ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2016 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

— ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

— (1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

— (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

— (3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

— 2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

— (1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

— (2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

— (3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

— (4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)

— 2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

— (1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)

— (2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

— (3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

— (4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (คน.)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

— เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่สัญญา

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,718 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,796 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,996 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,943 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 785 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,763 บาท/ตัน)

— ราคาสูงขึ้นจากตันละ 782 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,714 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 และสูงขึ้นในรูปเงินเงินบาทตันละ 49 บาท

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,150 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 596 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 28 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,440 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,538 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 98 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,121 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,184 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,652 บาท/ตัน)

— ราคาลดลงจากตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,715 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3673 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

— สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-25 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 311,077 ตัน มูลค่า 120.471 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.9 และร้อยละ 31.4 ตามลำดับ

— เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 200,814 ตัน มูลค่า 91.655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม -25 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 727,847 ตัน มูลค่า 290.299 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

— โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.8 และร้อยละ 52.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 421,202 ตัน มูลค่า 190.539 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

— ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาขยับสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อจาก ประเทศจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประกอบกับผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะแห้งแล้ง แต่คาดว่า ราคาจะปรับขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น เพราะผลผลิตข้าวฤดูใหม่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงจะออกสู่ตลาดมากในช่วง

— กลางเดือนมีนาคมนี้ ปัจจุบันราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 355-365 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,555-12,909 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากตันละ 350-360 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,379-12,732 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวขาว 25% อยู่ที่ตันละ 340- 350 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,025-12,379 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากตันละ 330-335 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,672-11,848 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-spring) ทำให้ราคาข้าวทรงตัว

— สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในช่วงวันที่ 1-20 กุมภาพันธ์ เวียดนามส่งออกข้าวผ่านทางท่าเรือ Saigon port ประมาณ 284,450 ตัน โดยส่งไปอินโดนีเซีย 167,050 ตัน ฟิลิปปินส์ 83,900 ตัน คิวบา 29,000 ตัน ติมอร์ 4,500 ตัน

— กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (The Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า เวียดนามส่งออกข้าวไปมากกว่า 1 ล้านตัน ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 445 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 โดยรายงานระบุว่า ปริมาณข้าวที่ส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์มีประมาณ 523,000 ตัน มูลค่า 228 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าราคาจะลดลงเกือบร้อยละ 6 เหลือ ประมาณ 443.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกรวม 2 เดือนเกิน 1 ล้านตัน ซึ่งการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะการนำเข้าข้าวของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

— โดยอินโดนีเซียกลายเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามแทนที่จีน ด้วยสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของการส่งออกในเดือนมกราคม รองลงมาคือ จีน และฟิลิปปินส์

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

— กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ (Myanmar's Ministry of Commerce) คาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2558/59 (เม.ย.58-มี.ค.59) การส่งออกข้าวจะลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยนับจนถึงปัจจุบันเมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้ว ประมาณ 1.037 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.255 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2557/58 เมียนมาร์ส่งออกข้าวได้ประมาณ 1.84 ล้านตัน ตลาดส่งออกสำคัญคือประเทศจีน มีสัดส่วนร้อยละ 70

— การส่งออกที่ลดลงเป็นผลจากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปีที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ในช่วงดังกล่าว เพื่อรักษาสต็อกข้าวและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ ประกอบกับพื้นที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

— โดยคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2557/58 มีผลผลิตข้าวประมาณ 13 ล้านตันข้าวสาร แบ่งเป็นใช้บริโภคในประเทศประมาณ 9 ล้านตัน และส่งออกประมาณ 1.8 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

— รัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ได้แก่ พื้นที่ในรัฐปัญจาบ หริยานะ หิมาจัลประเทศ อุตรจัน จัมมู และแคชเมียร์รวมถึงพื้นที่บางส่วนในรัฐอุตตระประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกข้าวพันธุ์บาสมาติของอินเดีย โดยคาดหวังให้มี

— การจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวบาสมาติ เพื่อช่วยลดความแกว่งของราคาข้าวบาสมาติในตลาดโลก

— โดยปี 2558/59 ราคาข้าวบาสมาติในตลาดโลกตกต่ำกว่าร้อยละ 25 เนื่องจากปริมาณข้าวที่ล้นตลาด ส่งผลกระทบกับราคาข้าวบาสมาติที่จำหน่ายในอินเดีย ทำให้ราคาในพื้นที่รัฐปัญจาบและหริยานะกำลังอยู่ช่วงต่ำที่สุด เกษตรกรต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการใช้มาตรการสนับสนุนราคาขั้นต่ำ (Minimum support price, MSP) ที่ราคา 1,450 รูปีต่อ quintal (100 กิโลกรัม) จากเดิมที่เกษตรกรเคยจำหน่ายได้ในราคา 3,000 – 3,500 รูปีต่อ quintal ในช่วงปี เพาะปลูกช่วงมรสุม (Kharif) ของปี 2557

— อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวบาสมาติในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากพื้นที่แถบภาคเหนือของอินเดีย ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวบาสมาติออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการจดทะเบียน GI

— สำหรับข้าวบาสมาติที่เพาะปลูกในพื้นที่ราบลุ่ม Indo-Ganga ซึ่งเป็นข้าวที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีกลิ่นหอมเฉพาะ และลักษณะเมล็ดข้าวเรียวยาวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ จะช่วยป้องกันให้ข้าวหอมบาสมาติไม่ถูกผลกระทบจากความผันผวนของราคามากนัก

— เจ้าหน้าที่ของ Agricultural and Processed Food Products Export Development Authority (APEDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของอินเดีย ที่มีหน้าที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ให้ข้อมูลว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการเพาะปลูกข้าวบาสมาติที่เกินความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30-40

— ทั้งนี้ APEDA หวังให้การจดทะเบียน GI ข้าวหอมบาสมาติ จะช่วยปกป้องข้าวหอมบาสมาติที่แท้จริงจากการโฆษณาของประเภทข้าวอื่นๆ ที่ไม่ได้เพาะปลูกในพื้นที่ราบลุ่ม Indo-Ganga แต่อ้างว่าเป็นข้าวบาสมาติ ซึ่งรวมถึงข้าวหอมจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ที่มา Oryza.com

ฮ่องกง

— หน่วยงาน Trade and Industry Department ของฮ่องกง รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2559 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากแหล่งนำเข้าต่างๆ รวมประมาณ 29,600 ตัน ลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับปริมาณ 31,200 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าจากไทย ประมาณ 18,200 ตัน ลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วยข้าวขาว 800 ตัน ข้าวหอม 15,800 ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ 1,600 ตัน) คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 61.5 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด (ลดลงร้อยละ 5.5 — เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 65.1) รองลงมาคือ เวียดนาม ประมาณ 8,300 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วยข้าวหอม 7,600 ตัน ข้าวขาวและข้าวชนิดอื่นๆ รวม 700 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.0) จีน ประมาณ 1,500 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.1) ออสเตรเลีย ประมาณ 900 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3) กัมพูชา ประมาณ 200 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.7) และประเทศอื่นๆ รวม 500 ตัน (คิดเป็น ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.7)

— สำหรับการส่งต่อ (Re-export) ไปยังประเทศอื่นนั้น ในเดือนมกราคม 2559 มีปริมาณ 1,673 ตัน โดยส่งไปยังมาเก๊า จำนวน 1,306 ตัน จีน จำนวน 258 ตัน สหรัฐฯ จำนวน 91 ตัน เป็นต้น ส่วนการเก็บข้าวในสต็อก [Closing stock (excluding reserve stock)] ฮ่องกงมีข้าวอยู่ในสต็อก ณ เดือนมกราคม 2559 รวม 13,200 ตัน และมีสต็อกสำรอง (Reserve stock) อีกจำนวน 13,800 ตัน

— ปี 2558 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากแหล่งนำเข้าต่างๆ รวมประมาณ 314,800 ตัน ลดลงร้อยละ 1.56 เมื่อเทียบกับปริมาณ 319,800 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าจากไทยประมาณ 174,600 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วยข้าวขาว 11,300 ตัน ข้าวหอม 149,800 ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ 13,500 ตัน) คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 55.5 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 48.2) รองลงมาคือ เวียดนามประมาณ 101,400 ตัน ลดลงร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วยข้าวหอม 91,600 ตัน ข้าวขาวและข้าวชนิดอื่นๆ รวม 9,800 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32.2) จีน ประมาณ 20,500 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.5) ออสเตรเลีย ประมาณ 8,000 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.5) กัมพูชา ประมาณ 3,900 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.2) สหรัฐอเมริกา 900 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.3) และประเทศอื่นๆ รวม 5,500 ตัน (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.8)

ที่มา สคร. ณ เมืองฮ่องกง และ Trade and Industry Department

สหภาพยุโรป

— ข้อมูลจากสหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 ก.ย.58-31 ส.ค.59) มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-16 กุมภาพันธ์ 2559 EU นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 572,619 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 467,256 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 59,570 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับจำนวน 41,741 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 513,049 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 425,515 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ มีการนำเข้าประมาณ 127,867 ตัน ตามด้วยฝรั่งเศส จำนวน 95,218 ตัน เนเธอร์แลนด์ 64,495 ตัน โปแลนด์ 41,907 ตัน อิตาลี 40,210 ตัน เยอรมนี 60,871 ตัน และประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม 142,051 ตัน

— ในปีการผลิต 2557/58 (ก.ย.57-ส.ค.58) สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 29 ก.พ. – 6 มี.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ