สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2018 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 1 - 7 มิ.ย. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
  • โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
  • โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี
  • โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,736 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,661 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,176 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,138 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,810 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 36,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.83

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,830 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.93

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,263 ดอลลาร์สหรัฐฯ (40,063 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,270 ดอลลาร์สหรัฐฯ (40,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 275 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,147 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 449 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,261 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 114 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,671 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,817 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 146 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,830 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,753 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 77 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.7204

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 460-465 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557) ลงมาอยู่ที่ 455-460 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประทศ เช่น ฟิลิปปินส์ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลวางแผนที่จะลดการเพาะปลูกข้าวขาวลงและให้เกษตรกรเปลี่ยนไปเพาะปลูกข้าวหอม และข้าวเหนียวซึ่งมีคุณภาพสูงกว่า และสามารถขายได้ราคาดีกว่าข้าวขาว ทั้งนี้ คาดว่าราคาข้าวจะกลับมาอยู่ในภาวะอ่อนตัวลงอีกครั้งในช่วงของฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงกลางเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี การส่งออกข้าวไปยังตลาดจีนมีปริมาณลดลงเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ 33.5 ของการส่งออกทั้งหมด จากร้อยละ 47.5 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดสำคัญอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียกลับมีการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 333 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกไปอิรักเพิ่มขึ้น 16 เท่า มาเลเซียเพิ่มขึ้น 3 เท่า ฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 และส่งออกไปสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

รัฐบาลบังคลาเทศได้พิจารณาปรับภาษีนำเข้าข้าวขึ้นเป็นร้อยละ 28 ในปีงบประมาณ 2561/62 เพื่อเป็นการ ปกป้องเกษตรกรในประเทศ หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต Aman และ Boro จะได้ผลดี

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละ 2 จากระดับร้อยละ 28 เพื่อกระตุ้นให้มีการนำเข้าข้าวมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตข้าวในประเทศที่เสียหายจากภาวะอุทกภัย แต่ในปีนี้ภาวะการผลิตข้าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงทำให้ความจำเป็นในการนำเข้าข้าวลดลง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างรายได้มหาศาลแก่หลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากประชากรโลกหลายพื้นที่ยังรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก เริ่มจากจีนที่มีอัตราการบริโภคข้าวช่วง ปี 2560-2561 ปริมาณ 142.7 ล้านตัน อินเดีย 97.35 ล้านตัน อินโดนีเซีย 37.4 ล้านตัน บังกลาเทศ 35.2 ล้านตัน เวียดนาม 22.1 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 13 ล้านตัน เมียนมาร์ 9.9 ล้านตัน ไทย 11.17 ล้านตัน ญี่ปุ่น 8.45 ล้านตัน และบราซิล 8.1 ล้านตัน

ส่วนประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ปี 2560-2561 อินเดียส่งออก 12.5 ล้านตัน ไทย 10.2 ล้านตัน เวียดนาม 6.7 ล้านตัน ปากีสถาน 3.8 ล้านตัน เมียนมาร์ 3.3 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 3.3 ล้านตัน จีน 1.6 ล้านตัน กัมพูชา 1.25 ล้านตัน อุรุกวัย 8.1 แสนตัน และบราซิล 6.5 แสนตัน

ขณะที่เมื่อปี 2560 ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 11.25 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.77 ถือเป็นปริมาณสูงสุดในประวัติศาสตร์การส่งออกข้าวไทยมีมูลค่า 1.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83

จากตัวเลขทั้งหมด ปีนี้ไทยน่าจะยังมีโอกาสส่งออกข้าวไปขายในตลาดต่างประเทศได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 10 ล้านตัน แม้โอกาสที่ว่าอาจจะทำให้ไทยเหนื่อยมากหน่อยก็ตาม

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2561 University of Arkansas (UAR) และ Louisiana State University (LSU) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของสหรัฐ และ California Cooperative Rice Research Foundation (CCRF) ได้เปิดเผยผลสำเร็จของการคิดค้นและนำเสนอข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวจัสมิน Aroma 17 ข้าวจัสมิน CLj 01 และข้าวจัสมิน Calaroma-201

ทั้งนี้ การพัฒนาข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์ เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติความหอม ทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย แต่มีราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามและส่งผลกระทบต่อการขยาย ตลาดข้าวหอมมะลิไทยในอนาคต การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจัสมินของสหรัฐครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 จากที่สหรัฐเคยพยายาม พัฒนาข้าวสายพันธุ์ JAZZMAN ขึ้นมาสำเร็จเมื่อปี 2549 และข้าว JES ในปี 2552 โดยข้าว JAZZMAN ประสบความสำเร็จสามารถวางขาย 48 มลรัฐ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ส่วนข้าว JES ซึ่งถูกนำมาวางจำหน่ายในแบรนด์ American Jazmine ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ให้ความเห็นว่า ไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยวางตำแหน่งข้าวไทยเป็นนิชมาร์เก็ต (Niche Market) ให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง สร้างความรับรู้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงความแตกต่าง เน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงขยายตลาดสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในสหรัฐ เช่น กลุ่มฮิสแปนิก กลุ่มชาวอเมริกัน เจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการทำแผนการจัดกิจกรรมทางการตลาดข้าวครบวงจร เน้นสร้างส่งเสริมกิจกรรมการปรุงอาหารทางทีวี เพื่อสร้างการรับรู้ตรา Thai Hom Mali การเข้าร่วมงานเทศกาลอาหารท้องถิ่น และงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคุณลักษณะของ ข้าวจัสมิน 3 สายพันธุ์ ที่สหรัฐพัฒนาออกมาจะมีรสชาติ กลิ่นหอม และความนุ่มเหมือนกับข้าวหอมมะลิของไทยหรือไม่ หากคุณลักษณะด้อยกว่าก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่หากสามารถผลิตออกมาได้ใกล้เคียง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยมีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิเพื่อรักษาคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของกลิ่นหอม เพราะปัจจุบันกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทยลดน้อยลงจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีเพาะปลูกมากเกินไป และการเร่งเก็บเกี่ยว ทำให้กลิ่นหอมลดน้อยลง หรือกลิ่นหอมอยู่คงทนไม่นาน เช่น การเก็บเกี่ยวข้าวสด แล้วนำมาอบ 3 รอบ เพื่อให้ความชื้นของข้าวลดลงเหลือ 15-16% ทำให้เอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของกลิ่นลดน้อยลง หรือกลิ่นจางหายไปเร็วขึ้น

"ข้าวหอมมะลิของไทยหยุดการพัฒนาไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเข้ามาส่งเสริมเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ ควบคุมการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพ เพื่อให้ข้าวหอมมะลิไทยยังคงรักษาคุณภาพข้าวเกรดพรีเมียม เพราะไม่เช่นนั้น ลูกค้าอาจหันไปสั่งซื้อข้าวหอมทั่วไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีราคาถูก เช่น ข้าวหอมของกัมพูชา ข้าวหอมของเวียดนาม เป็นต้น" นาย ชูเกียรติ กล่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ