สศข.6 ร่วมกับ สสข.3 ระดมพลบูรณาการข้อมูลไม้ผลเอกภาพภาคตะวันออก ปี 55

ข่าวทั่วไป Monday February 13, 2012 13:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.6 ร่วมกับ สสข.3 ระดมพลบูรณาการข้อมูลจากเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลภาคตะวันออก เพื่อจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผล และวางแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกได้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล ซึ่งเป็นการทำให้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเอกภาพ โดยจะลงพื้นที่สำรวจจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ระหว่างวันที่ 10-25 กุมภาพันธ์ 2555

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้คาดการณ์ผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2555 จำนวน 4 ชนิดคือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ ปรากฏว่าพื้นที่ให้ผล ปี 2555 ลดลงประมาณ 9,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.33 แต่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผลผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับ ปี 2554 ประมาณ 755,000 ตัน แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์การผลิตผลไม้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน หากสภาพ ดิน ฟ้า อากาศแปรปรวนอาจทำให้ผลผลิตไม้ผลอาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทาง สศข. 6 จ.ชลบุรี และสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ระยอง (สสข. 3) ได้ร่วมกันจัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อออกไปสำรวจข้อมูลจากเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการสำรวจข้อมูลไม้ผล เป็นการทำงานแบบบูรณาการเพื่อจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพ ระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นการทำให้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเอกภาพ

ทั้งนี้การบูรณาการจัดทำข้อมูลไม้ผลเอกภาพดังกล่าว สศข.6 จ.ชลบุรี และ สสข.3 จ.ระยอง

สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ได้ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันปี 2555 ซึ่งเข้าปีที่ 9 เป็นการสำรวจที่ทำให้ทราบถึงปริมาณผลผลิต ตลอดจนปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน เพื่อจะได้นำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกได้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล การดำเนินการจัดเก็บข้อมูลจะมีเจ้าหน้าที่จาก สศข.6 เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอต่างๆ ร่วมกันจัดเก็บข้อมูลกับเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ระหว่าง วันที่ 10-25 กุมภาพันธ์ 2555 และจะนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาประชุมพิจารณาร่วมกัน เพื่อนำเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดจริง

อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องเกษตรกร ผู้ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในภาคตะวันออก ให้ความร่วมมือในการตอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สำรวจ ที่จะเข้าไปสำรวจข้อมูลตามหมู่บ้านตัวอย่าง ตามสภาพความเป็นจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป นายพลเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ