เกษตรกรยิ้ม ทุเรียนนท์เป็นที่นิยมสูงแม้ราคาพุ่งแตะ 1 หมื่นบาท/ลูก

ข่าวทั่วไป Thursday June 28, 2012 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.7 ลงพื้นที่นนทบุรี ติดตามสถานการณ์ทุเรียนนนท์ เผยราคาพุ่งสูงแตะลูกละ 1 หมื่นบาท แต่ยังขายดีเป็นที่ติดใจผู้บริโภคด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ระบุ เกษตรกรหลายรายยังกังวลที่จะปลูกทุเรียนทดแทนพื้นที่สวนทุเรียนที่เสียหายจากอุทกภัย ด้านกระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าจัดโครงการกู้วิกฤตสวนไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย นำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนนทบุรีส่งมอบกลับคืนสู่เกษตรกรเจ้าของพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนนนท์ไม่ให้หายไป

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทย นับเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดปริมาณมากถึง 271,948 ตัน รวมมูลค่า 4,662 ล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุดคือ ประเทศจีน สำหรับทุเรียนที่ปลูกกันในประเทศไทย ทั้งทุเรียนพื้นบ้านและทุเรียนพันธุ์ มีมากหลายสายพันธุ์ ที่อร่อยขึ้นชื่อ เช่น หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เป็นต้น ซึ่งทุเรียนนนท์ ถือเป็นทุเรียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดีที่สุด ปลูกมากในอำเภอเมือง และอำเภอปากเกร็ด เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงมานานด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินในจังหวัดนนทบุรี ที่เป็นดินตะกอนสะสมจากแม่น้ำ มีฮิวมัส มีปุ๋ยจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทับถมกัน ทำให้ผลไม้หลายๆ ชนิด ที่ปลูกในแถบนี้มีรสชาติดี โดยเฉพาะทุเรียน จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของทางจังหวัด และจากการสำรวจพบว่า ราคาขายของทุเรียนปีนี้จะอยู่ที่ ลูกละ 7,000 — 10,000 บาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว โดยปีที่แล้วราคาขายทุเรียนนนท์อยู่ที่ลูกละ 3,000 — 4,000 บาท หรือ 3 ลูก 10,000 บาท

สำหรับจังหวัดนนทบุรี แต่เดิม มีสวนทุเรียน 1,628 ไร่ แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 พื้นที่สวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรีถูกทำลายเสียหายไปมาก ทำให้ผลผลิตทุเรียนของจังหวัดนนทบุรีที่ออกสู่ตลาด มีปริมาณน้อย และจากการลงพื้นที่สอบถาม กลุ่มเจ้าของสวนทุเรียนนนท์ ตำบลบางรักน้อย ในอำเภอเมือง ทำให้ทราบว่า ถึงแม้ราคาทุเรียนนนท์จะพุ่งขึ้นสูงจนถึงลูกละ 10,000 บาท แต่ก็สามารถขายผลผลิตได้หมด อีกทั้งมีการจองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่อยู่บนต้น อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรอีกหลายรายยังไม่กล้าที่จะปลูกทุเรียนทดแทนพื้นที่สวนทุเรียนที่เสียหาย เนื่องจากยังไม่วางใจสถานการณ์น้ำในปีนี้

ทั้งนี้ นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ผลไม้เกรดคุณภาพจะมีราคาสูงมาก แต่หากเกิดปัญหาจากธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจจะส่งผลกระทบถึงต้นทุนการผลิตเนื่องจากใช้เวลาปลูกหลายปีจึงจะให้ผล ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เห็นความสำคัญของทุเรียนนนท์ และได้จัดโครงการกู้วิกฤตสวนไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย นำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนนทบุรีที่เก็บรักษาและขยายพันธุ์ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี มาส่งมอบกลับคืนสู่เกษตรกรเจ้าของพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนนนท์ไม่ให้หายไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ