ไทยร่วมพัฒนาข้อมูลตลาดสินค้าเกษตร สศก. เผย FAO พร้อมหนุนบุคลากร ไทย-เวียดนาม แหล่งส่งออกข้าวของโลก

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 12:04 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นตัวแทนไทย จับมือ FAO ร่วมกลุ่มประเทศสมาชิก G20 องค์กรระหว่างประเทศ และ 7 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ หารือร่วมพัฒนาระบบข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตร ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เผย FAO พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาการจัดทำข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรให้แก่ไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศนอกสมาชิกที่ส่งออกข้าวหลักของโลก
          นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า สศก.         โดยผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร (นางอัญชนา  ตราโช) และ ผู้จัดการโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน Asean Food Security Information System: AFSIS (นายมณฑล  เจียมเจริญ) ได้เข้าร่วมประชุมหารือ “Fourth Session of The AMIS Global Food Market Information Group ระหว่างวันที่ 1- 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม ประเทศอิตาลี  โดยร่วมหารือเกี่ยวกับระบบข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตร (Agricultural Market Information System) เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้แทนของแต่ละประเทศในการจัดทำข้อมูลเพื่อปรับปรุง แก้ไขและให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ได้ข้อมูลการผลิต การตลาด โดยเฉพาะข้อมูลบัญชีสมดุลสินค้าเกษตรที่สำคัญสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายทางการผลิต การตลาด  ซึ่งจัดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ภายใต้ระบบข้อมูลการตลาด (Agricultural Market Information System: AMIS)  มีผู้แทนด้านข้อมูลจากประเทศสมาชิก G20 และประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร 4 ชนิด (ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง) รวม 7 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์  คาซัคสถาน  ไนจีเรีย  ฟิลิปปินส์  ไทย ยูเครน และเวียดนาม ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านงบประมาณและวิชาการ เช่น IFAD, IGC, IFPRI และ The World Bank รวม 10 องค์กรเข้าร่วม
          ในการนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอถึงสถานการณ์การผลิตการตลาด สต๊อกสิ้นปีของสินค้าเกษตรทั้ง 4ชนิด ได้แก่ ข้าว         ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเลือง รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้าในปีเพาะปลูก 2556/57 เป็นรายประเทศและภาพรวมของโลก ตลอดจนการติดตามสถานการณ์การผลิตโดยใช้ข้อมูลระยะไกล การกำหนดตัวชี้วัดทางการตลาด อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลบัญชีสมดุลและข้อมูลพยากรณ์การผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายเดือนระหว่างผู้แทนแต่ละประเทศเพื่อหาข้อสรุปในการรปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานที่ผ่านมาให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิกยิ่งขึ้น

ด้านนางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการจัดทำข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบความร่วมมือในการพัฒนาและจัดทำข้อมูลการเกษตรของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้โครงการ AFSISรวมถึงข้อมูลทางการเกษตรสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยสามารถพัฒนาระบบทั้งสองให้สามารถเชื่อมโยงหรือจัดทำข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากการรายงานผลการดำเนินงานในที่ประชุม ทำให้ทราบว่าข้อมูลจากหลายประเทศยังขาดความครบถ้วนและความสอดคล้องกันของข้อมูล เนื่องจากมีความแตกต่างกันตามแหล่งข้อมูลในแต่ละที่ สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียนแล้ว การจัดทำข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะข้อมูลบัญชีสมดุล ข้อมูลการพยากรณ์และสถานการณ์สินค้าเกษตร ซึ่งที่ประชุมต้องการให้ทุกประเทศจัดทำให้ครบถ้วนเป็นรายเดือน

ดังนั้น FAO จึงเสนอให้การสนับสนุนในการพัฒนาการจัดทำข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรให้แก่ประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศนอกสมาชิกที่ส่งออกข้าวหลักของโลก โดยมุ่งเน้นทั้งการพัฒนาวิชาการ โดยเฉพาะบุคลากร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้ข้อมูล ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว นับว่าได้รับความร่วมมือจากผู้แทนประเทศสมาชิก G20 และประเทศนอกสมาชิกอีก 7 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอีก 10 องค์กรเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรรายงานสถานการณ์การผลิตการตลาด ให้ทุกประเทศสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายทางการผลิตการตลาด ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบุคลากรยังได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย นางอัญชนา กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ