สศข.2 ประยุกต์เทคโนโลยีภายถ่ายอากาศ นำร่อง ต.ปากโทก ช่วยเกษตรกรจัดเก็บข้อมูล

ข่าวทั่วไป Tuesday November 12, 2013 16:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 ดึงเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร จำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1:4000 เผย นำร่องแล้ว ณ ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมมอบแผนที่แก่ผู้นำชุมชนทันทีเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจหลักของ สศก. เพื่อจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร จำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1:4000 ซึ่ง สศข.2 ได้ดำเนินการจัดทำในพื้นที่ ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกเป็นตำบลนำร่อง พร้อมมอบแก่ผู้นำชุมชน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในการนี้ สศข.2 ได้ศึกษาวิเคราะห์ โดยการใช้ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) มาจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ได้แก่ ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับจัดทำข้อมูลในเชิงพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดพิษณุโลก ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรกรณีแจ้งและรับรองข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง รวมถึงได้รู้ข้อมูลพื้นที่ผู้ประสบภัยพิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น และจากที่เจ้าหน้าที่ สศข.2 ได้ออกสำรวจข้อมูลรายแปลงของเกษตรกร ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ทั้ง 7 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2556 พบว่า ตำบลปากโทก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 11,309 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณร้อยละ 98 ด้านเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่ทำนาปีรวม 7,924.44 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัมต่อไร่ และพื้นที่ทำนาปรัง รวม5,500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 800 กิโลกรัม และเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาโดยวิธีหว่านน้ำตม ข้าวพันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 3

ทั้งนี้ การจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงดังกล่าว ยังสามารถบอกแหล่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ลักษณะรูปร่างของแปลง และการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทางการเกษตร ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริงที่เป็นปัจจุบันทั้งในเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ได้ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรมีความถูกต้องสามารถเรียกค้นและปรับแก้ไขข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีระบบ การวิเคราะห์สถานการณ์การผลิต การตลาด การจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zonning)และการประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจ จากภัยธรรมชาติ รวมถึงสามารถนำข้อมูลรายแปลงที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรมาเป็นกรอบพื้นที่ตัวอย่างในการสำรวจข้อมูลด้านการเกษตร รวมทั้งเป็นข้อมูลสนับสนุนสำหรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาด้านการเกษตรอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น นายชวพฤฒ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ