ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

— 1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

— 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

— 3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,424 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,632 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.78

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,528 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,540 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 779 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,936 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 780 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,923 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,719 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 524 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,758 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 356 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,767 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,887 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.11 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 120 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,551 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 354 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,673 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 122 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 359 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,874 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,887 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.8611 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไนจีเรีย

— สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวท้องถิ่นว่า บริษัทพัฒนาและวิจัยข้าวของจีนกำลังวางแผนทำการเพาะปลูกข้าวในไนจีเรีย เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ

— ประธานบริหาร (CEO) ของบริษัทดังกล่าว ได้เข้าพบหารือกับเลขาธิการกระทรวงต่างประเทศและเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คน ซึ่งประธานบริหารฯ เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนทดลองเพาะปลูกในพื้นที่ 500 เฮกตาร์ (3,125 ไร่) และถ้าบริษัทพบพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก บริษัทจะดำเนินการขยายพื้นที่เพาะปลูกต่อไป นอกจากนี้ประธานบริหารฯ ยังระบุว่า บริษัทได้ดำเนินการติดต่อประสานงานไป 36 รัฐ ซึ่งขณะนี้มี 3 รัฐที่ให้ความสนใจ ได้แก่ รัฐ Akwa Ibom รัฐ Rivers และ รัฐ Imo ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ— รัฐบาลเปิดเผยว่า บริษัทจากจีนจะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรไนจีเรีย เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการผลิต และเลขาธิการของกระทรวงต่างประเทศไนจีเรีย กล่าวว่า ในการมาเยือนไนจีเรียของผู้แทนจากจีนในครั้งนี้ เป็นการยืนยันความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศแอฟริกา ภายใต้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

— อนึ่ง ไนจีเรียเป็นประเทศนำเข้าข้าวมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยนำเข้าข้าวปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไนจีเรียกำหนดเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านข้าวและหยุดการนำเข้าภายในสองปีข้างหน้า

ที่มา http://oryza.com

ฟิลิปปินส์

— สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institution, IRRI) เปิดเผยว่า ชาวนาฟิลิปปินส์สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยเครื่องมือ Rice Crop Manager Tool (RCM) ที่พัฒนาให้สามารถส่งข้อมูลผ่านบริการส่งข้อความ SMS (Short Message Service)

— ทั้งนี้ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เริ่มการพัฒนาเครื่องมือ RCM เมื่อสองปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำแนะนำชาวนาในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งเครื่องมือ RCM นี้ สามารถใช้ได้ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเครื่องมือ RCM ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเกษตร (Department of Agriculture, DA) ผ่านโครงการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food Staples Sufficiency Program, FSSP) ทั้งนี้ หน่วยงานวิจัยของกระทรวงเกษตร ระบุว่า ชาวนาในเขต Isabela, Nueva Ecija, Priental Mindoro และ Agusan del Norte ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ (48 กิโลกรัมต่อไร่) และรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเฮกตาร์ (488 บาทต่อไร่)

ทั้งนี้ ในการพัฒนาระยะสุดท้าย กระทรวงเกษตรและสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อความ SMS ซึ่งพัฒนาจากระบบเดิมที่ต้องผ่านโปรแกรม browser จากความสามารถใหม่นี้ ชาวนาจะได้รับคำแนะนำที่เฉพาะกับพื้นที่ของตนเอง (site-specific advice)

— อย่างไรก็ดี จากจำนวนชาวนาทั้งหมดที่ลงทะเบียนใช้ RCM มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่สามารถรับข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนชาวนาที่เหลือ ไม่สามารถรับข้อความที่ส่งโดย RCM ผ่านทางสถาบันฝึกอบรมการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตร (Department of Agriculture - Agricultural Training Institution, DA-ATI) ดังนั้น บริษัทโทรคมนาคม SMART Communication ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding, MoU) กับ สถาบันฝึกอบรมการเกษตรและสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ในการให้บริการแพ็คเกจราคาถูกสำหรับชาวนา โดยกำหนดให้ค่าโทรและ SMS ในอัตราพิเศษ เมื่อชาวนาติดต่อกับสายด่วนของสถาบันฝึกอบรมการเกษตรและศูนย์ประสานงานของเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามในเรื่อง

— การเพาะปลูก ซึ่งในระยะแรก บริษัท SMART และสถาบันฝึกอบรมการเกษตร ดำเนินการแจกจ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีซิมการ์ดให้แก่ชาวนารายย่อยในเมือง La Paz จังหวัด Tarlac

— นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฝึกอบรมการเกษตร ระบุว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public-private partnership) เพื่อให้ชาวนาเข้าถึงข้อมูลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการเกษตร ช่วยบริหารและจัดการพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21-27 ธ.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ