ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2016 13:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส.และ ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ประกอบการส่งออกบางรายต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่สัญญา

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,756 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,694 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,782 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,742 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,550 บาท

ราคาลดลงจากตันละ 23,850 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 798 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,713 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลดลงในรูปเงินบาทตันละ 57 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,115 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,123 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,405 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,092 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,613 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,524 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 89 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7278 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไนจีเรีย

เว็บไซต์ thenationlineng.net รายงานว่า กรมศุลกากรแห่งไนจีเรีย (The Nigerian Customs Service; NCS) ได้ดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าข้าวผ่านแนวชายแดนทางบกอีกครั้ง หลังจากที่ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558

ในแถลงการณ์ของกรมศุลกากร มีข้อความระบุว่า ในระยะแรกของการอนุญาตนำเข้าข้าวนั้น เป็นไปด้วยความราบรื่น อย่างไรก็ดีรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ระบุว่า รายได้จากภาษีและค่าทำเนียมการนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดนทางบก มีจำนวนไม่ตรงกับปริมาณการนำเข้าข้าว เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าข้าวที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 17 มีนาคม 2559 การนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดนทางบกมีปริมาณ 24,992 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (408.052 ล้านบาท) แต่กรมศุลกากรมีรายได้จากการนำเข้าเพียง 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า

โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า มาตรการห้ามนำเข้าข้าวมีผลบังคับใช้ทันที (22 มีนาคม 2559) อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าที่ได้ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวไปแล้วนั้น จะได้รับการผ่อนปรนโดยให้ดำเนินการส่งมอบข้าวให้เสร็จภายในวันที่ 25 มีนาคม 2559

ที่มา oryza.com

เวียดนาม

สำนักข่าว Tuoitre News รายงานว่า คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ (Committee for Economic Affairs; CEA) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภาแห่งเวียดนาม (Vietnam National Assembly) เห็นชอบข้อเสนอของรัฐบาลในการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในประเทศ จำนวน 270,000 เฮกตาร์ หรือ 1.69 ล้านไร่ ภายในปี 2563 นอกจากนี้รัฐบาลได้เสนอให้สงวนพื้นที่ จำนวน 400,000 เฮกตาร์ หรือ 2.5 ล้านไร่ สำหรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอื่นนอกจากข้าว แต่สามารถปลูกข้าวได้หากมีความจำเป็น ประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า การผลิตข้าวในประเทศมีปริมาณมาก ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวเวียดนามที่สำคัญ ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายพึ่งพิงการผลิตข้าวภายในประเทศและลดการนำเข้าข้าว นอกจากนี้ประธานฯ ได้เพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาผลกระทบของภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย ภาวะดินเค็มและการเสื่อมโทรมของดิน ที่มีต่อปริมาณผลผลิตข้าว โดยคณะกรรมาธิการฯ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในพื้นที่ปลูกข้าวที่ยังคงรักษาไว้ โดยการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ แม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวจะลดลงก็ตาม

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1.69 ล้านไร่ ที่ถูกกำหนดให้งดการปลูกข้าวนั้น รัฐบาลได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวไปปลูกพืชอื่นทดแทน หรือพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่อยู่อาศัย

ที่มา oryza.com

มาเลเชีย

สำนักข่าว The Straits Times รายงานว่า ชาวนามาเลเชียในรัฐเกดะห์ (Kedah) และรัฐปะลิส (Perlis) เลื่อนการเพาะปลูกข้าวในปี 2559 เนื่องจากฝนแล้งและภาวะขาดแคลนน้ำ

การเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงต้นฤดูกาล ดำเนินการเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม และการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่จะเริ่มในเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน แต่ชาวนากังวลว่ารัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล จะไม่สามารถจัดหาน้ำผ่านคลองชลประทานได้ ซึ่งรัฐบาลของบางรัฐกำลังพิจารณาทำฝนเทียม (Clouding Seeding) และเลื่อนการเพาะปลูก ถ้าสภาพอากาศที่แห้งแล้งยังดำเนินต่อไป

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ รัฐปะลิส รัฐเกดะห์ รัฐปีนัง (Penang) และรัฐเประ (Perak) จะมีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเกิดจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) นอกจากนี้ยังคาดว่าอุณหภูมิในพื้นที่ดังกล่าวจะสูงขึ้น 0.5 - 2 องศาเซลเซียส จนถึงเดือนมิถุนายน 2559

ขณะที่สำนักข่าว The Star Online อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (Agriculture and Agro-based Industry) ว่ารัฐบาลอาจจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ถ้าผลผลิตภายในประเทศเสียหายเนื่องจากภัยแล้ง ทั้งนี้ ในปี 2558 มาเลเซียนำเข้าข้าวร้อยละ 30 ของปริมาณการบริโภคข้าว ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการนำเข้าข้าวมีความยืดหยุ่น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านข้าวภายในปี 2563

ทั้งนี้ มาเลเชียมีความต้องการใช้ข้าวเฉลี่ยปีละ 2.8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นผลผลิตในประเทศประมาณ 1.8 ล้านตันข้าวสาร และนำเข้าประมาณ 1 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยร้อยละ 80 – 90 ของปริมาณนำเข้าข้าว

ที่มา oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21 - 27 มี.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ