สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2019 11:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 พฤษภาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,688 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,695 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.04

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,892 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,804 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,148 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,316 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,137 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,968 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 348 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,065 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,938 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 127 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,812 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,685 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 127 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,160 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,033 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 127 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.3353

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอของไทย 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ที่จะมีผลใช้บังคับในเดือนมิถุนายน 2562 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยจะเดินหน้าเจรจาผลักดันเปิดตลาดสินค้าข้าวไทยเพิ่มเติมเพื่อสร้างแต้มต่อข้าวไทยในตลาดโลก โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 144 ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 155 นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 เปรูเพิ่มขึ้นร้อยละ 464 และชิลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 200 เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยกเลิกและทยอยลดการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนที่เพิ่งเริ่มลดภาษีสินค้าข้าวบางรายการให้ไทยเมื่อปี 2561 และในรายการสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสี รวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งจีนยังคงอัตราภาษีที่ร้อยละ 50 ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย จัดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวและยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราที่สูง โดยเกาหลีใต้ยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ร้อยละ 513 อินเดียเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ร้อยละ 70-80 และญี่ปุ่นยังใช้ระบบโควตาภาษี โดยการนำเข้าข้าวภายใต้โควตา 682,000 ตันต่อปี จะไม่เสียภาษี

แต่การนำเข้าข้าวนอกโควตา ต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สถิติในปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกในปริมาณกว่า 11,089 ล้านตัน เป็นมูลค่า 5,619.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.34 เมื่อเทียบกับปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.02 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน สัดส่วนร้อยละ 20.12 เบนิน สัดส่วนร้อยละ 11.19 และจีน สัดส่วนร้อยละ 9.81 เป็นต้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 1,870.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.29 ของการส่งออกสินค้าข้าวของไทย

"เอฟทีเอ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่ง กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้ว

ในปัจจุบัน เช่น เอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น"

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนกับความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกข้าวไทย 4 ประเภท ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวสาร และปลายข้าว ระหว่างปี 2552 - 2561 ไปตลาดสำคัญเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งแต่ละตลาด โดยพบว่าการส่งออกข้าวแต่ละชนิดแต่ละตลาดได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่างกัน และยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างราคาของคู่แข่งและประเภทของข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แนะนำผู้ส่งออกข้าวใช้เงินสกุลท้องถิ่นทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการขายข้าวตลาดจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้เงินหยวนมีบทบาทระดับนานาชาติมากขึ้น "ตลาดที่ค่าเงินมีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว เป็นตลาดที่แข่งขันด้วยราคา ประกอบกับราคาข้าวไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เมื่อค่าเงินสูงขึ้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน เช่น ตลาดข้าวสารในจีน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 267.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนร้อยละ 30 รองจากเวียดนาม ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 52.6 ราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนาม 1.6 เท่า ทำให้เวียดนามมีความสามารถทางการแข่งขันที่สูงกว่า" นางสาว พิมพ์ชนก กล่าว

นอกจากนี้ ตลาดจีนยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาที่สูงขึ้นคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่นเดียวกับตลาดข้าวสารในสาธารณรัฐเบนิน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 75.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 41.4 รองลงมาเป็นอินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 21.5 และ 13.3 ตามลำดับ โดยความต้องการนำเข้าข้าวของเบนินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 7.4 สวนทางกลับราคานำเข้าข้าวเพิ่มถึงร้อยละ 23.9 โดยภาพรวมราคาข้าวแต่ละประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกัน การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในอนาคต คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันได้ และในส่วนของตลาดปลายข้าว ทั้ง 4 ตลาด คือ เซเนกัล โกตดิวัวร์ จีน และอินโดนีเซีย ไทยเป็นผู้นำตลาด แต่ราคาขายข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก ทำให้การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกและส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน

ที่มา : www.ryt9.com

เวียดนาม

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (the Ministry of Industry and Trade; MoIT) ได้กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการมองหาตลาดส่งออก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า หาแนวทางในการพัฒนาตลาดส่งออกสำหรับข้าวเวียดนาม โดยมีเป้าหมายรักษาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดดั้งเดิม รวมถึงการขยายตลาดใหม่

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ประสานงานกับกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมอาหารเวียดนาม และผู้ส่งออกข้าวเพื่อดำเนินการมาตรการต่าง เช่น พิจารณาอุปสงค์และนโยบายการนำเข้าของตลาดต่างประเทศ จากนั้นกระทรวงฯ ได้เสนอข้อตกลงกับประเทศคู่ค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าวของเวียดนาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ายังได้วางแผนที่จะร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการประชุมข้าวนานาชาติเวียดนามทุกสองปี โดยงานนี้คาดว่าจะแนะนำผลิตภัณฑ์ข้าวเวียดนามออกสู่ตลาดโลก

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะการค้าที่ค่อนข้างซบเซา เนื่องจากราคาข้าวเวียดนามยังคงค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้ค้าข้าวต่างคาดหวังว่าผู้ซื้อจากจีนจะมีคำสั่งซื้อข้าวจากเวียดนามมากขึ้น

วงการค้าคาดว่า อุปทานข้าวของเวียดนามจะเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนนี้ซึ่งจะเริ่มมีการเก็บเกี่ยว ผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn crop) ทั้งนี้ มีรายงานว่า เวียดนามกำลังหามาตรการในการขยายการส่งออกข้าวไปยังจีนให้มากขึ้น หลังจากที่ปริมาณส่งออกไปยังตลาดจีนลดลงตั้งแต่ ปี 2561 โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา นาย Do Ha Nam รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (Deputy Chairman of the Vietnam Food Association) ได้กล่าวในการประชุมเกี่ยวกับการค้าข้าวระหว่างเวียดนามและจีน ณ นครโฮจิมินห์ว่า แม้ประเทศจีนจะมีความต้องการข้าวเป็นจำนวนมากแต่ผู้ส่งออกเวียดนามยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อที่จะเข้าถึงตลาดจีน นับตั้งแต่ปี 2561 การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังจีนลดลง 1.3 ล้านตัน จากระดับที่เคยสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 3 ล้านตัน โดยนาย Do Ha Nam ชี้ว่า การส่งออกข้าวไปยังจีนที่ลดลงเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าข้าวของจีน ซึ่งกำหนดให้บริษัทผู้ส่งออกจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อน ทั้งนี้ เวียดนามจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างมาตรการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังจีน

นอกจากนี้ เขายังคาดหวังว่า จะมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ได้รับใบอนุญาตส่งข้าวไปยังจีนในอนาคตอันใกล้นี้ โดยหลายบริษัทสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของจีนได้แล้ว โดยในปัจจุบันเวียดนามมีบริษัทเพียง 22 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตส่งออกข้าวไปยังจีน

นาย Pham Thai Binh ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท Trung An Hi-tech Agriculture Stock (General Director of Trung An Hi-tech Agriculture Joint Stock Company) กล่าวว่า บริษัทฯ ส่งออกของเวียดนามจำเป็นต้องศึกษาความต้องการนำเข้าข้าวของจีนให้มากขึ้น รวมถึงปริมาณการบริโภคและประเภทข้าวที่ต้องการนำเข้าของจีนด้วย

การประชุมจัดขึ้นภายใต้กรอบของโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเวียดนามและจีนในระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญในประเด็นการค้าข้าวที่จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (the Ministry of Industry and Trade) ของเวียดนามและสมาคมอาหารของจีน รวมถึงบริษัทผู้นำเข้าข้าวจากจีนมากกว่า 12 ราย นาย Tran Quoc Toan รองอธิบดีกรมการนำเข้า-ส่งออก (Deputy Director of the Import-Export Department) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับบรรดาบริษัทของเวียดนามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับอุปสงค์ข้าวในตลาดจีน เครือข่ายกับผู้นำเข้าจีน และลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในกระบวนการส่งออก ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ประมาณ 2.03 ล้านตันมูลค่า 866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 7.9 และร้อยละ 21.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมา ขณะที่ราคาส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยลดลง 72.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ประมาณ 430.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยในช่วงเดียวกัน เวียดนามส่งออกข้าวไปยังจีนเพียง 43,300 ตัน มูลค่ารวม 20.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 89.5 และร้อยละ 90.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ