ราคาปลากะพงขาวปรับตัวสูง แตะกิโลละ 185 บาท แนะเกษตรกรเตรียมพร้อมรับฤดูน้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2012 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามสถานการณ์ปลากะพงขาว ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และสตูล เผย ราคาปรับตัวสูงขึ้น 185 บาท/กก. เหตุจากผลผลิตลดน้อยลงจากปัญหาอุทกภัยและน้ำเน่าเสีย โดยภาครัฐออกนโยบายให้การส่งเสริมและขยายจำนวนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวเพิ่มขึ้นแล้ว แนะเกษตรกรหมั่นสังเกตสภาพน้ำ เตรียมพร้อมรับฤดูน้ำหลากเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ปลากะพงขาว ใน 4 จังหวัดภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และสตูล) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ พบว่า ผลผลิตและจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวลดลงมาก โดยเฉพาะตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง และอำเภอจะนะ ของจังหวัดสงขลา ที่เป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากปลากะพงขาวที่เลี้ยงในกระชังได้รับความเสียหายจากน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา และน้ำในคลองนาทับ อำเภอจะนะเริ่มที่จะตื้นเขิน ไหลเวียนไม่สะดวก และมีสภาพเน่าเสีย เป็นเหตุให้ปลาตายจำนวนหลายร้อยกระชัง รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายใหญ่เลิกเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เหลือเพียงเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเลี้ยงรายละไม่เกิน 5 กระชัง

สำหรับจังหวัดพัทลุง ที่อำเภอปากพะยูน พบว่า ประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ตำบลเกาะยอ เป็นเหตุให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงมากกว่า 100 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ด้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอไชยาและดอนสัก พบว่า ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตั้งแต่ช่วงมีนาคม-เมษายน 2554 และประสบปัญหาโรคระบาดเกล็ดหลุดตาย รวมทั้งอาหารปลาและลูกพันธุ์ปลามีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงลดลงและผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 50 และจังหวัดสตูล ที่อำเภอละงู ซึ่งอยู่ติดกับฝั่งอันดามัน มีแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวบริเวณตำบลปากบารานั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และยังคงเลี้ยงในปริมาณเท่าเดิม แต่ประสบปัญหาราคาอาหารปลาสดสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเกือบร้อยละ 20 เช่นเดียวกับจังหวัดสงขลาและพัทลุง

ด้านสถานการณ์ราคา พบว่า ราคาปลากะพงขาวปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปลาขนาดใหญ่ โดยเดือนกันยายน ราคากิโลกรัมละ 185 บาท สูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 6.94 เนื่องจากผลผลิตมีปริมาณลดลง ในขณะที่ความต้องการตลาดยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งในปี 2555 ภาครัฐจึงมีนโยบายให้การส่งเสริมและขยายจำนวนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวเพิ่มขึ้น และจากการประมวลปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาปลาโตไม่เต็มที่ แต่จำเป็นต้องจับขายก่อนกำหนด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดเงินทุนหมุนเวียนเป็นค่าอาหารปลาที่จะเลี้ยงต่อจนเป็นปลาใหญ่ และประสบปัญหาความเสี่ยงจากคุณภาพของน้ำในบริเวณที่ใช้เลี้ยงปลา ความเสี่ยงจากโรคของปลา รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรเตรียมพร้อม โดยหมั่นสังเกตสภาพน้ำ หากพบปลามีความผิดปกติให้รีบคัดออก หรือต่อกระชังให้มีความสูงเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตให้น้อยที่สุดอีกทางหนึ่ง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ