ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2017 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,297 บาท ลดลงจากตันละ 9,336 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,387 บาท ลดลงจากตันละ 7,418 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 22,150 บาท ราคาทางตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาทางตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 652 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,660 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท

ข้าวหอมไทย สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,551 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 519 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,049 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.70

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,825 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,624 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.65

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,616 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,450 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,033 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,833 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.63

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7553 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่าจะมีผลผลิต 480.134 ล้านตันข้าวสาร (715.9 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 472.044 ล้านตันข้าวสาร (703.7 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 จากปี 2558/59

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 480.134 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 1.71 การใช้ในประเทศจะมี 478.631 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.72 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.505 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.08 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 117.959 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.29

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา อียิปต์ อียู กายานา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี เฮติ อิรัก เคนย่า เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล คิวบา อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศ ที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามผลักดันผู้ประกอบการค้าข้าวโดยเฉพาะกลุ่มโรงสี ในการพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถขยายการทำกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวในช่วงที่ไม่มีข้าวเข้าโรงสี เช่น การขายข้าวเอง หรือส่งออก แต่ที่ผ่านมายังติดขัดปัญหาหลายประการ

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโรงสีไม่มีพื้นฐานความรู้ในการสร้างตราสินค้า (Branding) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการค้าข้าวผ่านระบบ Online เนื่องจากตราสินค้าที่ดีต้องบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้านั้นๆ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงสีเห็นว่า การขายข้าวด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวไปยังตลาดต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางติดต่อ และยังมีขั้นตอนการจัดทำเอกสารที่มีรายละเอียดมาก จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีหลายรายสมัครใจที่จะขายข้าวผ่านนายหน้าค้าข้าว หรือผู้ส่งออก

ในประเทศเพื่อส่งออกต่ออีกทอดหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีเสียโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลนผู้ส่งออกรายใหม่ๆ ในตลาดต่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงสีได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้ประกอบการค้าข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการค้าข้าวที่ต้องการขยายตลาดการค้าข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน จัดทำโครงการอบรมหลักสูตร “โรงสี 4.0”

มองนอกกรอบสู่การค้าข้าวยุคใหม่ขึ้น ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2560 รวม 4 รุ่น ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น), ภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก), ภาคกลาง (จังหวัดสุพรรณบุรี) และภาคใต้ (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ซึ่งเนื้อหาการอบรมจะประกอบด้วยหัวข้อที่สำคัญ อาทิ การสร้างตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ และการการค้าข้าวผ่านระบบ Online เป็นต้น

นางสาววิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า หากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถหาตลาดส่งออกได้แล้ว หลักสูตรนี้ก็จะช่วยแนะนำให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงขั้นตอนและวิธีการส่งออก เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกและนำเข้า เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนและพิธีการศุลกากรขาออก รายละเอียดเอกสารการจองเรือ และเมื่อจองเรือเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องดำเนินการอย่างไรต่อ ตลอดจนการจัดเตรียมเอกสารในการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอขึ้นเงิน กรณีที่มีการซื้อขายด้วยเงื่อนไข L/C เป็นต้น ซึ่งจะมีการอบรมทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

โดยการจัดโครงการ “โรงสี 4.0” ในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรายใหม่ที่ต้องการขยายตลาดการค้าข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงยังเป็นการสร้างแนวความคิดใหม่ที่ว่า “การค้าข้าวไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด”

“เมื่อมีผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมได้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้แล้ว ก็จะส่งผลให้ปริมาณการค้าข้าว ทั้งภายในและภายนอกประเทศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เป็นการสร้างเม็ดเงินให้กับภาคการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาของไทยในท้ายที่สุด” นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

เวียดนาม

จากการบุกรุกพื้นที่ของน้ำเค็มในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้รายได้จากการเพาะปลูกข้าวและประมงของเกษตรกรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2559 ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด ซึ่งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า พื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอาจจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลักของประเทศ ซึ่งผลผลิตที่ได้จะมีไว้เพื่อการส่งออก และการบริโภคในประเทศ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 1.546 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศ ผลิตข้าวได้มากถึง 25.2 ล้านตัน ในฤดูการผลิตปี 2558-2559 คิดเป็นร้อยละ 56 ของผลผลิตทั้งประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณข้าวส่งออก โดยจังหวัด An Giang, Kien Giang, Dong Thap และ Glang เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตข้าวได้กว่า ร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวของจังหวัดเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในเดือนมิถุนายน ปี 2556 กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (The Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก 200,000 เฮกตาร์ จากการปลูกข้าวไปเพาะปลูก ถั่วเหลืองและข้าวโพด แต่อย่างไรก็ตามมีพื้นที่เพียง 35,000 เฮกตาร์เท่านั้น ที่มีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก

ขณะที่รายได้จากการส่งออกข้าวปรับตัวลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2555 เวียดนามมีการส่งออกข้าว 7.72 ล้านตัน และปี 2556 และปี 2559 มีการส่งออก 6.61 และ 5 ล้านตัน ตามลำดับ

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจึงเริ่มมีการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการนำ แนวทางการเพาะปลูกการเกษตรแบบเข้มข้นและการเพาะปลูกพืชแซมมาใช้ รวมทั้งหันมาผลิตสินค้าเกษตรแบบใหม่ รักษาสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย เพื่อป้อนตลาดในประเทศและการส่งออก Loc Troi Group ร่วมกับจังหวัดแถบชายฝั่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกข้าวหมุนเวียนกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การทำฟาร์มกุ้งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีเมื่อมีการรุกรานจากน้ำเค็ม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า เวียดนามจะเป็นฐานการผลิตกุ้ง โดยรายงานจากทาง MARD แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกกุ้งจาก 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2550 เป็น 3.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2559

ที่มา : VietNamNet Bridge

อินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนในการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวให้มากกว่า 3,700 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม โดยใช้วิธีซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ที่ผ่านมาราคาข้าวมีการปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในการปลูกข้าวของเกษตรกร ปัจจุบันราคาข้าวอยู่ระหว่าง 3,100 - 3,500 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักสถิติกลาง (Central Statistics Agency; BPS) รายงานราคาข้าวเฉลี่ยเดือนมกราคมอยู่ที่ 5,400 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม ขณะที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตร กล่าวว่า กำลังรอดูการเปลี่ยนแปลงของราคา พร้อมทั้งจะดำเนินการเกี่ยวกับการตลาด

ปี 2559 ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 9 ล้านตัน เป็น 79.14 ล้านตัน เนื่องจากมีฤดูฝนที่ยาวนาน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้มากกว่าปกติ สำหรับปี 2560 อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะผลิตข้าวให้ได้ 75 ล้านตัน

ที่มา : The Jakarta Post

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 ก.พ. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ