ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2013 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

          (1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม)                      ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

          ข้าวเปลือกเจ้า 100%                                 ตันละ 15,000  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 5%                                   ตันละ 14,800  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 10%                                  ตันละ 14,600  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 15%                                  ตันละ 14,200  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 25%                                  ตันละ 13,800  บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

          ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม)                ตันละ 16,000 บาท
          ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม)                 ตันละ 15,000 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละ

ไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ — 15 กันยายน 2556

ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 29 กรกฎาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา              2,685,776    สัญญา
                             - จำนวนตัน               20,684,588      ตัน
                             - จำนวนเงิน             316,755.096  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเจ้า ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากช่วงนี้ปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่นำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการรับจำนำ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,604 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,545 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,621 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,197 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,032 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.27

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,166 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,134 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,182 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,368 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.35 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 234 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 930 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,820 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 942 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,984 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.27 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 164 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,115 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,215 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 100 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 516 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,991 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,092 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 101 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,734 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 547 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,830 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 96 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9896 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม เวียดนามส่งออกข้าวได้ 3.83 ล้านตัน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,295 บาท) และระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม เวียดนามส่งออกข้าว 347,484 ตัน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,613 บาท) ในจำนวนนี้ เป็นข้าวขาว 5% - 20% จำนวน 47,103 ตัน หรือร้อยละ 13.5 ของปริมาณส่งออก ข้าวขาว 25% - 35% จำนวน 54,140 ตัน หรือ ร้อยละ 15.6 ของปริมาณส่งออก และข้าวหอม จำนวน 42,594 ตัน หรือร้อยละ 12.26 ของปริมาณส่งออก

ปัจจุบัน แอฟริกาเป็นประเทศนำเข้าข้าวที่สำคัญของเวียดนาม โดยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม เวียดนามส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา 173,331 ตัน หรือประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณส่งออกของประเทศ และส่งออกข้าวไปยังเอเชีย 152,273 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 43.82 ของปริมาณส่งออกของประเทศ นอกจากนี้ เวียดนามยังส่งออกข้าวไปยัง สหภาพยุโรป 12,093 ตัน กลุ่มประเทศอเมริกา 5,377 ตัน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 3,222 ตัน และออสเตรเลีย 1,188 ตัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์เบื้องต้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (General Statistics Office) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 4.28 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และจะมีรายได้จากการส่งออกข้าว 1.87 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.79 หมื่นล้านบาท) ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา : Oryza.com

อินเดีย

นักวิเคราะห์ท้องถิ่น คาดการณ์ว่า ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ในปีนี้ และค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลง จะส่งผลให้อินเดียส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน ในปี 2556/57 เพิ่มขึ้นจาก 10.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และอินเดียจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกอีกครั้ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28 โดยในจำนวนนี้จำแนกเป็น ข้าวบาสมาติ 3.5 ล้านตัน และข้าวชนิดอื่นๆที่นอกเหนือจากข้าวบาสมาติ 7.5 ล้านตัน และอินเดียจะมีรายได้จากการส่งออกข้าวในปี 2556/57 จำนวน 6.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.01 แสนล้านบาท)

ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 อินเดียจะผลิตข้าวได้ 108 ล้านตัน และจะสามารถส่งออกได้ 9 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยกว่าการคาดการณ์ข้างต้น 2 ล้านตัน

ที่มา : Oryza.com

อินโดนีเซีย

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีข้าวอยู่ในสต็อกของสำนักงานจัดหาอาหารอินโดนีเซีย (Bulog) ประมาณ 2.82 ล้านตัน มากกว่าปริมาณขั้นต่ำที่ต้องการ คือ 1.5 — 2 ล้านตัน โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารของสำนักงานฯ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียอาจจะนำเข้าข้าว 600,000 ตันในปีนี้ แต่ปริมาณสต็อกในปัจจุบัน มีเพียงพอที่จะทำให้อินโดนีเซียไม่ต้องนำเข้าข้าวในอีก 2 — 3 เดือนต่อจากนี้

ผู้บริหารของสำนักงานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียจะไม่นำเข้าข้าว หากอัตราการเพิ่มผลผลิตข้าวในปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ร้อยละ 5 หรือผลิตได้ประมาณ 72.1 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติคาดการณ์ว่า ในปีนี้อินโดนีเซียจะผลิตข้าวได้ 69.27 ล้านตัน ปริมาณคงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียนำเข้าข้าว 1.9 ล้านตัน และได้กำหนดเป้าหมายที่จะพึ่งพาตนเองในการผลิตข้าวภายในปี 2556 ซึ่งปัจจุบัน การผลิตที่เพิ่มมากขึ้นและความหลากหลายด้านอาหารเป็นปัจจัยที่ช่วยให้อินโดนีเซียลดการนำเข้าข้าวได้

ที่มา : Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 29 ก.ค.- 4 ส.ค. 56--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ