สศก. คาดปีหน้า ผลผลิตมันฝรั่ง กว่า 1.38 แสนตัน แจงโควตานำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปี 63 พร้อมกำหนดเกณฑ์ราคารับซื้อ มั่นใจ ไม่กระทบราคาขายเกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2019 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. คาดปีหน้า ผลผลิตมันฝรั่ง กว่า 1.38 แสนตัน แจงโควตานำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปี 63 พร้อมกำหนดเกณฑ์ราคารับซื้อ มั่นใจ ไม่กระทบราคาขายเกษตรกร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการบริหารการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2563 ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ได้เห็นชอบการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ปี 2563 ครั้งที่ 1 ปริมาณรวม 5,208.75 ตันอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 (อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125) โดยกำหนดให้การนำเข้ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 และจัดสรรให้บริษัททั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 4,347 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด จำนวน 850 ตัน และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด จำนวน 11.75 ตัน

การนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง กำหนดปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรปลูก คือ 1) ช่วงเม.ย. – ก.ค. 2) ช่วง ส.ค. – ต.ค. และ3) ช่วงพ.ย. – ม.ค. (ปีถัดไป) โดยผู้ที่มีความประสงค์ขอนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องเป็นนิติบุคคล และต้องจัดทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอนำเข้ามายัง สศก. ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเอกสารการนำเข้าประกอบด้วย 1) หนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูก 2) ทะเบียนเกษตรกร 3) ข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์ที่สอดคล้องกัน โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง ส่วนในกรณีที่บริษัทนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง เพื่อมาเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ให้บริษัททำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูกและข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์ที่สอดคล้องกัน โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรองด้วย ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งโรงงานให้แก่เกษตรกร ในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 35.00 บาท

สำหรับการบริหารการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ปี 2563กำหนดอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 (อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125) ปริมาณรวม 52,000 ตันกำหนดการนำเข้าในช่วงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยจัดสรรให้ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 44,750 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ปริมาณ 6,750 ตัน และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด ปริมาณ 500 ตัน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้าจะต้องมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปริมาณในโควตาที่ขอขยายเพิ่มเติม อีกปริมาณ 6,400 ตัน โดยจัดสรรให้บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 5,400 ตันบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัดปริมาณ 1,000 ตัน ซึ่งสศก. จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ด้านราคารับซื้อ ผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้าจะต้องรับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท ในช่วงฤดูฝน (ก.ค.-ธ.ค.) และในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.60 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.)

สำหรับแนวทางการจัดการสินค้ามันฝรั่ง ในปี 2563 เน้นมาตรการกระจายผลผลิต ในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด พร้อมตรวจสอบสต็อกของผู้ประกอบการเพื่อป้องกันการกักตุนและเก็งกำไร ขณะที่กรมศุลกากร จะดำเนินมาตรการในการปราบปรามการลักลอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ สศก. คาดว่า ปี 2563 (ปีเพาะปลูก 2562/63) มันฝรั่งมีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 47,297 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 ผลผลิตรวม 138,782 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว เฉลี่ย2,943 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 92 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 3 โดยเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้รับซื้อมันฝรั่งมีแผนความต้องการและส่งเสริมให้ขยายการผลิตในปี 61-63 ซึ่งขอเพิ่มโควตานำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ของมันฝรั่ง และบริษัทผู้รับซื้อมันฝรั่ง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หัวพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ผลผลิตได้ขนาดตามความต้องการ ภาพรวมผลผลิต รวมทั้งประเทศจึงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ถึงแม้จะมีการขยายการผลิตและการนำเข้าเพิ่มขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับเนื่องจากมีการรับซื้อตามราคาขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดอยู่แล้ว

*******************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ