เปิดผลศึกษาสินค้าปศุสัตว์เพื่อนบ้าน สศก.แนะเดินหน้ามาตรฐานผลิตตลอดห่วงโซ่ให้สอดคล้องกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 4, 2014 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลศึกษาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ของเพื่อนบ้าน เผย กัมพูชา และ ลาว ยังคงเน้นการเลี้ยงโคเนื้อแบบพื้นบ้านเพื่อการบริโภคในประเทศ ในขณะที่เมียนม่าร์มีศักยภาพที่ดี แต่ติดที่ข้อจำกัดด้านกฎหมายห้ามส่งออกจึงยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แนะไทยควรให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการกับทั้ง 3ประเทศ และจัดทำมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้เป็นฐานการผลิตร่วมที่สอดคล้องกัน

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษา : สินค้าปศุสัตว์ (สุกร และ โคเนื้อ) ในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ พบว่า สินค้าสุกร ทั้ง 3 ประเทศ จะเป็นการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ โดยการขยายการเลี้ยงยังเพิ่มไม่มากนักเนื่องจากเกษตรกรยังขาดแคลนเงินทุน และยังต้องพึ่งพาต่างประเทศในด้านเทคโนโลยีการผลิตสัตว์

สำหรับสินค้าโคเนื้อของกัมพูชาและลาว ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน เพื่อใช้งานและใช้บริโภคภายในประเทศ แต่ในประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อ และมีจำนวนโคเนื้อมากกว่าไทยประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ห้ามส่งออกโคเนื้อ (เนื่องจากยังเน้นการใช้งานและบริโภคในประเทศ โดยจะกำหนดให้ส่งออกได้ในโคที่อายุ 16 ปีขึ้นไป) รวมทั้งการขนส่งที่ไม่สะดวก จึงยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออยู่

ทั้งนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวเสริมว่า ด้านมาตรการการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของสินค้าปศุสัตว์ในส่วนของไทยนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และควรมีการกำหนดมาตรฐานเดียวกันในกลุ่ม AEC รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อให้การส่งออกง่ายขึ้น ซึ่งไทยควรให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านเกษตรต่างๆ แก่ทั้ง 3 ประเทศ รวมทั้งด้านการจัดทำมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้เป็นฐานการผลิตร่วมที่มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างความร่วมมือกันระหว่างเพื่อนบ้านอันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ