ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 17, 2017 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบางพื้นที่มีฝนตกช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวมีความชื้นสูง ประกอบกับในช่วงนี้ผู้ประกอบการรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,955 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,869 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,244 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,430 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.21

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,800 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 24,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,150 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.19

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 793 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,797 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,855 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,813 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.60 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 958 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 393 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,280 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,003 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.30 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 723 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,429 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 458ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,454 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.76 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,025 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7921 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง เนื่องจากคุณภาพข้าวลดลงเพราะผลผลิตข้าวมีความชื้นสูงจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ประกอบกับเริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยราคา ข้าวขาว 5% ของเวียดนามลดลงอยู่ที่ตันละ 405-410 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 410-415 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน

เวียดนามวางแผนที่จะกระตุ้นรายได้จากการส่งออกข้าวในช่วง 10 ปีข้างหน้า ด้วยการมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์ คุณภาพสูง และจำหน่ายนอกภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น โดยเวียดนามต้องการที่จะเพิ่มการผลิตข้าวคุณภาพสูง เช่น

ข้าวขาว 5% และ 10% และลดการผลิตข้าวขาว 15% ลง โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าในช่วงระหว่างปี 2564-2573 จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกข้าวให้ได้ 2,300-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากที่คาดว่าจะมีรายได้จากการส่งออกข้าวประมาณ 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ในช่วงปี 2560-2563

ทั้งนี้ เวียดนามกำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากไทยและอินเดีย รวมทั้งภายใต้แผนระยะยาวของรัฐบาลนี้ คาดว่าจะเริ่มลดปริมาณการส่งออกข้าวลง ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จากจำนวนประมาณ 4.5-5 ล้านตันต่อปี ที่คาดว่าจะส่งออกได้ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2563 เนื่องจากมีการปรับลดสัดส่วนในการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำลง

ในปี 2573 เวียดนามตั้งเป้าว่าจะส่งออกข้าว 4 ล้านตัน เป็นการส่งออกข้าวหอม ข้าวพันธุ์ชนิดพิเศษ และ ข้าวญี่ปุ่น มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 40 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามด้วยข้าวเหนียวและข้าวขาวรวมกันร้อยละ 25 ส่วนข้าวคุณภาพสูง ข้าวมูลค่าสูง ข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีสารอาหารสูง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากข้าว มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 10 โดยวางแผนส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียให้เหลือแค่ร้อยละ 50 จากร้อยละ 60 ในปี 2563 ส่วนทวีปแอฟริกาจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกจากร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 25 อเมริกาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 และยุโรปเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 สำหรับตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียยังคงเป็นผู้ซื้อหลักในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้จะเพิ่มการส่งออกไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วย

เมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวลดลงเหลือเพียง 4.8 ล้านตัน เนื่องจากเผชิญต่อการแข่งขันรุนแรงจากคู่แข่งในเอเชีย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีน ผลผลิตภายในประเทศที่ลดลงจากภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่นาข้าว

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-spring crop) ในปีนี้ มีประมาณ 19.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตข้าวทางภาคเหนือมีประมาณ 7.11 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาโรคและแมลงระบาด ส่วนทางภาคใต้มีผลผลิตประมาณ 12 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาการระบาดของโรคและแมลง รวมทั้งปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ทำการเกษตร

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

สำนักข่าว Reuters รายงานความคืบหน้าการประมูลซื้อข้าวของหน่วยงานด้านอาหารของรัฐบาล (Directorate General of Food, Ministry of Food) ซึ่งได้เปิดประมูลครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม โดยจะซื้อข้าวนึ่ง (ครั้งที่ 3) จากทุกประเทศจำนวน 50,000 ตัน (50,000 MT (+5%) Non-Basmati Parboiled rice on CIF Liner out term) กำหนดส่งมอบภายใน 40 วันหลังจากทำสัญญาแล้ว และให้ส่งมอบที่ท่าเรือ Chittagong ในสัดส่วนร้อยละ 60 และที่ท่าเรือ Mongla อีกร้อยละ 40 ของปริมาณที่ชนะการประมูล โดยการประมูลครั้งนี้ บริษัท Phoenix ซึ่งตั้งอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เสนอราคาต่ำสุดที่ 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) ซึ่งการประมูลครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมยื่นเสนอราคาจำนวน 6 ราย นอกจากนี้รัฐบาลกำลังพยายามที่จะซื้อข้าวทั้งจากประเทศอินเดีย ไทย และจากบริษัทเอกชนอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ การประมูลใน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ บังคลาเทศได้ตกลงซื้อข้าวขาวจำนวน 50,000 ตัน ราคา 406.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) และซื้อข้าวนึ่ง 2 ครั้งรวม 100,000 ตัน ในราคา 427.85 และ 445.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF liner out) ตามลำดับ

โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติแผนการนำเข้าข้าวจากเวียดนามตามที่กระทรวงการอาหาร (the food ministry) ของบังคลาเทศเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะซื้อข้าวจากเวียดนาม 250,000 ตัน โดยจะซื้อข้าวจากบริษัท Vinafoods 2 แบ่งเป็น ข้าวขาวจำนวน 200,000 ตัน ในราคา 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF) และข้าวนึ่ง 50,000 ตัน ในราคา 470 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF) กำหนดส่งมอบภายใน 60 วัน โดยล็อตแรกคาดว่าจะส่งมาถึงภายใน 15 วันหลังจากการทำสัญญาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลบังคลาเทศกำลังพยายามเจรจาที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทย อินเดีย และเมียนมาร์ ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการส่งทีมเจรจาไปยังทั้งสองประเทศเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวแล้ว

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทย เปิดเผยถึงการเดินทางเยือนบังคลาเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังคลาเทศ ครั้งที่ 7 ว่า บังคลาเทศย้ำถึงความจำเป็นในการซื้อข้าวนึ่งและข้าวขาวอย่างเร่งด่วนจากไทย จำนวน 2 แสนตัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลจากภาวะอุทกภัย โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า ยินดีสนับสนุนข้าวให้บังคลาเทศเพื่อประโยชน์ในการสำรองข้าวและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารให้กับบังคลาเทศ

ที่มา : Oryza.com, Riceonline.com, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

นาย Ernesto M. Pernia เลขาธิการด้านการวางแผนเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Planning Secretary) และผู้บริหารองค์การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic and Development Authority, Neda) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้า (Quantitative Restriction, QR) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามเงื่อนไขที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO)

นาย Ernesto M. Pernia กล่าวต่ออีกว่า สมาชิกวุฒิสภา Ralph Recto ได้เสนอการยกเลิกมาตรการ QR ต่อสภานิติบัญญัติแล้ว อย่างไรก็ดีกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัตินั้นใช้เวลานาน ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้

หลังเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการ QR ที่ฟิลิปปินส์ได้ขอไว้ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์วางแผนว่าจะขอขยายระยะเวลามาตรการ QR ออกไปอีกประมาณ 3 ปี เพื่อปรับตัวก่อนจะปรับเป็นมาตรการทางภาษี (tariffication) โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอชดเชยให้กับประเทศสมาชิก WTO ซึ่งอาจจะเป็นการลดอัตราภาษีในสินค้าอื่น หรือเพิ่มปริมาณนำเข้าขั้นต่ำ (Minimum Access Volume, MAV) ของสินค้าข้าว ปริมาณ 5,200 ตัน ให้กับประเทศสมาชิก WTO ที่สนใจ จนถึงเดือนมิถุนายน 2563

ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีมาตรการ QR โดยมีการกำหนด MAV อยู่ที่ 805,200 ตัน ซึ่งจะคิดอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 35 การนำเข้าที่นอกเหนือ MAV จะต้องเสียภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 50 แต่สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนจะเสียภาษีนำเข้าน้อยกว่าที่ร้อยละ 40 อนึ่งในปี 2538 ฟิลิปปินส์ ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้มาตรการ QR ได้เป็นระยะเวลา 10 ปี ต่อมาในปี 2547 ฟิลิปปินส์ได้ขอขยายระยะเวลามาตรการ QR ซึ่งมีครบกำหนดในปี 2555 และได้ขอขยายระยะเวลาอีกครั้ง ในปี 2557 ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2560

ที่มา : inquirer.net

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 - 16 ก.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ