ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2013 14:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

          (1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม)                        ตันละ 16,000  บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

          ข้าวเปลือกเจ้า 100%                                   ตันละ 15,000  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 5%                                     ตันละ 14,800  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 10%                                    ตันละ 14,600  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 15%                                    ตันละ 14,200  บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 25%                                    ตันละ 13,800  บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

          ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม)                 ตันละ 16,000 บาท
          ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม)                  ตันละ 15,000 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละ

ไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ — 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 3 กันยายน 2556)

                             - จำนวนสัญญา              2,777,870    สัญญา
                             - จำนวนตัน               21,125,279      ตัน
                             - จำนวนเงิน             330,688.262  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ปริมาณและคุณภาพผลผลิตลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายชะลอการสั่งซื้อข้าว เพราะความต้องการของตลาดลดลง และรอดูนโยบายการระบายข้าวจากรัฐบาล

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,646 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,717 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.46

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,675 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,708 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.37

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,070 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.68

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,156 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,857 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,158 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,871 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 837 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,686 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 871 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,733 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.90 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,047 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,060 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,073 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,646 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,914 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 268 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,602 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,997 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.76 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 395 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.8828 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-29 สิงหาคม 2556 มีจำนวน 521,681 ตัน มูลค่า 223.844 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) และในช่วง 1 มกราคม — 29 สิงหาคม 2556 เวียดนามส่งออกรวม 4.583 ล้านตัน มูลค่า 1.966 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) โดยทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 10.1 และร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 5.101 ล้านตัน มูลค่า 2.264 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

ทางด้านกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (The Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ปี 2556 ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 4.69 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 15.7 และร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 ประกอบกับราคาส่งออกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 438.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นลูกค้านำเข้าข้าวรายใหญ่ของเวียดนาม ปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น 1.47 ล้านตัน มูลค่า 609.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 32.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน

ความต้องการข้าวเวียดนามจากตลาดอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.8 อังโกลาร้อยละ 23.1 กานาร้อยละ 28.4 และฮ่องกงร้อยละ 17.3 รายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าเวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ราว 7.5 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากการส่งออกในปี 2555 ที่ 7.72 ล้านตัน

สถานการณ์ราคาข้าวของเวียดนามสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงเพื่อดึงความสนใจจากผู้ซื้อ ท่ามกลางภาวะ

ที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศกำลังจับตามองไปที่การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลไทย โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5%

อยู่ที่ 380-390 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,275 บาทต่อตัน) ลดลงจากระดับ 385-390 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,355 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 25% ราคาอยู่ที่ 355-360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,398 บาทต่อตัน) ลดลงจากระดับ 360-365 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,558 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ก่อนเช่นเดียวกัน

สมาคมอาหารเวียดนาม ได้เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้ภาคเอกชนดำเนินการรับซื้อข้าวเพิ่มเติมอีก 300,000 ตัน เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ โดยจะให้เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นไป โดยมีระยะเวลารับซื้อ 1 เดือน

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกสมาคมอาหารได้รับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้จำนวน 1 ล้านตันข้าวสาร แต่จนถึงขณะนี้เวียดนามสามารถส่งออกข้าวจำนวนดังกล่าวได้เพียง 200,000-300,000 ตันเท่านั้น โดยในขณะนี้ผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการรับซื้อข้าวประมาณตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากภาวะราคาข้าวในปัจจุบันปรับตัวลดลงมาก

ทั้งนี้ ในระยะยาวเวียดนามมีแผนการที่จะขยายตลาดข้าวไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศแองโกล่า เคนยา และในทวีปแอฟริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำเข้าข้าวจากเวียดนามเป็นจำนวนมาก

ที่มา Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร (Agriculture Minister) คาดการณ์ว่า ในปี 2556 กัมพูชาจะสามารถส่งออกข้าวได้มากถึง 400,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 205,000 ตันในปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และความพยายามของประเทศที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว โดยกัมพูชาเชื่อว่าภายในปี 2558 จะสามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวได้ 1 ล้านตัน

ทั้งนี้ การส่งออกในช่วงครึ่งปี 2556 กัมพูชาส่งออกข้าวไปแล้ว 176,000 ตัน ซึ่งข้าวของกัมพูชานำไปจำหน่ายใน 49 ประเทศทั่วโลก ตามรายงานของรัฐบาล โดยประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ 5 ราย คือ โปแลนด์ ฝรั่งเศส ไทย มาเลเซีย และจีน

ด้วยจำนวนประชากรกว่าร้อยละ 80 มีอาชีพเกษตรกรรม ทำให้กัมพูชาสามารถผลิตข้าวได้ 9.31 ล้านตันในปี 2555 และจากจำนวนผลผลิตดังกล่าวเมื่อหักออกจากนำไปบริโภคภายในประเทศแล้ว กัมพูชามีข้าวเหลือสำหรับส่งออกอีกประมาณ 3 ล้านตันในปี 2556

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (The Asian Development Bank) ได้ให้กัมพูชา

กู้ยืมเงินจำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาการค้าข้าว ที่รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพ

ในการผลิต การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับชาวนา เจ้าของโรงสี และผู้ส่งออก การเข้าถึงตลาดข้าวในระดับภูมิภาค

และระดับโลก รวมทั้งการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน และระดับประเทศ ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562

ที่มาRiceonline.com, ASTVผู้จัดการออนไลน์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (the Agriculture Department) รายงานว่า ประเทศเวียดนามต้องการให้ฟิลิปปินส์ให้การรับประกันปริมาณข้าวที่จะนำเข้าจากเวียดนามในแต่ละปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เวียดนามจะให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการขอขยายระยะเวลาของมาตรการจำกัดปริมาณนำเข้าข้าว (the quantitative restriction on rice imports) ในกรอบขององค์การการค้าโลก (the World Trade Organization) ซึ่งฟิลิปปินส์ต้องการขยายเวลาไปจนถึงปี 2017 (มาตรการนี้หมดอายุลงไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555)

ทั้งนี้ เวียดนามต้องการที่จะให้ฟิลิปปินส์จัดสรรโควตานำเข้ารายประเทศ (the country-specific rice importation quota) ให้แก่เวียดนามด้วย โดยในขณะนี้มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรโควตานำเข้า ประกอบด้วย ประเทศไทยได้รับการจัดสรรโควตาปีละ 98,000 ตัน จีน 25,000 ตัน อินเดีย 25,000 ตัน และออสเตรเลีย 15,000 ตัน โดยในแต่ละปีฟิลิปปินส์มีข้อกำหนดตามกรอบของ WTO ที่จะต้องนำเข้าข้าว (minimum access volume; MAV) ปีละ 350,000 ตัน ในอัตราภาษีนำเข้าในโควตา (tariff rate) ที่ร้อยละ 40 หากนำเข้านอกโควตาจะมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 50

โดยในปีนี้ ฟิลิปปินส์ได้จัดสรรโควตานำเข้าข้าว แบ่งตามประเทศต่างๆ รวม 163,000 ตัน (โดยได้เปิดประมูลเพื่อจัดสรรโควตานำเข้าข้าวให้แก่ ภาคเอกชนเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา) และมีการนำเข้าโดย NFA ซึ่งนำเข้าจากบริษัท Southern Food Corporation ของเวียดนามอีกจำนวน 187,000 ตัน ภายใต้ข้อตกลงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับ WTO เพื่อขอขยายระยะเวลาของมาตรการจำกัดปริมาณนำเข้าข้าว(QR) โดยในช่วงนี้ฟิลิปปินส์กำลังเจรจากับหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา และเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของ WTO และมีสิทธิ์ที่จะขอเจรจากับฟิลิปปินส์เพื่อยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากการที่ฟิลิปปินส์จะขอขยายระยะเวลาของมาตรการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการเจรจาในเดือนตุลาคม 2556

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 กันยายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ