สกลนครขานรับโซนนิ่ง เดินหน้าปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 19, 2013 16:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 ร่วมประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงานของจังหวัดสกลนคร เผย ขณะนี้มีมีเกษตรกรที่มาขอขึ้นทะเบียนชาวไร่อ้อยแล้ว 179 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ พร้อมประสานโรงงานพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จ.สกลนคร และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จ.กาฬสินธุ์

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมแนวทางการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน ภายใต้โครงการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดสกลนคร (Zoning) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมภูริทัตโต ศาลากลางจังหวัดสกลนคร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร (นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์) เป็นประธาน เพื่อชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ และติดตามความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงาน “การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน” ร่วมกับโรงงานน้ำตาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับจังหวัดสกลนคร มีพื้นที่เป้าหมายในการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานรวมรัศมี 50 กิโลเมตรจากกลุ่มโรงงานน้ำตาล จำนวน 49,660 ไร่ 7 อำเภอ รวม 30 หมู่บ้าน โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น (เกษตรจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน) ได้พิจารณาจำนวนเกษตรกรเป้าหมายที่รวบรวมได้จากเกษตรตำบลจำนวน 2,590 ราย พื้นที่ดำเนินการ 26,889 ไร่ เพื่อจัดเวทีชี้แจงเกษตรกรเป้าหมาย และได้ประสานโรงงานพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จ.สกลนคร ซึ่งมีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 300,000 ตัน และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 225,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการจูงใจนั้น ได้สนับสนุนเงินเกี๊ยว 5,000-6,000 บาทต่อไร่ เงินให้เปล่า 500 บาท/ไร่ กรณีเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ รัศมี 50 กม.จากโรงงาน และเงินจูงใจกรณีการขนส่งอ้อยขึ้นลงเขา ตามระยะทาง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 พบว่า มีเกษตรกรที่มาขอขึ้นทะเบียนชาวไร่อ้อย รวม 179 ราย และส่วนใหญ่เกษตรกรยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐมีนโยบาย “การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน” ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยของภาคอีสานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง สศข.3 จะร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมกันกำหนดระบบติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งนำเสนอปัญหาอุปสรรค ปี 2557 อย่างต่อเนื่องต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ