นานาประเทศเริ่มออกมาตรการคุมเข้มทางภาษี หวังลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 24, 2012 11:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจง นานาประเทศเริ่มออกมาตรการทางภาษี โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ อังกฤษ เพื่อมุ่งกระตุ้นให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนะ ไทยต้องเริ่มตื่นตัวและอาจจำเป็นต้องใช้กลไกทางภาษีเพื่อกระตุ้น แต่ต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบและมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ประชาคมโลกได้ตระหนัก และให้ความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และกว้างขวางในหลายๆ แห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม พายุหมุน และอุณหภูมิที่แปรปรวน ซึ่งรัฐบาลหลายๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญและพยามหาแนวทาง/มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ เครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน คือ มาตรการทางภาษี โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน (carbon tax) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้นำมาตรการทางภาษีมาใช้แล้ว เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ อังกฤษ

โดยเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2554 ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายภาษีมลพิษ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โดยกำหนดให้บริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ประมาณ 500 แห่งในออสเตรเลีย เสียภาษีในอัตราตายตัวเริ่มต้นที่ 23 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน ในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นจะเริ่มใช้แผนการค้าสิทธิ์การปล่อยมลพิษ (Emissions Trading Scheme) ด้วยอัตราภาษีลอยตัวตามตลาด โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดราคาพื้นฐาน พร้อมกันนี้รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนพลังงานสะอาด (Clean Energy Finance Corporation) วงเงิน 1 หมื่น ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนด้วย การออกมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยให้ออสเตรเลียบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อยร้อยละ 5 ในปี 2563 เทียบกับปี 2543 ซึ่งปัจจุบันออสเตรเลียเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 1.5 ของโลก และยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงที่สุดในโลกอีกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพาถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน แต่ในอนาคตอาจจำเป็นต้องใช้กลไกทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกระแสโลก ซึ่งจะต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบและมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยอมรับได้ของทุกฝ่าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ