สศก. ชูผลการจัดทำจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร หลังจัดเวทีประชาพิจารณ์ครบ 5 ภาคเมื่อปลายปี 54 ได้ผลสรุป 3 ยุทธศาสตร์หลัก ตามวิสัยทัศน์ “สร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”
นายอภิชาต จงสกุล เลขิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการจัดทำยุทธศาสตร์ได้จัดจัดประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์ ระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 500 คน ในพื้นที่ 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่ง สศก. ได้จัดประชุมระดมความเห็นทั้ง 5 ภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และ สงขลา แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 54 เพื่อให้ร่างแผนยุทธศาสตร์ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ ส่วนเสียกับการดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ฯ
สำหรับแนวทางการจัดทำในร่างยุทธศาสตร์ฯ ภายใต้สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ประเด็นการพัฒนาจะต้องคำนึงถึง คือ ความมั่นคงของอาหาร การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่การผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลก และความเป็นหุ้นส่วนของประชาคมโลก โดยได้พิจารณาประกอบกับแผนพัฒนาการเกษตรภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 และแผนยุทธศาสตร์ความมั่งคงทางด้านอาหาร พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งผลจากการระดมความเห็น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินการปรับร่างยุทธศาสตร์ฯ ตามข้อคิดเห็นของเวทีที่ประชุมทั้ง 5 ภาค สรุปเป็น 3 ยุทธศาสตร์ โดยมีวิสัยทัศน์ “สร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและการเก็บกักก๊าซ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกอย่างเหมาะสม โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับระบบการผลิตสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับระบบการผลิต รวมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านเกษตร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และจัดทำฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร สำหรับการพัฒนาต่อยอดความรู้ การสร้างเครือข่ายนักวิจัย การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหา ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การเตรียมความพร้อมบุคลากรในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตลอดจนการพัฒนาการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ในภาคเกษตรไทย มีความตระหนัก รับรู้และมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการ สามารถปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมในการบรรเทาและแก้ไขปัญหา มีการสร้างกลไกเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร มีระบบเตือนภัย รวมทั้งจัดทำโครงการสนับสนุน ส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรเพื่อให้เกิดการปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการดังกล่าว ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--