กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมู วอนภาครัฐ ต้านนำเข้าหมูสหรัฐ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 11, 2013 17:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร วอนภาครัฐ อย่าเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ หวั่นเกิดภาวะปริมาณเกินความต้องการ ฉุดราคาตกต่ำ เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา อีกทั้งไม่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าสารเร่งเนื้อแดงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคไว้แล้ว

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ นำโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือ ต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 และจะแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการนำเข้าเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรจากสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุกรหลายใหญ่ และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกกำลังพยายามกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกร และเครื่องในจากสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งต่ออาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และเห็นว่าเนื้อสุกรของไทยมีคุณภาพดี และปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคอยู่แล้ว หากรัฐบาลยอมตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้นำเข้าเนื้อสุกรจะก่อให้เกิดภาวะปริมาณเกินความต้องการ ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ ราคาเนื้อสุกรอาจจะตกต่ำ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับ ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชามาแล้ว

สำหรับสิ่งที่สหรัฐฯ ใช้กดดันไทย ได้อ้างมาตรการของคณะกรรมการมาตราฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) จากการประชุมครั้งที่ 35 (ปี 2012) ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งรับมาตรฐานสารตกค้างจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Rectopamine) ในสุกรและวัว พร้อมให้ไทยแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 เรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งสหรัฐฯ ใช้อยู่ โดยหากไทยไม่ดำเนินการแก้ไขตามที่ร้องขอ จะตัดสิทธิที่ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนา (GSP) ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเห็นว่า หากไทยอนุญาตให้นำเข้า จะส่งผลกระทบให้มีเนื้อและเครื่องในสุกรในราคาต่ำ เนื่องจากเนื้อและเครื่องในสุกรของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เหลือจากความต้องการ และส่งเข้ามาตีตลาดไทยทำให้ราคาสุกรในประเทศจะลดต่ำลง เกษตรกรขาดทุน อีกทั้งไม่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากสารเร่งเนื้อแดงดังกล่าว ซึ่งประเทศจีน สหภาพยุโรป และรัสเซีย ก็ไม่อนุญาตให้ใช้สารนี้เช่นกัน พร้อมนี้ เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลไม่อนุญาตให้นำเข้า โดยควรอ้างเหตุผลทางด้านความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในประเทศ ความอยู่รอดของเกษตรกร และผลกระทบที่ตามมาต่อธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการเลี้ยงสุกร ซึ่งประเทศไทยก็ควรจะอ้างเหตุผลเช่นเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแนวทางในการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 เรื่องการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในอาหารสัตว์ พร้อมเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าสารเร่งเนื้อแดงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไว้แล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ