สศข.7 นำร่องตำบลบางหลวง จังหวัดชัยนาท จัดทำแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีการเกษตรแบบรายแปลง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 5, 2012 13:09 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 นำร่องพื้นที่ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ จัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรรายแปลงด้วยแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี มาตราส่วน 1:4,000 เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตร พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรได้ถูกต้องสอดคล้องตามสภาพข้อเท็จจริงยิ่งขึ้น

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ข้อมูลในภาคการเกษตรมีความหลากหลายมากขึ้น โดยนอกจากมีความต้องการสารสนเทศในเชิงทางสถิติที่เป็นแบบตัวเลขแล้ว ยังมีความต้องการสารสนเทศในรูปแบบเชิงพื้นที่ ที่เรียกว่า “ภูมิสารสนเทศ” ที่สามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่อ้างอิงระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งแสดงรูปร่างและขนาดของพื้นที่ และที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินอื่นๆ ตามความจำเป็น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งแปลงของเกษตรกร พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี มาตราส่วน 1: 4,000 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระบบดิจิตอล เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงและจัดเก็บไว้ในรูปแบบของระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics Systems) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำหมู่บ้านและเกษตรกรผู้ทำประโยชน์ที่ดินรายแปลง เป็นผู้ให้ข้อมูลขอบเขตการปกครองระดับตำบล และหมู่บ้าน รวมถึงขอบเขตแปลงที่ดินและรายละเอียดของข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ทั้งนี้ หากมีแผนที่ทำการเกษตรของครัวเรือนเป็นรายแปลงครบในพื้นที่ดังกล่าว ก็จะส่งผลให้หน่วยงานราชการสามารถนำภูมิสารสนเทศในรูปแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรรายแปลงไปใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการวางแผนพัฒนาการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ถูกต้องสอดคล้องตามสภาพข้อเท็จจริงยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินงานจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรรายแปลงโดยใช้ระบบภูมิสารสนเทศนั้น ถือได้ว่าเป็นฐานข้อมูลที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ เนื่องจากข้อมูลสารสนเทศดังกล่าว สามารถอ้างอิงตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ และสามารถใช้ระบบอ่านพิกัดบนพื้นโลกจากดาวเทียม (GPS) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบความถูกต้องได้ นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในการจัดทำข้อมูลเอกภาพตอบสนองแนวทางพัฒนาคุณภาพข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อีกด้วย นางจันทร์ธิดา กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ