้ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันบางส่วน แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวมมากนัก อย่างไรก็ตาม จากอิทธิพลของพายุหลายลูกในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาสที่ 4 ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นวงกว้างในพื้นที่ทางการเกษตรเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปีลดลง สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลเอาใจใส่และบำรุงรักษาที่ดีขึ้นของเกษตรกร ประกอบกับสถานการณ์เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่ลดลง สำหรับสถานการณ์ด้านราคา สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ยางแผ่นดิบชั้น 3 และข้าวเปลือกเจ้านาปี ที่ราคาอยู่ในระดับที่สูงตามความต้องการและราคาในตลาดโลก

สาขาปศุสัตว์ พบว่า การผลิตในปี 2554 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยสถานการณ์ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีภาวะการผลิตที่ดีขึ้น กล่าวคือ การผลิตไก่เนื้อมีระบบการผลิตที่ดีและปลอดภัย ทำให้ความสูญเสียจากปัญหาโรคระบาดลดลง มีผลผลิตออกสู่ตลาดสม่ำเสมอและเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ประกอบกับความต้องการบริโภคไก่เนื้อของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสุกรที่มีปริมาณลดลงและมีราคาสูงขึ้น ด้านการผลิตไข่ไก่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากแม่พันธุ์ไก่ไข่รุ่นใหม่ที่ให้ผลผลิตได้มากขึ้น และประสิทธิภาพการผลิตไข่ไก่ที่ดีขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์และการเลี้ยง ขณะที่ภาวการณ์ผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคาและจำนวนแม่โคที่เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตสุกรหดตัวลงจากสถานการณ์โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respirator Syndrome: PRRS) รวมทั้งปัญหาอุทกภัยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสาขาปศุสัตว์โดยรวมมากนัก สำหรับสถานการณ์ด้านราคาปศุสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ การผลิตสาขาป่าไม้ในปี 2554 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ในอัตราร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลผลิตของป่าที่สำคัญหลายชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับไม้เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยูคาลิปตัส มีการปลูกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สาขาที่หดตัวลงมี 2 สาขา คือ สาขาประมงและสาขาบริการทางการเกษตร โดย สาขาประมง ในปี 2554 หดตัวลดลงร้อยละ 2.6 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะในแหล่งผลิตประมงทะเลที่สำคัญทางภาคใต้ และหลังจากเกิดอุทกภัยเกษตรกรต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการเจริญเติบโตและอัตราการรอดของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังมีอุปสรรคในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากผลกระทบอุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้เนื้อที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลได้รับความเสียหายทั้งนาข้าว พืชไร่ และพืชสวนต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวลดลงตามไปด้วย

ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2555 ว่า จะขยายตัวต่อเนื่องอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5 — 5.5 ภายใต้สภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นปกติ ไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย รวมทั้งไม่มีปัญหาแมลงศัตรูพืชและโรคระบาดต่างๆ โดยสาขาพืชมีทิศทางเติบโตได้ดี เนื่องจากราคาพืชส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตมากขึ้น สำหรับสาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน รวมทั้งราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสาขาประมงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังมีความอ่อนไหวจากสภาพอากาศที่มีความผันผวน รวมถึงราคาน้ำมันและราคาอาหารสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน โดย สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6.3 — 7.3 เนื่องจากผลผลิตของพืชสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง ข้าว อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จากการที่เกษตรกรขยายการผลิตตามทิศทางของราคาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ดีขึ้น สำหรับสถานการณ์ด้านราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า โดยเป็นไปตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วน สาขาปศุสัตว์ การผลิตปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับระบบการเลี้ยงที่ดีขึ้น ซึ่งจะลดปัญหาโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในสุกร มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การผลิตในสาขาปศุสัตว์ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2555 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร และน้ำนมดิบ จากความต้องการบริโภค ขณะที่ราคาไข่ไก่มีแนวโน้มลดลงจากปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น

สาขาประมง การผลิตปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.6 — 1.6 เนื่องจากราคาผลผลิตในปี 2554 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่จะจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการดูแลและมีการวางแผนการผลิตที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ส่วนประมงน้ำจืด หากสถานการณ์เป็นปกติคาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำจืดในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นตามการสนับสนุนส่งเสริมของกรมประมงที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่วน สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสาขาพืชที่มีทิศทางเติบโตได้ดี เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ทำให้มีการจ้างบริการทางการเกษตร เช่น การเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อสาขาบริการทางการเกษตร ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการผลิตสาขาบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 - 3.9 และ สาขาป่าไม้ แนวโน้มปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 เนื่องจากมีการตัดฟันไม้เศรษฐกิจจากป่าปลูกออกมา เพื่อป้อนโรงงานเฟอร์นิเจอร์และใช้ในภาคการก่อสร้าง ภายหลังเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวจากอุทกภัย ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้ เครื่องเรือน และไม้ก่อสร้าง ขยายตัวตามไปด้วย

              อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร
           สาขา               2554            2555
           ภาคเกษตร           2.2           4.5 — 5.5
           พืช                 3.8           6.3 — 7.3
           ปศุสัตว์              1.2           2.1 — 3.1
           ประมง             -2.6           0.6 — 1.6
           บริการทางการเกษตร  -0.7           2.9 — 3.9
           ป่าไม้               2.2           1.0 — 2.0

ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ