ผลติดตามโครงการพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อผลิตน้ำเชื้อสุดเจ๋ง เกษตรกรตอบรับ ลูกโคที่ได้มีคุณภาพจริง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 16, 2013 16:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ชูผลติดตามโครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อผลิตน้ำเชื้อ สศก. ระบุ เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อน้ำเชื้อกำแพงแสน เนื่องจากมีคุณภาพ และราคาถูก ลูกโคที่ได้ช่วยเสริมรายได้ในราคาดี พร้อมแนะกษตรกรจดบันทึกข้อมูลโคอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ ซึ่งเป็นโครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) มีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2551 — 2558 โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือและโค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลัก มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน และลดการนำเข้าน้ำเชื้อและเนื้อโคคุณภาพดีจากต่างประเทศ เพื่อกระจายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกพันธุกรรมอย่างเป็นระบบ และถูกต้องตามหลักวิชาการสู่เกษตรกร รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในชนบท

          ในการนี้ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินโครงการ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อโครงการมาก คิดเป็น           ร้อยละ 63 โดยเฉพาะน้ำเชื้อพันธุ์กำแพงแสนที่ได้ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป จึงช่วยประหยัดต้นทุนค่าผสมเทียม อีกทั้งมีคุณภาพเทียบเท่ากับท้องตลาด ซึ่งโคกำแพงแสนที่ได้จากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อชาโรเล่ส์ของโครงการนั้น เกษตรกรสามารถขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.83 บาท  นับว่าสูงกว่าโคพันธุ์ลูกผสมบราห์มันที่ขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท คิดเป็นร้อยละ 42  เพราะโคพันธุ์กำแพงแสนเป็นโคที่เลี้ยงง่าย กินอาหารดี จึงทำให้ได้น้ำหนักดี และเนื้อแน่น ส่งผลให้เกษตรกรขายโคได้ราคาดีขึ้น  ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ มีความต้องการให้โครงการดังกล่าวดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากได้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพ และราคาถูกแล้ว ลูกโคที่ได้ยังมีคุณภาพ เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศ และสามารถขายได้ราคาดี

รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2553 — 2555 นั้น การดำเนินงานโครงการฯ ประสบปัญหาโรคระบาด โรคเท้าเปื่อย และอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้ราคาโคตกต่ำ เกษตรกรจึงขายโคทิ้ง ซึ่งบางกลุ่มเป็นโคที่กำลังตั้งท้องและใช้น้ำเชื้อจากโครงการ ทำให้การติดตามโครงการไม่เป็นไปตามแผน จึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรในการจดบันทึกข้อมูลโคอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ