นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การของ Centre for Alleviation of Poverty through Sustainable Agriculture (CAPSA) สมัยที่ 10 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UN Conference Centre) ในวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อทบทวนผลสำเร็จของการดำเนินงานและการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การของ CAPSA สมัยที่ 9 นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินการสำหรับปี 2557 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกของ CAPSA รวม 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ฟิจิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทยเข้าร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นนักวิจัย และนักวางแผนและนโยบาย จากหน่วยงานภาครัฐ และ 7 องค์การระหว่างประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบความสำเร็จของโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Policy Analysis Workshop on Sustainable Agriculture, Poverty Alleviation and Food Security ซึ่ง สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ และศึกษาดูงาน ณ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 40 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐของไทย และอีก 7 ประเทศ โดยโครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนักวิเคราะห์และนักวิจัยในการใช้แบบจำลองและเทคนิคทางสถิติเพื่อวิเคราะห์นโยบายด้านความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาความยากจน ประเทศไทยเห็นว่า ความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ควรให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในโลก
ทั้งนี้ CAPSA ยังได้รายงานความคืบหน้าของ Sustainable Agricultural Technologies and Improved Market Linkages in South and South-East Asia (SATNET Asia) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2012 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อเป็นเครือข่ายสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำการเกษตรยั่งยืน และเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิก และสำหรับแผนงานในปี 2557 CAPSA จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 2011 – 2020 (Strategic Plan 2011 – 2020) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาใน 3 ประเด็นหลัก คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนในชนบทและความไม่มั่นคงอาหาร การระบุทางเลือกสำหรับการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน และการกำหนดทางเลือกด้านการตลาดที่ดีที่สุดสำหรับคนยากจน รองเลขาธิการ กล่าวในที่สุด
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--