ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 25 มีนาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,913,052 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,501,052 ตัน
  • จำนวนเงิน 352,277.276 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก

ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม

โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557

ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557

ยกเว้น ภาคใต้ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 23 มีนาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 727,405 สัญญา
  • จำนวนตัน 4,876,488 ตัน
  • จำนวนเงิน 79,118.774 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น และในบางพื้นที่ประสบภัยแล้งในช่วงที่ต้นข้าวกำลังออกรวงส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับรัฐบาลได้เร่งระบายข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำ ผู้ประกอบการจึงชะลอการสั่งซื้อข้าว

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,090 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,201 บาท ของ สัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.78

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,434 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,490 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.76

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,233 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,680 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.83

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 989 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,908 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,004 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,138 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 230 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 642 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,713 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 715 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,887 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 10.21 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2,174 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,615 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,220 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.33 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 605 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,292 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,619 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.58 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 327 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,808 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,092 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.93 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 284 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

แหล่งข่าวทางการรายงานว่า ในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม 2556 อินเดียส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) ซึ่งประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2556/57 (เมษายน 2556 – มีนาคม 2557) อินเดียจะส่งออกข้าวมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 6.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.0 แสนล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปี 2555/56

ทั้งนี้ ประเทศในตะวันออกกลางยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556/57 อินเดียส่งออกไปยังประเทศอิหร่านคิดเป็นมูลค่า 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) ส่งออกไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียคิดเป็นมูลค่า 721.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้อินเดียยังส่งออกข้าวไปยังประเทศเบนิน (ประมาณ 463 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ประมาณ 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.2 พันล้านบาท) อิรัก (ประมาณ 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.1 พันล้านบาท) คูเวต (ประมาณ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.5 พันล้านบาท) เซเนกัล (ประมาณ 153.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.0 พันล้านบาท) เยเมน (ประมาณ 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท) และแอฟริกาใต้ (ประมาณ 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท)

ในปีนี้ อินเดียส่งออกข้าวไปยังประเทศไนจีเรียลดลง โดยในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม 2556 อินเดียส่งออกข้าวไปยังไนจีเรียคิดเป็นมูลค่า 28.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 926 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 91 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งปีของปี 2555/56 อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังประเทศเบนินและแคเมอรูน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไนจีเรีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม 2556 อินเดียส่งออกข้าวไปยังประเทศเบนินคิดเป็นมูลค่า 463 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งปีของปี 2555/56 และส่งออกข้าวไปยังประเทศแคเมอรูนคิดเป็นมูลค่า 86.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.8 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งปีของปี 2555/56

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังเตรียมจัดซื้อข้าวขาวเมล็ดยาวจำนวน 800,000 ตัน ผ่านการประมูล (tender) ในวันที่ 15 เมษายน 2557 โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการให้จัดส่งข้าวทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 200,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวขาดแคลนในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority: NFA) ระบุว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลวางแผนที่จะนำเข้าข้าวภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (G to G) แต่การประมูลในปัจจุบันเปิดโอกาสให้กับผู้ค้าในภาคเอกชนที่ได้รับการรับรองรวมถึงผู้ค้าข้าวที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล

ปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มมูลภัณฑ์กันชน เพื่อรักษาระดับราคาและจัดหาสต๊อกข้าวในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศมักจะประสบปัญหาพายุใต้ฝุ่น นอกจากนี้ รัฐบาลยังเลื่อนเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวออกไปเป็นปี 2558

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2557 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 1.4 ล้านตัน ในขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการว่า ในปี 2557 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 1.2 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

จีน

สำนักงานศุลกากรแห่งชาติ (General Administration of Customs of China) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 จีนนำเข้าข้าวประมาณ 338,700 ตัน ลดลงจาก 425,813 ตัน หรือลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ จีนนำเข้าข้าว 139,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 120,590 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของจีนในปีนี้ลดลงอย่างชัดเจน โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 จีนส่งออกข้าวประมาณ 24,141 ตัน ลดลงจาก 101,300 ตัน หรือลดลงร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในเดือนกุมภาพันธ์ จีนส่งออกข้าวเพียง 600 ตัน ลดลงจาก 63,100 ตัน เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมา และลดลงจาก 23,541 ตัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สำนักงานดังกล่าวฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 จีนนำเข้าข้าว 2.26 ล้านตัน และส่งออกข้าว 478,400 ตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 มี.ค. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ